ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การติดตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ ณ จังหวัดพะเยาและเชียงราย
วันที่ 26 มิ.ย. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม 1318)
|
เมื่อวันที่ 22 - 23 มิถุนายน 2566 ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และอนุกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายสมสุข ศรีสถิตย์วัฒนา นางวัชรี สงวนศักดิ์โยธิน และนายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน นางวีนัส นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ นางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง นางอัญชลี จรัสสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ นางสาวจันทวรรณ วรรธนะพงษ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาภาค นางสาวสุภาวดี สิงห์รุ่งสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงราย เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญระดับจังหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างอาคารเรียนรู้และอนุรักษ์นกยูงไทย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์รวมข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ "นกยูง” และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชนในการอนุรักษ์นกยูงไทยเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์นกยูงไทย ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยพะเยา
2. โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด การบริโภคสินค้าเกษตรคุณภาพ อาหารปลอดภัย จังหวัดเชียงรายแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาการผลิตกาแฟอาราบิกาบนพื้นที่สูงภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น
คณะอนุกรรมการฯ และคณะผู้ติดตามได้รับทราบผลการดำเนินงานโครงการฯ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตลอดจนมีการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นร่วมกัน โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า เพื่อให้การอนุรักษ์นกยูงไทยประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืน ควรมีการจัดเก็บข้อมูลประชากรนกยูง โดยบันทึกจุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของนกยูงทุกตัวในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำและทราบถึงจำนวนประชากรนกยูงที่แท้จริง รวมถึงการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์นกยูงไทยร่วมกับจังหวัดอื่น ๆ เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและชดเชยรายได้จากการที่นกยูงมากินพืชผลของเกษตรกร และการพัฒนาการผลิตภัณฑ์กาแฟอาราบิกา ควรให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่กระบวนการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพ จนถึงการตลาดที่เชื่อมโยงกับวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยให้ผู้มีประสบการณ์มาช่วยในการถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์กาแฟและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของชุมชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ช่วยส่งเสริมรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกรและประชาชนบนพื้นที่สูง รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน |