ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการ สศช. ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "Thailand: Take Off"
วันที่ 21 มิ.ย. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  78)
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา "Thailand: Take off” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ เพื่อสะท้อนมุมมองภาพปัญหาและทางออกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในการร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้รอบด้านครบถ้วน และเพื่อให้รัฐบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมองเห็นเป้าหมาย วิธีการ และโอกาสในการร่วมมือกันผลักดันเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตยิ่งขึ้น

เลขาธิการ สศช. กล่าวปาฐกถา สรุปใจความได้ว่า ก่อนที่จะ Take Off ต้องพิจารณาว่าปัญหาของเราอยู่ที่ไหน ปัญหาของเราจริงๆ อยู่ที่ภาคการส่งออก ซึ่งจะส่งผลมาที่ภาคการผลิตของฝั่งอุตสาหกรรมด้วย จริงๆ แล้วการส่งออกที่ลดลงไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านเราในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม หรืออินโดนีเซียต่างติดลบกันทุกประเทศ เช่น อินโดนีเซียติดลบ 5.1% ในช่วง 4 เดือนแรก มาเลเซียเองติดลบไป 6% เวียดนามติดลบ 11.3% ของไทยเอง 4 เดือนแรกติดลบอยู่ประมาณ 4.6% ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น จึงเป็นตัวเร่งหนึ่งที่เราพยายามหาหนทางที่จะเดินหน้าในการแก้ปัญหาในภาคการส่งออก โดยเราต้องมีการปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม สินค้าที่เราเคยผลิตและส่งออกได้ อย่างเช่นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของเรา ณ วันนี้ การผลิตลดลงเนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยน เดิมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ถูกใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ขณะนี้จะใช้เป็นโซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) ซึ่งหากจะทำอุปกรณ์นี้เราต้องมีโรงงานผลิตชิปด้วย ซึ่งตรงนี้เราต้องดึงให้เข้ามาลงทุนในประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะส่งออกไม่ได้ ยังไปได้อยู่ เพียงแต่ว่าไปในลักษณะที่ไปใช้กับดาต้าเซ็นเตอร์ และเรื่องยานยนต์และอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ ก็ยังไปได้ดีอยู่ แต่ที่สำคัญคือต้องเร่งขยายตลาดในการส่งออกให้มากขึ้น กรอบความร่วมมือต่างๆ ต้องมีการเร่งเจรจาเพื่อที่จะขยายตลาดของเรา ถ้าเราไปดูตัวเลขที่มอนิเตอร์อยู่ทุกเดือนจะเห็นว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในปีนี้การบริโภคภายในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงปีนี้

สำหรับภาคการท่องเที่ยว สิ้นเดือนมิถุนายนนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณกว่า 10 ล้านคน กล่าวคือ ประมาณเดือนละ 2 ล้านคน เพียงแต่นักท่องเที่ยวจีนอาจจะยังเข้ามาไม่มากอย่างที่คาดหวังไว้ เพราะว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องของวีซ่า ซึ่งเรื่องพวกนี้ได้แก้ไขแล้ว และทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เร่งทำตลาดเพิ่มเติมในประเทศจีนด้วย โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีคงจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจากทางฝั่งยุโรป แต่ต้องคอยติดตามสถานการณ์เช่นกัน เพราะทางฝั่งยุโรปเองก็มีปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามารวมประมาณ 28 ล้านคนอย่างที่คาดการณ์ไว้ หรืออาจจะมากกว่านี้นิดหน่อย

สำหรับประเด็นเรื่องงบประมาณ ในปีนี้เองต้องเรียนว่าในช่วงไตรมาส 4/2566 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปี 2567 อย่างที่เราทราบกันว่าขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพราะฉะนั้นตัวงบประมาณแผ่นดินปี 2567 คงจะออกได้เร็วที่สุดที่คาดการณ์ไว้คือในไตรมาสที่หนึ่งในปี 2567 ซึ่งหลายคนมีความเป็นห่วงว่าเงินลงทุนภาครัฐจะเป็นอย่างไร ผมเองได้คุยกับสำนักงบประมาณแล้ว และดูในส่วนที่ผมรับผิดชอบคือ เรื่องของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ต้องเรียนว่าในฝั่งของรัฐวิสาหกิจจะมี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือประเภทที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นการใช้เงินตามปีงบประมาณแผ่นดิน เงินรายได้ เงินกู้ และอีกประเภทหนึ่งคือพวกที่ใช้ปีปฏิทิน และใช้เงินรายได้ของตัวเอง และเงินกู้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ อย่างเช่นการไฟฟ้าฯ หรือบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าในฝั่งรัฐวิสาหกิจเองในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หรือไตรมาส 4 จะมีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจที่เป็นการเบิกจ่ายเงินลงทุนเข้ามาได้ประมาณ 150,000 กว่าล้านบาท ในฝั่งของรัฐวิสาหกิจ และในฝั่งของงบประมาณแผ่นดินเองจะมีโครงการที่เป็นโครงการต่อเนื่อง และเป็นงบประจำ ที่เป็นเรื่องของการ ใช้จ่ายเงินเดือนค่าจ้าง การใช้จ่ายซื้อของ หรือเรื่องที่เป็นงบการดำเนินงานปกติประมาณเกือบๆ 9 แสนล้านบาท ในไตรมาส 4 รวมกันจะอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาทที่จะออกได้ในไตรมาส 4 พอข้ามไปในไตรมาสที่ 1 ในปีหน้า ในฝั่งของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เขาสามารถดำเนินการ ก็จะมีเงินลงทุนออกมาได้อีกสักประมาณ 5 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะเดียวกันฝั่งของที่เป็นงบประมาณที่เป็นงบต่อเนื่องผูกพันต่างๆ ก็จะออกมาได้อีกประมาณสัก 7 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จรวมๆ กัน 2 ไตรมาสนี้คาดว่าจะมีเงินจากฝั่งรัฐที่เข้าไปในระบบประมาณ 1.8-1.9 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอในการพยุงเศรษฐกิจได้

โดยสรุปคือ สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยปีนี้ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร ภายในยังดีอยู่มากโดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวและการบริโภค อาจจะมีหนี้ครัวเรือนที่เป็นความเสี่ยง และปัจจัยภายนอกประเทศเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความขัดแย้งต่างๆ ยังคงมีอยู่ เราต้องใช้ความขัดแย้งตรงนั้นเป็นโอกาสในการที่จะดึงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตของเรา แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ในช่วงถัดไปประเทศไทยจะเดินหน้าได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน การจะ Take Off ประเทศไทย ทุกคนต้องช่วยกัน ประเทศไทยจะขยับตัวได้มากขึ้น เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่านี้ และพวกเราทุกคนจะมีความสุขมีรายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภายหลังจบปาฐกถาจาก เลขาธิการ สศช. ได้มีการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ประกอบด้วย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล บรรยายพิเศษเรื่อง "อุตสาหกรรมไทย ติดปีก โกอินเตอร์” ตามด้วย นายพีระพงศ์ จรูญเอก กล่าวถึงอสังหาริมทรัพย์ ในหัวข้อ "อสังหาริมทรัพย์ สู่ยุค wired score” จากนั้น นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ขึ้นเวทีบรรยายในหัวข้อ "ตลาดทุนไทย ปรับโหมด หุ้นกระทิง” และปิดท้ายด้วย นายสันติธาร เสถียรไทย ที่พูดถึงธุรกิจไทยกับโลกในหัวข้อ "Turn around เศรษฐกิจไทย” โดยผู้สนใจสามารถรับชมการสัมมนาฉบับเต็มได้ทาง YouTube ข้างท้ายนี้



ข่าว : คมสัน วรวิวัฒน์
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์