ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สภาพัฒน์ เปิดเวที “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทางการพัฒนาของแผนฯ 13” ณ จังหวัดเพชรบุรี
วันที่ 28 เม.ย. 2566
|
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวที "ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทางการพัฒนาของแผนฯ 13” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว และแผนพัฒนาภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ และเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายในการประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา วุฒิอาสาธนาคารสมอง และชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นการแปลงแผนการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 สศช. ได้เปิดเวทีนำเสนอและระดมความคิดเห็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แผนพัฒนาประชากรฯ และแผนพัฒนาแผนพัฒนาภาคกลางและภาคตะวันออก ไปสู่การสร้างเสริมความเข้มแข็งของประชากรในภาคกลางและภาคตะวันออก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของภาคกลางและภาคตะวันออก ณ โรงแรมไมด้า เดอ ซี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวต้อนรับ และมีการนำเสนอวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำซัดชาตรี โดยนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
จากนั้นนางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) แผนพัฒนาประชากรฯ (พ.ศ. 2565–2580) และประเด็นการขับเคลื่อนด้านประชากรที่สำคัญในภาคกลางและภาคตะวันออก” และ นางสาวจิตรลดา พิศาลสุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอ "เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคกลางและภาคตะวันออก” โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคมและชุมชนประมาณ 150 คน
โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีมิติการพัฒนา 4 มิติ ประกอบด้วย (1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน (2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม (3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
สำหรับแผนพัฒนาประชากรฯ เป็นแผนระดับ 3 ที่ถ่ายระดับจากแผนฯ 13 มีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากรที่ให้ความสำคัญกับ "การเกิดดี อยู่ดี และแก่ดี” ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนา 6 ด้าน คือ (1) การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงบุตร (2) การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร (3) การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน (4) การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายชีวิต (5) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต อย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย และ (6) การบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น
ขณะที่แผนพัฒนาภาคกลาง พ.ศ. 2566 – 2570 ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาของภาคกลาง สู่การเป็น "ฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง” โดยให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนา ได้แก่ (1) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้มาตรฐานระดับสากล (2) ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นจุดหมายของ การท่องเที่ยวคุณภาพ (3) พัฒนาระบบบริการส่งเสริมสุขภาพและการให้บริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้มาตรฐานในระดับสากล (4) พัฒนาเมือง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเมืองชายแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง (5) พัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของภาคกลาง (6) ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาของภาคตะวันออกสู่การเป็น "ฐานเศรษฐกิจสีเขียวชั้นนำของอาเซียน ควบคู่กับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดี” โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออก (Eastern Direction) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน 6 แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ภาคตะวันออก (2) การพัฒนาพื้นที่ให้มีความทันสมัย น่าอยู่ สอดรับกับความต้องการของคนทุกกลุ่ม (3) การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและชุมชน (4) การฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน และเตรียมความพร้อม รับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (5) การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเมืองชายแดน เชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศในอาเซียน และ (6) การผลิตผลไม้คุณภาพสูงมุ่งสู่การเป็น "มหานครผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย” และการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอดภัยที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
นอกจากนี้ ยังนำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ สู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ของผู้แทนภาคีเครือข่ายที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ (1) "ลิ้นจี่โมเดล: การจัดการคุณภาพชีวิตด้วยพลัง บวร” โดยนายนิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านคลองเหมืองใหม่ จังหวัดสมุทรสงคราม (2) "กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน” โดยนางปนิดา มูลนานัด ประธานวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน จังหวัดเพชรบุรี และ (3) "PATTAYA MODEL: การจัดการพื้นที่อย่างสร้างสรรค์” โดยนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคกลางและตะวันตก เป็นผู้ดำเนินรายการ
หลังจากนั้น เป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญในภาคกลางและภาคตะวันออกใน 4 ประเด็นหลัก คือ (1) การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ (2) การส่งเสริมการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว (3) การเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตร และ (4) การส่งเสริมและดึงดูดแรงงานทักษะสูง
โดยใช้กระบวนการ อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ (สถานการณ์/ปัญหา) สมุทัย (สาเหตุของปัญหา) นิโรธ(แนวทาง) และมรรค (วิธีการแก้ปัญหา) และการนำเสนอวีธีการดำเนินการผ่านเครื่องมือ 5W1H คือ What? Who? Where? When? Why? How? ซึ่งมีผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นวิทยากรกระบวนการ และเป็นทีมสรุปประเด็นร่วมกับทีมของ สศช.
สำหรับผลการระดมความเห็นในแต่ละประเด็น สามารถกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญในระยะต่อไป ประกอบด้วย การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ โดยเน้นการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้กับประชาชนในพื้นที่ การเพิ่มปัจจัยดึงดูดให้ผู้มีความพร้อมที่ตัดสินใจจะมีบุตร และการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในกลุ่มวัยเรียน การส่งเสริมการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถที่หลากหลาย (Multi – Skill) เพื่อยกระดับการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว อาทิ การเสริมสร้างทักษะเทคโนโลยี และการเป็นผู้ประกอบการ พัฒนาช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตร โดยยกระดับศักยภาพเกษตรกร โดยบูรณาการจากทุกภาคส่วน อาทิ ส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรให้กับเกษตรกร และภาครัฐสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐานและสะดวกต่อการใช้งาน และการส่งเสริมและดึงดูดแรงงานทักษะสูง โดยวิเคราะห์สถานการณ์และจัดทำฐานข้อมูลแรงงานทักษะสูงที่จำเป็นเร่งด่วนที่สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพัฒนาระบบรองรับทางสังคม สร้างแรงจูงใจ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในการดึงดูดแรงงานทักษะสูง อาทิ นโยบายวีซ่าที่ยืดหยุ่นและเหมาะสม
ทั้งนี้ ประเด็นที่ได้มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาประชากรระยะยาว รวมถึงผลการระดมความคิดเห็นที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพต่อไป
ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคเเละความเท่าเทียมทางสังคม
|