วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2565) ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นตัวแทนรับมอบชุดช้อนส้อมกะไหล่ทองโบราณสำหรับไว้ใช้รับแขกสำคัญของพระยาสุริยานุวัตร จากรองศาสตราจารย์ ดร.รุจิโรจน์ อนามบุตร อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ทายาทพระยาสุริยานุวัตร) ณ ห้องประชุม 521 สศช. เพื่อจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งในอดีตเคยเป็นบ้านของพระยาสุริยานุวัตร
หลังจากนั้นได้ไหว้สักการะภาพเขียนพระยาสุริยานุวัตร และเยี่ยมชมตึกสุริยานุวัตร โดยมีนายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการฯ และนางสาวกัญญารักษ์ ศรีทองรุ่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นผู้นำชม
"พระยาสุริยานุวัตร” มีนามเดิมว่า เกิด บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2405 เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) สมุหกลาโหมฝ่ายเหนือ กับหม่อมศิลา เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาหนังสือไทยที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นลุง ต่อมาในปี 2414 อายุ 9 ขวบ ได้เดินทางไปศึกษาวิชาที่ปีนังและกัลกัตตาอยู่ 5 ปี จึงกลับประเทศ และเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2419 ในตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษในกรมมหาดเล็ก ด้วยความสามารถที่โดดเด่นจึงมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสุริยานุวัตร” เมื่อปี 2439
"มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร” เป็นปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในหลายด้าน เนื่องจากเป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า และความคิดของท่านมีความทันสมัยอยู่เสมอ แม้เวลาจะล่วงเลยไป ที่สำคัญความคิดที่แสดงออกทั้งนโยบายที่เสนอเมื่อครั้งเป็นเสนาบดีหรือในงานเขียน ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญมากกว่าเพื่อตนเอง งานเขียนสำคัญคือ "ทรัพย์ศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย จนได้รับการยกย่องเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศไทย จึงนับเป็นบุคคลสำคัญที่ควรมีชื่อจารึกลงในประวัติศาสตร์ของไทย
ผลจากการปฏิบัติราชการด้วยความเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต และสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศชาติมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานที่ดินให้ปลูกสร้างบ้าน ซึ่งก็คือ "ตึกสุริยานุวัตร” อันเป็นที่ทำการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ในปัจจุบัน
ข่าว : เมฐติญา วงษ์ภักดี
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี / ปราณี ขวัญเกิด |