ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์เดินหน้าจัดระดมความคิดกรอบแผนฯ 13 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
วันที่ 18 มี.ค. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  283)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดระดมความคิดเห็น "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงราย  รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อนำความเห็นไปใช้ในการกำหนดแนวทางของแผนพัฒนาฯ ให้สามารถชี้ชัดถึงเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ และเชื่อมโยงสู่เป้าหมายย่อยในแต่ละด้านได้อย่างมีสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นางสาวจินางค์กูร  โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงราย  โดยได้รับเกียรติจากนายวิเชียร  อนุสาสนนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เข้าร่วมประชุม และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานราชการจากส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการ จำนวนประมาณ 120 คน 

นางสาวจินางค์กูร  โรจนนันต์  กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) มีภารกิจสำคัญประการหนึ่งคือการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นกลไกหลักในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติร่วมกับแผนระดับ 2 ฉบับอื่น และมีบทบาทในการระบุทิศทางการพัฒนาประเทศที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างชัดเจน การกำหนดป้าหมายและประเด็นการพัฒนาที่ชี้ชัดและจำเพาะเจาะจง รวมถึงสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลง และสามารถถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติภายใต้แผนระดับ 3 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ในการวางกรอบแนวทางของแผนพัฒนาฯ ให้สามารถชี้ชัดถึงเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ และเชื่อมโยงสู่เป้าหมายย่อยในแต่ละด้านได้อย่างมีสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

จากนั้น เป็นการนำเสนอ "ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13” โดยกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ สรุปได้ ดังนี้ 

สาระของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องทำ คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศ หรือการ transform ประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 

1. การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากร ไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้ หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง บนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนา ต่อยอด และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 

2. การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค โดยทุกกลุ่มคนมีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ ได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งในเชิงธุรกิจ พื้นที่ รายได้ และความมั่งคั่ง 

3. การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนในสังคมมีรูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถรับมือและมีภูมิคุ้มกันจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป 

4. การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

ภายใต้องค์ประกอบในแต่ละด้าน จะมีการกำหนด "หมุดหมาย” ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาจะ ‘เป็น’ มุ่งหวังจะ ‘มี’ หรือต้องการจะ ‘ขจัด’ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพลิกโฉมประเทศสู่การเป็น เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ไปสู่การปฏิบัติมีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 13 หมุดหมาย คือ (1) ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูง (2) ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน(3) ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (4) ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5) ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค (6) ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน (7) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs (8) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ (9) มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง (10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11) ไทยสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (12) ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ (13) ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : plan13@nesdc.go.th แบบสอบถามออนไลน์ และตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102

ข่าว : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์