ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ :
ท่าอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดแห่งใหม่ของโลก

 

   
  เว็บไซท์ สกภ. มีความภาคภูมิใจ ที่จะเสนอ ประเด็นสัมภาษณ์ ของ ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร รอง ผอ. สกภ. เกี่ยวกับพัฒนาการและแนวโน้มของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งประเด็นสัมภาษณ์ดังกล่าว จะได้นำลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเศรษฐกิจและสังคม ปี 41 ฉบับที่ 1 ม.ค. - ก.พ. 2547 เรื่อง "ทิศทางใหม่ในการยกระดับการพัฒนาโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่" ต่อไป
   

   
 

ในโลกของเศรษฐกิจไร้พรมแดนในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้สามารถติดต่อทำธุรกิจกันได้อย่างง่ายดายแม้อยู่ห่างไกลกันถึงคนละซีกโลก การทำธุรกิจเช่นนี้จำเป็นจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่รวดเร็วและเชื่อถือได้มารองรับ ซึ่งการขนส่งทางอากาศดูจะเป็นวิธีการขนส่งที่สามารถตอบรับความต้องการดังกล่าวได้ดีที่สุด และทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนนับได้ว่าเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจโลกประการหนึ่ง สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 29 กันยายน 2548 ก็จะเปิดให้บริการท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถนำประเทศไปสู่ศูนย์กลางของการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น วารสารเศรษฐกิจและสังคมฉบับนี้ จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของท่าอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดแห่งใหม่ของโลกแห่งนี้ โดยมี ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ.) กรุณาให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

 

บทบาทของท่าอากาศยานกับเศรษฐกิจ

 

กว่าสิบปีมาแล้วที่ Alvin Toffler นักพยากรณ์อนาคต กล่าวไว้ว่า สิ่งที่กำหนดความสำเร็จของการแข่งขันทางการค้าในระดับโลก จากศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป คือ “ผู้ที่รวดเร็วที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด” ซึ่งสิ่งที่ Toffler กล่าวได้ค่อยๆ ปรากฏให้เห็นแล้วว่าเป็นความจริง ในปัจจุบัน นานาประเทศต่างแข่งขันกันในโลกแห่งความเร็วที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ก่อให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีสนามบินนานาชาติเป็นตัวขับเคลื่อนและใช้กำหนดทำเลที่ตั้งของธุรกิจ อันเป็นรูปแบบการพัฒนาเมืองในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกับที่ท่าเรือน้ำลึกได้ทำหน้าที่เดียวกันนี้ในศตวรรษที่ 18 ทางรถไฟในศตวรรษที่ 19 และทางหลวงในศตวรรษที่ 20

 

สนามบินในปัจจุบันจึงเป็นปัจจัยสำคัญของระบบการผลิตและการพาณิชย์ระดับโลกที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศ ช่วยสนับสนุนระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการจัดการหาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบของธุรกิจอื่น หรือที่เรียกว่า ห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain) ทั้งยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดโรงงานและสำนักงานพาณิชย์ โดยเฉพาะธุรกิจด้านไฮเทคและเศรษฐกิจเมือง รวมทั้งก่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจต่อเนื่องจากกิจกรรมการบินในพื้นที่รอบสนามบินและตามแนวเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงกับสนามบินอีกด้วย

 

สำหรับประเทศไทย สินค้าส่งออกถึงร้อยละ 80 ในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยความรวดเร็วของการขนส่งทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นการส่งออกตามนโยบายอุตสาหกรรมระดับโลก (Global Niches) เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารที่เน่าเสียง่าย หรือสินค้าแฟชั่น ซึ่งจำเป็นต้องขนส่งอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สินค้ายังคงทันสมัย ไม่ตกยุค เป็นต้น ดังนั้น สนามบินจึงนับเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยเช่นกัน

 

สถานภาพการบินของไทยในปัจจุบัน

 

ดร. สุวัฒน์ฯ กล่าวถึงสถานภาพการบินของไทยในปัจจุบันว่า ปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินดอนเมืองอยู่ในอันดับที่ไม่เลวนักเมื่อเทียบกับสนามบินต่างๆ ทั่วโลก “ในการจัดอันดับสนามบินทั่วโลกปี 2545 สนามบินดอนเมืองของไทยมีปริมาณผู้โดยสารมากเป็นอันดับที่ 18 ของโลก จากสนามบินนานาชาติทั่วโลกจำนวนประมาณ 2,000 สนามบิน โดยเป็นรองสนามบินของประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพียง 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่นและฮ่องกงเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพที่ดีในการให้บริการของสนามบินไทย แต่หากจัดอันดับโดยใช้ปริมาณการขนส่งสินค้า กลับตกไปอยู่ในอันดับประมาณ 50-60 ของโลก ซึ่งแสดงถึงเศรษฐกิจด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศว่า ยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก

 

“ทั้งนี้ เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ คาดว่าภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี ปริมาณผู้โดยสารของสนามบินของไทยน่าจะขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 12-13 ของโลก เนื่องจากธุรกิจการบินในเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก โดยปัจจุบันผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมืองของไทยจะเพิ่มขึ้นในอัตราปีละเกือบ 3 ล้านคน ในขณะที่ธุรกิจการบินในสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการก่อวินาศกรรมตึกเวิร์ลเทรดโดยเครื่องบิน ทำให้คนอเมริกันลดความนิยมในการเดินทางโดยเครื่องบินลงพอสมควร”

   
 
ปริมาณผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ

ปี พ.ศ.
(ม.ค. – ธ.ค.)

ผู้โดยสาร
(ล้านคน)
อันดับเมื่อเทียบกับปริมาณ
ผู้โดยสารสนามบินทั่วโลก
2540
25.14
29
2541
25.62
28
2542
27.29
28
2543
29.62
26
2544
30.62
21
2545
32.18
18
  ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
   
   
 

ทำไมกรุงเทพต้องมีสนามบินแห่งใหม่

 

นับตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มมีแนวคิดที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่ ต่อมา การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทระบบท่าอากาศยานทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสนามบินขนาดใหญ่ของไทยในระยะยาว ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า สนามบินดอนเมืองจะถึงจุดอิ่มตัวในปี 2543 และหากไม่มีท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจเชิงพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ประกอบกับสนามบินดอนเมืองถือเป็นสนามบินที่ใช้ในราชการทหารอากาศมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้าง ดังนั้น กรุงเทพจึงจำเป็นจะต้องก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยสมบูรณ์แบบสำหรับใช้ในการพาณิชย์โดยเฉพาะ เพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งทางอากาศในอนาคต

   
 
 
ประวัติสนามบินสุวรรณภูมิ
   

พ.ศ.2503

รัฐบาลไทยว่าจ้างบริษัท Litchfield Whiting Bowne and Associate ศึกษาและวางผังเมืองกรุงเทพ ผลการศึกษามีข้อเสนอว่า ไทยควรเตรียมจัดให้มีสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่

พ.ศ.2504

กระทรวงคมนาคมได้ศึกษาเปรียบเทียบ และกำหนดพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่

พ.ศ.2506 - 2516

กรมการบินพาณิชย์จัดซื้อและเวนคืนที่ดิน

พ.ศ.2521

กระทรวงคมนาคมว่าจ้างบริษัท Tippets Abbott Mocarthy Aviation ศึกษาทบทวนความเหมาะสมของพื้นที่สนามบินแห่งใหม่อีกครั้ง ซึ่งผลการศึกษายังคงยืนยันความเหมาะสมในลักษณะเดิม

พ.ศ.2533

การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา Louis Berger International ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบท่าอากาศยานทั่วประเทศ ได้ข้อสรุปว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองที่ก่อสร้างไว้เดิมจะถึงจุดอิ่มตัวในปี 2543

พ.ศ.2534

คณะรัฐมนตรีอนุมัติการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ โดยมอบให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยดำเนินการในช่วงแรก

พ.ศ.2535

การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ศึกษาวางแผนแม่บทรวมทั้งการออกแบบเบื้องต้นและควบคุมบริหารงานก่อสร้างในวงเงิน 914 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 7 ปี 6 เดือน

พ.ศ.2538

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่จำกัด (บทม.) ขึ้น

พ.ศ.2539

กระทรวงการคลังจดทะเบียนจัดตั้ง บทม. โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม และมีกระทรวงการคลังและการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้น

พ.ศ.2543

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เป็นชื่อท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่

พ.ศ.2548

กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 29 กันยายน 2548

   
   
   
 

ไม่ปิดสนามบินดอนเมืองหลังเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

 

เมื่อกรุงเทพมีสนามบินแห่งใหม่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับสนามบินดอนเมือง ในเรื่องนี้ ดร.สุวัฒน์ฯ ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันกิจการบินพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมืองแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ 1) สายการบินประจำ ซึ่งหมายถึง สายการบินที่มีกำหนดเวลาการบินล่วงหน้าแน่นอน ซึ่งประมาณร้อยละ 99 เป็นสายการบินผู้โดยสาร และอีกประมาณร้อยละ 1 เป็นสายการบินสำหรับสินค้า 2) สายการบินไม่ประจำ (Charter Flight) เป็นสายการบินที่มีผู้โดยสารซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกัน เช่น บริษัททัวร์ที่หาลูกค้าได้ประมาณ 200-300 คน ก็จะเหมาลำเครื่องบินมาเอง อาทิ สายการบินที่มาจากเวียนนา รัสเซีย หรือจีน เป็นต้น ซึ่งมีประมาณ 5-6 พันเที่ยวต่อหนึ่งปี 3) เครื่องบินราชการ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมตำรวจ เครื่องบินทหาร เป็นต้น เนื่องจากพื้นที่อีกฟากหนึ่งของสนามบินดอนเมืองเป็นของกองทัพอากาศ และใช้รันเวย์ร่วมกัน 4) เครื่องบินพิเศษ เช่น เครื่องบินของราชวงศ์ เครื่องบินของผู้นำระดับประเทศ เป็นต้น ซึ่งเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้บริการแล้ว สนามบินดอนเมืองจะงดให้บริการสายการบินในประเทศและระหว่างประเทศเฉพาะประเภทที่ 1 เท่านั้น โดยจะย้ายไปให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่สนามบินดอนเมืองยังคงเปิดให้บริการแก่เครื่องบินประเภทที่ 2-4 ต่อไป มิใช่ปิดให้บริการทั้งหมดดังที่หลายคนเข้าใจ

 

จากสนามบินดอนเมืองสู่สนามบินสุวรรณภูม

 

ดร. สุวัฒน์ฯ กล่าวต่อไปว่า สนามบินสุวรรณภูมิมีกำหนดเปิดให้บริการแน่นอนแล้วในวันที่ 29 กันยายน 2548 และแม้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอุปกรณ์ด้านซอฟท์แวร์ที่ต้องการความทันสมัย เช่น ซอฟท์แวร์ด้านการตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และข้อมูลข่าวสารการบิน เป็นต้น ซึ่งรวมเป็นเงินประมาณ 3-4 พันล้านบาท แต่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ บางส่วนที่สามารถเคลื่อนย้ายจากดอนเมืองมาใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ดังนั้น ในคืนก่อนที่สนามบินจะเปิด จะเป็นคืนที่โกลาหลพอสมควร เนื่องจากต้องเคลื่อนย้ายอุปกรณ์จำนวนมากระหว่างสองสนามบิน

 

“ในการโยกย้ายการให้บริการจากสนามบินดอนเมืองมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีการกำหนดเวลาปิดบริการของสนามบินดอนเมืองในคืนวันที่ 28 กันยายน 2548 เช่น หากกำหนดให้เป็นเวลาเที่ยงคืนของคืนวันที่ 28 กันยายน 2548 สนามบินดอนเมืองก็จะมีอุปกรณ์ให้เครื่องบินลงจอดได้จนถึงเวลาเที่ยงคืนของคืนวันที่ 28 กันยายน 2548 หลังจากเที่ยงคืนไปแล้ว จะต้องทำการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์จำนวนมากซึ่งจะนำไปใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งจะกลายเป็นมหกรรมอันยิ่งใหญ่ในคืนวันนั้น จะมีการถ่ายทอดสด มีการปิดถนนหลายสิบสายในกรุงเทพด้วย”

 

สนามบินสุวรรณภูมิ : สนามบินที่ทันสมัยที่สุดแห่งใหม่ของโลก

 

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางโฉลง ตำบลราชาเทวะ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร มีระยะทางไกลกว่าสนามบินดอนเมืองเมื่อวัดจากสนามหลวงประมาณ 3 กิโลเมตร ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่สนามบินดอนเมืองราว 6 เท่า ใช้งบการลงทุนส่วนที่อยู่ภายในและภายนอกสนามบินทั้งสิ้นประมาณ 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินลงทุนในภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ 137,000 ล้านบาท และเอกชนร่วมลงทุนในกิจการเชิงพาณิชย์ 13,000 ล้านบาท เมื่อสนามบินเปิดให้บริการในปี 2548 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน ทั้งนี้ ตามปกติอัตราการขยายตัวของผู้โดยสารเครื่องบินในแต่ละปีจะเพิ่มประมาณหนึ่งเท่าครึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ดังนั้น การขยายตัวของ GDP ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8 ต่อปี จึงประมาณได้ว่า ผู้โดยสารเครื่องบินจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ประมาณร้อยละ 10-12 และในปีหน้า คาดว่าน่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 38-39 ล้านคนต่อปี

 

“ระบบการตรวจกระเป๋าสัมภาระของสนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นมาตรฐานที่ทันสมัยมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยในเอเชียมีเพียงสนามบินนานาชาติอินชอนของเกาหลีใต้เท่านั้นที่ทันสมัยเทียบเท่ากับสนามบินในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งในการนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า สนามบินสุวรรณภูมิควรลงทุนใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะหากใช้เทคโนโลยีที่พอๆ กับประเทศอื่นในปัจจุบัน เมื่อสนามบินก่อสร้างแล้วเสร็จ อาจมีประเทศอื่นที่ใช้เทคโนโลยีก้าวล้ำไปมากกว่าแล้วก็ได้” ดร. สุวัฒน์ฯ กล่าว

   
 
 
องค์ประกอบที่สำคัญของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
*************  
ทางวิ่ง

จำนวน 2 เส้น กว้างเส้นละ 60 เมตร ยาว 3,700 เมตร และ 4,000 เมตร มีระยะศูนย์กลางห่างกัน 2,200 เมตร ให้บริการขึ้นลงอากาศยานได้พร้อมๆ กันตลอดเวลาไม่น้อยกว่า 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

หลุมจอด

รวมจำนวน 120 หลุมจอด แบ่งเป็นการจอดประชิดอาคาร 51 หลุมจอด และการจอดระยะไกล 69 หลุมจอด

หอบังคับ
การบิน

สูง 132 เมตร ซึ่งนับเป็นหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน พร้อมระบบนำร่องที่ทันสมัย

อาคาร
ผู้โดยสาร

มีพื้นที่ประมาณ 563,000 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบให้มีความสวยงามทันสมัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครัน ภายในมีการตกแต่งให้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ไทย รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1) อาคารผู้โดยสาร สูง 7 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น รวมทั้งมีสถานีรถไฟใต้อาคารผู้โดยสารด้วย โครงสร้างอาคารเป็นเหล็กและกระจก หลังคากระจกมีแผงอลูมิเนียมคลุมกันแดดด้านบน และ 2) อาคารเทียบเครื่องบิน สูง 2 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น สำหรับใช้ในการเทียบเครื่องบิน ตัวอาคารเป็นเหล็กมีรูปโค้ง หลังคาเป็นกระจกสลับกับผ้าใยสังเคราะห์เคลือบเทฟล่อน

การบริการ
สินค้า

มีอาคารและลานพื้นที่รวมประมาณ 568,000 ตารางเมตร สำหรับให้บริการแบบปลอดพิธีการศุลกากร โดยผู้ประกอบการสามารถทำงานเคลื่อนย้ายและจัดเตรียมหรือบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกหรือนำเข้าภายในพื้นที่ที่กำหนดได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ระบบป้องกัน
น้ำท่วม

มีคันดินสูง 3.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลกลาง ล้อมรอบพื้นที่ท่าอากาศยานยาวทั้งหมด 24 กิโลเมตร มีคลองระบายน้ำ คลองรับน้ำ และพื้นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ภายในสนามบิน สามารถรองรับน้ำฝนที่ตกได้มากกว่า 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร

ถนนภายใน

เป็นถนนขนาดตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป เชื่อมอาคารต่างๆ ภายในท่าอากาศยาน ความยาวรวม 36 กิโลเมตร และมีลานจอดรถ 3,500 คัน

ถนนเข้า
ท่าอากาศยาน

มีทางเข้าออก 5 ทาง ดังนี้
- ทิศเหนือ เป็นถนนยกระดับขนาด 8 ช่องจราจร จากมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรีเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร
- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นถนนยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร เชื่อมกับทางยกระดับจากถนนร่มเกล้าและถนนกิ่งแก้ว
- ทิศใต้ เป็นถนนระดับพื้นราบขนาด4 ถึง 8 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนบางนา-ตราด
- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นถนนระดับพื้นราบขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนอ่อนนุช
- ทิศตะวันตก เป็นถนนยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนกิ่งแก้ว

อาคารจอดรถ

มีอาคารจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารจำนวน 2 อาคาร จอดรถยนต์ได้รวม 5,000 คัน

   
   
 
ประมาณการงบลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ
   
 
แผนงาน
เงินลงทุน
เงินลงทุนแบ่งตามระยะเวลา
หน่วยงานรับผิดชอบ
ล้านบาท
%
2549-58
2559-68
2569-78
งบประมาณแผ่นดิน
รัฐวิสาหกิจ
ส่วนท้องถิ่น
ระบบขนส่ง
 75,864
 59.5
 44,774
15,668
 15,422
กรมทางหลวงชนบท กทพ./รฟท./ขสมก. กทม.
ระบบป้องกันน้ำท่วม
 58,885
 38.5
 58,885
 -
 -
กรมชลประทาน    
ระบบประปา
 7,778
  5.1
 16,000
  2,400
  3,778
  กปน.  
ระบบไฟฟ้า
 3,388
  2.2
 921
 895
 157
  กฟน.  
ระบบโทรศัพท์
 1,705
 1.1
 831
  687
 187
  ทศท.  
การบำบัดน้ำเสีย
 3,136
  2.0
 645
 968
 1,523
    กทม. /อบจ.สมุทรปราการ
การจัดการขยะมูลฝอย
 2,355
  1.5
 2,068
 93
 194
    กทม. /อบจ.สมุทรปราการ
รวม
 153,111
100.0
109,724
20,711
22,676
     
สัดส่วน (%)
 100.0
 
71.7
13.5
14.8
     
 
 
 
 
 
 
     
  ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
 

   
 

ารคมนาคม เข้า - ออก ระหว่างสนามบิน ไม่มีปัญหา

 

การก่อสร้างสนามบินระดับโลกที่มีความทันสมัย สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมากในระดับนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนจัดระบบการจราจรและขนส่งโดยรอบสนามบินให้มีความสะดวกรวดเร็วสอดคล้องกับศักยภาพของสนามบินด้วย ในเรื่องนี้ ดร.สุวัฒน์ฯ กล่าวว่า ได้มีโครงการรองรับการคมนาคมเข้า-ออกสนามบินในหลายรูปแบบ ทั้งทางด่วน ทางหลวง รถไฟ และรถเมล์ ซึ่งจะสะดวกกว่าสนามบินดอนเมืองมาก และยังเข้าออกจากสนามบินได้หลายทางรอบทิศ ทั้งทางมอเตอร์เวย์ ถนนกิ่งแก้ว ถนนอ่อนนุช และถนนบางนา-ตราด

 

“โครงการที่รองรับการขนส่งคนระหว่างเมืองกับสนามบิน นอกเหนือจากโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ โครงการการขยายมอเตอร์เวย์ แล้ว ยังมี โครงการตัดทางด่วนสายใหม่ ออกจากบริเวณถนนเอกมัยตรงเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัดในการเดินทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต แผนดังกล่าวเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้รับหลักการ และเห็นชอบให้การทางพิเศษฯ เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในประมาณ 6 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยยังทำการศึกษาการเปิดให้บริการรถไฟด่วน (Fast Train) โดยมีความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม และจะให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการก่อสร้างและเดินรถด้วย โดยรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในด้านเงินลงทุน งบประมาณของโครงการนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท

 

และยังมีการคมนาคมอีกรูปแบบหนึ่งคือ รถเมล์ ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทางชั้นดีที่สุดในประเทศไทย เทียบเท่ารถเมล์ที่ดีที่สุดของโลก โดยเป็นรถขนาดรถทัวร์ แอร์เย็น เบาะนุ่ม บันไดไม่สูง มีช่องใส่กระเป๋าเดินทางได้สะดวก ซึ่งจะจอดหน้าอาคารผู้โดยสารได้เลย วางแผนว่าจะมีทั้งหมด 4 สาย แวะจอดตามโรงแรมชั้นนำต่างๆ และจะพัฒนาที่มักกะสัน อโศก ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นที่จอดรถเมล์นี้ โดยผู้โดยสารสามารถเช็คอินกระเป๋าได้ที่นี่ จากนั้นจึงโดยสารรถเมล์ดังกล่าวไปที่สนามบินได้ โดยอาจคิดค่าโดยสารประมาณ 100 บาท”

 

เมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิิ

 

ปัจจุบัน สนามบินทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของระบบต่างๆ และศูนย์กลางการพาณิชย์ของชุมชนโดยรอบสนามบิน ถ้าถือว่าสนามบินและพื้นที่โดยรอบเป็นเมืองสนามบินแล้ว สนามบินหลายแห่งก็ได้ทำหน้าที่แบบเดียวกับศูนย์กลางธุรกิจของเมืองใหญ่ๆ โดยเป็นศูนย์กลางการขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของการจ้างงาน การจับจ่ายสินค้า การประชุมและบันเทิง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบินที่เกิดขึ้นมักเรียงรายไปตามถนนหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้เกิดเมืองในลักษณะใหม่ คือ เมืองศูนย์กลางการบิน (Aerotropolis) ซึ่งบางแห่งขยายตัวออกไปในรัศมีถึง 30 กิโลเมตรจากสนามบิน

 

ดังนั้น การใช้ที่ดินโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิจึงควรเป็นพื้นที่ที่ใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น คลังสินค้า โรงงานสินค้า เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำสินค้าที่ผลิตเสร็จขึ้นเครื่องบินได้ทันที ซึ่งจะทำให้พื้นที่โดยรอบสนามบินมีราคาสูงขึ้นมาก จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิขึ้น เพื่อวางแผนการใช้ที่ดินโดยรอบสนามบินซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2-3 แสนไร่ ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยในขณะนี้ ได้มีการประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในการทำผังเฉพาะขึ้น ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปี ผังเฉพาะนี้เป็นการเตรียมการใช้ที่ดินในอีก 30 ปีข้างหน้า ดังนั้น เมื่อผังเฉพาะที่กำลังจัดทำนี้แล้วเสร็จ ก็จะสามารถนำผังดังกล่าวมากำหนดการใช้ที่ดินในระยะยาวได้

 

“แผนการดำเนินงานโดยรอบสนามบิน แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนของตนเองไว้บ้างแล้ว แต่โครงการใดที่ยังไม่มีหน่วยงานใดวางแผนไว้ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ.) จะดำเนินการวางแผนเพิ่มเติม และวางแผนต่อไปในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าด้วย

 

แผนในระยะยาว อาทิ แผนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเมื่อมีประชาชนย้ายเข้าไปอยู่อาศัยบริเวณโดยรอบสนามบินในอนาคต ก็สมควรที่จะต้องมีการเตรียมการไม่ให้มีน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ โดยจะดำเนินการการขุดคลองขนาดใหญ่สายใหม่ยาวประมาณ 100 กิโลเมตร กว้าง 200 เมตร เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางไทร ตรงไปออกที่คลองด่าน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบสนามบินได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือแผนด้านการบริหารจัดการ ซึ่งพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคทั้งหมด และยังมีการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่สนามบินมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมาก จึงจำเป็นจะต้องจัดการบริหารพื้นที่ของสนามบินและพื้นที่โดยรอบให้เป็นเขตการบริหารพิเศษ ดังเช่นที่ได้ดำเนินการกับเมืองพัทยา ซึ่งในขณะนี้มีการวางแผนคร่าวๆ ไว้แล้ว แต่จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เป็นต้น”

 

กลไกการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูม

 

โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงมีหน่วยงานร่วมรับผิดชอบจำนวนมาก ทั้งหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ซึ่งมีการแบ่งความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

 

บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น อาคารผู้โดยสาร ทางวิ่ง ระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ เป็นต้น โดยมีงานภายในสนามบินบางส่วนที่ดำเนินการโดยหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน เช่น หอบังคับการบิน งานตรวจคนเข้าเมือง งานศุลกากร งานไปรษณีย์ งานคลังสินค้า เป็นต้น

 

ทั้งนี้ บทม. เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจเล็กๆ ซึ่งมีพนักงานโดยเฉพาะวิศวกรจำนวนไม่มากนัก ในการกำกับดูแลโครงการขนาดใหญ่ในระดับนี้ จึงจำเป็นจะต้องว่าจ้างบริษัทที่มีความชำนาญมาช่วยดำเนินการ ซึ่งเรียกว่า Project Management Consultant (PMC) บริษัทดังกล่าวจะช่วยในการวางแผนก่อสร้างสนามบินทั้งหมด รวมทั้งการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง

 

สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ.) ซึ่งอยู่ภายใต้ สศช. ทำหน้าที่ประสานแผนการดำเนินงานทั้งหมด ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในสนามบิน เช่น ทางเข้าออกสนามบิน สาธารณูปโภคที่จะเข้าไปในสนามบิน การจัดการขยะมูลฝอย การวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น ซึ่งจะต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมากมาย

 

นอกจากการประสานงานและกำกับงานแล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติให้ สกภ. สามารถเสนอแนะสิ่งใหม่ๆ ให้ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาได้ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่ต้องการเสนอโครงการซึ่งเกี่ยวข้องกับสนามบินสุวรรณภูมิ จะต้องเสนอผ่าน สกภ. เพื่อให้เป็นศูนย์รวมในการพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

ความก้าวหน้าของการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

 

เหลือเวลาอีกไม่มากนักก็จะถึงกำหนดการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการของสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ในเรื่องนี้ ดร.สุวัฒน์ฯ ยืนยันว่า สนามบินจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในวันที่ 29 กันยายน 2548 อย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบัน การก่อสร้างมีความคืบหน้าโดยรวมเกือบร้อยละ 40 ในขณะที่เป้าหมายควรเป็นเกือบร้อยละ 55 เนื่องจากมีหลายโครงการย่อยที่ล่าช้า โครงการที่ล่าช้ามากที่สุดได้แก่ โครงการอาคารผู้โดยสาร และหอบังคับการบิน ส่วนโครงการย่อยอื่นๆ เช่น รันเวย์ ถนน โรงกรองน้ำประปา โรงบำบัดน้ำเสีย การเดินท่อน้ำมัน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคหลัก มีความล่าช้าน้อย หรือทันตามกำหนดการ

 

“ความก้าวหน้าโดยรวม ยังช้ากว่าที่กำหนดในแผน ซึ่งบทม. ได้แก้ปัญหาโดยการลงนามในสัญญาเร่งรัดการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารซึ่งมีความล่าช้าในขณะนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2546 การลงนามในสัญญาดังกล่าว เป็นสัญญาระหว่างกลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย กับ บทม. ซึ่งระบุว่า บริษัทจะต้องดำเนินงานให้แล้วเสร็จทันตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จากนั้นจึงปรับตารางเวลาในการทำงานใหม่เพื่อเร่งให้งานเสร็จทันภายในเวลาที่กำหนด”

   
 
ความก้าวหน้างานก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
   
 
หน่วยงานรับผิดชอบ
มีสัญญาว่าจ้างแล้ว
อยู่ระหว่างการคัดเลือกจัดจ้าง
ดำเนินการแล้วเสร็จ
กำลังดำเนินการ
จำนวนงาน
(งาน)
งบประมาณ
(ล้านบาท)
จำนวนงาน
(งาน)
งบประมาณ
(ล้านบาท)
จำนวนงาน
(งาน)
งบประมาณ
(ล้านบาท)
1. บทม.
62
19,591
33
61,705
50
24,021
2. หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ
-
-
10
8,247
18
22,756
3. ภาคเอกชน
-
-
1
900
8
12,147
  ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
หมายเหตุ ความก้าวหน้า ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2546
   
   
 

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสนามบินสุวรรณภูมิ

 

เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการแล้ว ดร.สุวัฒน์ฯ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรทำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสนามบินว่า สามารถดำเนินการได้ในสองส่วนคือ

 

ส่วนแรก การให้บริการของหน่วยงานรัฐในสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องยอดเยี่ยม เช่น การเข้าออกสนามบินมีความสะดวก มีรันเวย์เพียงพอ การตรวจคนเข้าเมือง การขนส่งกระเป๋าสัมภาระและสินค้ามีความรวดเร็ว เป็นต้น

 

ส่วนที่สอง การทำการตลาด ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเดินทางไปประชาสัมพันธ์เรื่องของสนามบินสุวรรณภูมิทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านความใหญ่โต ความสะดวกสบาย ค่าใช้จ่ายสำหรับสายการบินที่จะมาใช้บริการซึ่งไม่แพง พิธีการศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมืองรวดเร็วทันสมัย เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบเอ็กซ์เรย์ทั้งหมด เป็นต้น โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงประชาชน และนักท่องเที่ยวทั่วไปซึ่งไม่อยู่ในวงธุรกิจการบินด้วย

 

ก้าวสู่ศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ด้วยศักยภาพของสนามบินระดับแนวหน้าของโลก สนามบินสุวรรณภูมิจึงถูกจับตามองว่า จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องนี้ ดร.สุวัฒน์ฯ ได้ให้ความเห็นว่า การเป็นศูนย์กลางจะต้องเกิดขึ้นจากการยอมรับของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น หากสนามบินมีบริการที่ดี ราคาไม่แพง ทำให้สายการบินผู้ใช้บริการต้องการมาใช้บริการ และหากสามารถขยายการให้บริการโดยมีคุณภาพที่เป็นหนึ่ง สนามบินก็จะเป็นศูนย์กลางการบินไปได้เองโดยปริยาย

 

“สำหรับการเป็นศูนย์กลางการบินโดยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยนั้น ในอดีตเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว เครื่องบินจะสามารถบินได้ในระยะทางไม่เกิน 2-3 พันกิโลเมตร แล้วจะต้องหยุดพักเครื่องและเติมน้ำมัน เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้านัก เครื่องบินยังบินได้ช้า สิ้นเปลืองน้ำมันมาก และเครื่องบินมีขนาดเล็ก ดังนั้น ประเทศไทยจึงอยู่ในทำเลที่สามารถเป็นศูนย์กลางการบินของโลกได้โดยเราไม่ต้องทำอะไรมากนัก แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เครื่องบินสมัยใหม่สามารถบินได้ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 12 ชั่วโมง เป็นระยะทางราว 12,000 กิโลเมตร หรือเกือบครึ่งโลกโดยไม่ต้องหยุดพัก ความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยจึงลดความสำคัญลงไปบ้าง ทั้งนี้ การบินต่างกับการเดินเรือทางทะเลมาก โดยเส้นทางการเดินเรือจะต้องเดินเรือไปตามทะเลซึ่งมีพื้นที่บริเวณผิวโลกที่ตายตัว แต่การเดินทางทางอากาศ สามารถเลือกใช้เส้นทางการบินที่เป็นทางตรงไปที่ใดๆ ก็ได้ตลอดเวลา”

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พยายามส่งเสริมให้ไทยก้าวขึ้นสู่ความเป็นเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการวางแนวทางสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ได้แก่

 

ด้านการกำหนดนโยบายการบิน โดยการกำหนดบทบาทท่าอากาศยานภายในประเทศไทยให้เป็นลักษณะโครงข่าย (Network) ที่มีการเชื่อมโยงสนับสนุนกัน โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลัก มีการปรับองค์กรกำกับดูแลการบินด้วยการแยกบทบาทของกรมการขนส่งทางอากาศในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการให้บริการออกจากกัน พร้อมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีการบินอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 ไทยได้เจรจาสิทธิการบินกับจีนเพื่อเปิดเสรีทางการบินระหว่างกันเป็นผลสำเร็จ ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่สามารถบินไปยังประเทศจีน และจีนก็สามารถบินมาไทยโดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งเที่ยวบิน ผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า ซึ่งต่อไปไทยกำลังเร่งเจรจาสิทธิทางการบินกับประเทศอินเดียเพิ่มอีกหลายเมือง จากปัจจุบันที่ได้มีการตกลงสิทธิทางการบินแล้ว 4 เมือง รวมทั้งจะเร่งเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการบินกับ 10 ประเทศในอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายในปี 2547 และหลังจากนั้นจะดำเนินการเจรจากับประเทศนอกอาเซียนต่อไป

 

ด้านกายภาพ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ และระบบการให้บริการพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนากิจกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิและการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงท่าอากาศยานกับชุมชนและแหล่งผลิต ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพสายการบินของไทย และส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

 

สนามบินสุวรรณภูมิ อีก 20-25 ปีจะเต็ม

 

สนามบินสุวรรณภูมิได้ริเริ่มแนวคิดที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2503 นับเป็นเวลา 40 กว่าปีมาแล้ว ณ เวลานั้น พื้นที่ที่กำหนดนี้ถูกพิจารณาว่าใหญ่เพียงพอ แต่โครงการกลับมาแล้วเสร็จในปี 2548 ซึ่งในเวลานี้ พื้นที่สนามบินที่มีอยู่จะใช้ไปได้อีกเพียงประมาณ 20-25 ปี สนามบินสุวรรณภูมิก็จะเต็ม ไม่สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ซึ่ง ดร.สุวัฒน์ฯ ได้ให้แนวคิดในการแก้ไขปัญหาว่า

 

“ในอนาคตอีก 20-25 ปีข้างหน้า สนามบินสุวรรณภูมิก็จะเต็มแล้ว ซึ่งก่อนจะถึงเวลานั้น ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเปิดสนามบินดอนเมือง เพื่อให้บริการสายการบินพาณิชย์ไปพร้อมกันอีกครั้ง โดยอาจเก็บค่าบริการถูกกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ และเปิดให้บริการเฉพาะเส้นทางบินในประเทศหรือประเทศใกล้เคียง รวมทั้งสำหรับสายการบินที่เกิดใหม่ ดังที่ได้มีเกิดขึ้นบ้างแล้วในปัจจุบัน ประเภทโลว์คอสแอร์ไลน์ เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจช่วยยืดเวลาที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเต็มออกไปได้อีกราว 10 ปี และหลังจากนั้น หากสนามบินทั้งสองแห่งเต็มอีก อาจจะต้องพิจารณาสนามบินแห่งที่สาม ซึ่งอาจเป็นสนามบินของกองทัพอากาศที่กำแพงแสน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพประมาณ 90 กิโลเมตร หรืออาจต้องพิจารณาใช้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพประมาณ 160 กิโลเมตร ดังนั้นจึงยังพอมีลู่ทางให้ขยับขยายไปได้อีกสี่ถึงห้าสิบปีข้างหน้า”

 

บทส่งท้าย

 

หลังจากรอคอยมา 45 ปี ในที่สุด สนามบินสุวรรณภูมิที่ทันสมัยที่สุดแห่งใหม่ของโลกจะได้ฤกษ์เปิดให้บริการแน่นอนในวันที่ 29 กันยายน 2548 ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอีกประการหนึ่งของประเทศไทย และเป็นที่คาดหวังว่าในยุคที่สนามบินกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน สนามบินสุวรรณภูมิจะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในที่สุด

   
 

สกู๊ปพิเศษโดย นิสวันต์ พิชญ์ดำรง