ข้อกำหนดการศึกษา
โครงการวางแผนผังการพัฒนา
เมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ

Suvarnabhumi Aerotropolis Development Plan
 
 

1. เหตุผลและความจำเป็น

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ได้แก่ท่าเรือ เส้นทางขนส่งทางน้ำ (แม่น้ำลำคลอง) เส้นทางรถไฟ โครงข่ายถนน และสนามบิน ได้มีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดรูปแบบการขยายตัวของเมือง นับตั้งแต่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างเป็นระบบเป็นต้นมา ซึ่งการขยายตัวของเมืองที่สำคัญส่วนใหญ่ของโลกก็ได้มีการวิวัฒนาจากเมืองท่าชายฝั่งทะเลหรือเมืองก่อตั้งขึ้นบนฝั่งแม่น้ำหรือลำคลองใหญ่ บางเมืองก็เกิดขึ้นจากการเป็นชุมทางขนส่งทางรถไฟ หรือการขนส่งทางรถยนต์ ตลอดจนล่าสุดการขนส่งทางอากาศ โดยสนามบินได้เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาเมืองในพื้นที่ต่อเนื่องจากสนามบิน

โลกยุคปัจจุบันคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมีการแข่งขันด้านความรวดเร็วเป็นสำคัญ ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักของความรวดเร็ว ยืดหยุ่นและเชื่อถือได้ในกระบวนการขนส่งคนและสินค้า ในการนี้สนามบินจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นการวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ดังตัวอย่างที่ปรากฏในประเทศต่างๆ เช่น สนามบินดัลลัส สนามบินโอแฮร์ของสหรัฐอเมริกา สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ สนามบินแลนทัว ฮ่องกง สนามบินแห่งใหม่ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่จังหวัดสมุทรปราการซึ่งกำหนดจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2548 และจะมีการย้ายกิจกรรมการบินที่สนามบินดอนเมือง (ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ) ทั้งหมดไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ และในอนาคตสนามบินสุวรรณภูมิจะกลายเป็นศูนย์การการบินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นการวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิจึงมีความสำคัญต่อ
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

ประเทศไทยเริ่มจัดทำการวางแผนผังการพัฒนานครหลวงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2503 (Greater Bangkok Plan 2533) สำหรับระยะเวลา 30 ปีล่วงหน้า โดยบริษัทที่ปรึกษา Litchfield Whiting Bowne and Associates งานดังกล่าวเป็นการวางแผนและผังของกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรีและสมุทรปราการ เช่น ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านการคมนาคมขนส่ง ด้านสาธารณูปโภค ด้านสาธารณูปการ ด้านบริการสังคม ด้านสันทนาการ ด้านการเงินเพื่อลงทุนโครงการ เป็นต้น โดยใช้ข้อมูลทางการขยายตัวของ ประชากร เศรษฐกิจและความต้องการในการใช้ที่ดินในอนาคตเป็นปัจจัยในการวางแผน จากนั้นมาหน่วยงานภาครัฐก็ได้ใช้แผนดังกล่าวเป็นแผนชี้นำการดำเนินงานในระยะต่อ ๆ มา

ในขณะที่ช่วงปี 2524–2525 รัฐบาลไทยก็ได้มีการจัดทำแผนผังในลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยบริษัทที่ปรึกษานำโดยบริษัท Coopers & Lybrand Associates ได้มีการวางแผนและผังการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ในด้านต่างๆ เบ็ดเสร็จ เช่น ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม ด้านที่อยู่อาศัย ด้านจ้างงาน ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านบริการทางสังคม ด้านน้ำประปาและน้ำเสีย ด้านท่องเที่ยว ด้านสาธารณูปโภค/สาธารณูปการอื่น ด้านการเงินลงทุนโครงการ และด้านการนำแผนงานไปปฏิบัติ เป็นต้น ภายหลังการจัดทำแผนผังแล้วเสร็จ รัฐบาลก็ได้นำแผนและผังดังกล่าวมากำหนดเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ และได้นำโครงการมาก่อสร้างดำเนินการมาตามลำดับ

จากนั้นมารัฐบาลไทยก็ได้มีการศึกษาเพื่อวางแผนผังการพัฒนาเช่นที่กล่าวมาข้างต้นขยายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ อีกหลายโครงการ เช่น การศึกษา Western Seaboard Regional Development Master Plan ซึ่งศึกษาโดย JICA ในปี 2538–2539 การศึกษา Eastern Seaboard Development Program–Phase 2 โดย Belgian Administration for Development and Cooperation ในปี 2538–2539 การศึกษาวางผังเค้าโครงการพัฒนาภาคสำหรับประเทศไทย โดยกลุ่ม Norconsult เมื่อปี 2539–2540 เป็นต้น

ในช่วงปี 2536-2538 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษานำโดย บริษัท Norconsult International A.S. ศึกษาโครงการระบบบริการพื้นฐานสำหรับรองรับท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่สอง โดยเน้นการศึกษาเพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่ในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การวางระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเงินสำหรับลงทุนไปในอนาคตจนถึงปี 2543 ในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ดังมีรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร (เดือน สิงหาคม 2537) ดังแนบมาพร้อมนี้

การศึกษาของ Norconsult ข้างต้น ได้ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย รับไปดำเนินการในรายละเอียด และดำเนินการก่อสร้างแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีข้อเสนอแนะอีกเป็นจำนวนมากที่จนถึงปัจจุบันยังมิได้มีการดำเนินการแต่ประการใด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาทบทวนใหม่ และขยายขอบเขตการศึกษาของโครงการนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 100 กิโลเมตร โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีช่วงเวลาในการวางแผนจนถึงปี 2578

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครและกรมการผังเมือง ได้จัดทำผังเมืองรวมออกบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งผังเมืองรวมดังกล่าวจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตรอบๆ สนามบิน และจะต้องนำมาประกอบในการศึกษาครั้งนี้ด้วย

2. สนามบินสุวรรณภูม

ปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่ของชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งกำหนดจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2548 จากนั้นจะย้ายกิจกรรมการบินที่สนามบินดอนเมือง (ท่าอากาศยานกรุงเทพ) ทั้งหมดไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสนามบินสุวรรณภูมิจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ

ปัจจุบันการขนส่งทางอากาศ มีบทบาทสำคัญสนับสนุนระบบการค้าโลกและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของโลกต่อกระแสการค้าเสรีและการพัฒนาของยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องการความรวดเร็วและประสิทธิภาพด้านเวลาในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ส่งผลให้แนวทางการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ประกอบด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ การพัฒนาเมืองและชุมชนเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ สังคม และเตรียมการรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในรัศมีประมาณ 100 กิโลเมตร โดยมีสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลาง สำหรับระยะเวลา 30 ปีในอนาคตข้างหน้า จนถึงปี 2578

3. วัตถุประสงค์ของการวางแผนและผังการพัฒนา

การศึกษาเพื่อการวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ดังนี้

(1) เพื่อศึกษาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของภาคมหานครจากการโยกย้ายกิจกรรมการบินทั้งหมด จากสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดโดยตรงต่อพื้นที่โดยรอบสนามบินทั้งสองในรัศมี 5–10 กิโลเมตร จากสนามบิน พร้อมให้เสนอแนะวิธีลดผลกระทบดังกล่าว

(2) การวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิระดับมหภาคในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้าจนถึงปี 2578 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่รัศมีประมาณ 100 กิโลเมตร จากสนามบินสุวรรณภูมิและแผนผังดังกล่าวประกอบด้วย 2 แผนผังหลักคือ

      • แผนผังการใช้ที่ดินระดับมหภาคของพื้นที่โดยรอบสนามบิน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองศูนย์กลางการบิน จนถึงปี 2578 ทั้งนี้แผนผังการใช้ที่ดินมหภาคจะต้องกำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินอย่างชัดเจน เช่น พื้นที่ชุมชนเมืองใหม่ พื้นที่รองรับแผนป้องกันน้ำท่วม พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมการบิน พื้นที่อนุรักษ์เพื่อเกษตรกรรม พื้นที่สันทนาการ ฯลฯ
      • โครงข่ายการเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่ภาคกลางตอนบน พื้นที่ภาคกลางด้านตะวันตก

(3) ทบทวนและปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ที่ สศช. ได้ทำไว้ในโครงการศูนย์กลางการผลิต และขนส่งทางอากาศยานนานาชาติที่สนามบินอู่ตะเภา (Global TransPark) พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอว่า ไทยควรจะมียุทธศาสตร์ในการใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทยทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่จะเชื่อมโยงกับการขนส่งทางอากาศที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างใด

(4) จัดทำแผนและผังของการพัฒนาในพื้นที่ตามข้อ (2) เป็นแผนระยะ 5 ถึง 10 ปี แผนระยะ20 ปี และแผนระยะ 30 ปี ในลักษณะเดียวกับแผน Litchfield ที่จัดทำเมื่อปี 2503 หรือแผนของ Coopers & Lybrand เมื่อปี 2525

(5) ให้ทบทวนการศึกษาของ สศช. ในช่วงปี 2536-2538 ที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา Norconsult ว่าการกำหนดพื้นที่พิเศษแห่งใหม่สำหรับรองรับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิในด้านอุตสาหกรรมที่ปลอดมลพิษและการสร้างชุมชนเมืองสำหรับการค้า และที่อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมินั้น ควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างใดหรือไม่ หรือควรเสนอแนะพื้นที่พิเศษแห่งใหม่อื่นๆ เพื่อการพัฒนานี้อีกหรือไม่ พร้อมทั้งจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและผังสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ สำหรับพื้นที่พิเศษนี้สำหรับอนาคต

(6) จัดทำแผนปฏิบัติการ พร้อมทั้งวิเคราะห์แผนการเงินสำหรับการลงทุนพัฒนา

4. วิธีดำเนินงาน

เพื่อให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ บริษัทที่ปรึกษาจะต้องดำเนินงานตามหลักวิชาชีพที่เป็นมาตรฐานในงานบริการให้คำปรึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะประสานกับบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ และปฏิบัติงานสำเร็จภายในเวลาที่กำหนด

การดำเนินงานศึกษาครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะต้องรวบรวมผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การผังเมือง การลงทุน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะต้องทบทวนและปรับข้อมูลดังกล่าวให้ทันสมัย และถูกต้องอย่างดีที่สุด เพื่อใช้เป็นฐานในการพยากรณ์ไปในอนาคต โดยใช้หลักวิชาการในแต่ละสาขาซึ่งเป็นที่ยอมรับ

รายงานที่ได้จากการดำเนินงานขั้นสุดท้ายจะประกอบด้วยข้อมูลด้านการวิเคราะห์ด้านข้อเสนอแนะ และมีผังรายละเอียดประกอบ เพื่อนำไปดำเนินการขั้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. ระยะเวลาดำเนินงาน

ใช้เวลา 12 เดือน นับจากวันที่เริ่มดำเนินการศึกษา

6. รายงานการศึกษาและการส่งมอบรายงาน

บริษัทที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 12 เดือน โดยในระหว่างการศึกษา ที่ปรึกษาจะต้องจัดทำรายงานการศึกษา และการส่งมอบรายงาน ดังนี้

      • รายงานการศึกษาขั้นต้น (Inception Report) จำนวน 80 ฉบับ เป็นภาษาไทย โดยจัดส่งให้ สศช. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่เริ่มดำเนินงาน
      • รายงานความก้าวหน้าประจำเดือน (Monthly Progress Report) จำนวน 40 ฉบับ เป็นภาษาไทย โดยจัดส่งให้ สศช. สิ้นเดือนนับแต่วันที่เริ่มดำเนินงาน
      • รายงานการศึกษาขั้นกลางฉบับที่ 1 (Interim Report 1)จำนวน 80 ฉบับ เป็นภาษาไทย โดยจัดส่งให้ สศช. ภายในสิ้นเดือนที่ 4 นับจากวันที่เริ่มดำเนินงาน เนื้อหาของรายงานฉบับนี้จะเป็นผลการดำเนินงานทั้งหมดในช่วงเวลาการศึกษาที่ผ่านมา
      • รายงานการศึกษาขั้นกลาง ฉบับที่ 2 (Interim Report 2) จำนวน 80 ฉบับ เป็นภาษาไทย โดยจัดส่งให้ สศช. ภายในสิ้นเดือนที่ 7 นับจากวันที่เริ่มดำเนินงาน เนื้อหาของรายงานฉบับนี้จะเป็นผลการดำเนินงานทั้งหมดในช่วงเวลาการศึกษาที่ผ่านมา
      • รายงานการศึกษารายสาขา จำนวน 5 สาขา สาขาละ 100 ฉบับเป็นภาษาไทย โดยจัดส่งภายในสิ้นเดือนที่ 11 นับจากวันที่เริ่มดำเนินงาน
      • ร่างรายงานการศึกษาขั้นสุดท้าย (Draft Final Report) จำนวน 200 ฉบับ เป็นภาษาไทย พร้อมทั้งร่างบทสรุปสำหรับผู้บริหารเป็นภาษาไทย จำนวน 200 ฉบับ โดยจัดส่งให้ถึง สศช. ภายในสิ้นเดือนที่ 10 นับจากวันที่เริ่มดำเนินงาน
      • การจัดสัมมนาบริษัทที่ปรึกษาจะต้องจัดสัมมนาเสนอผลการศึกษา โดยมีผู้ร่วมสัมมนาประมาณ 300 คน เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องจัดสัมมนาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากส่ง Draft Final โดยที่บริษัทจะต้องจัดทำเอกสารเพื่อการสัมมนาด้วย
      • รายงานการศึกษาขั้นสุดท้าย (Final Report) จะต้องส่งรายงาน จำนวน 500 ฉบับ เป็นภาษาไทย 400 ฉบับ และภาษาอังกฤษ 100 ฉบับ และบทสรุปสำหรับผู้บริหาร จำนวน 1,000 ฉบับ เป็นภาษาไทย 700 ฉบับ และภาษาอังกฤษ 300 ฉบับ พร้อมทั้งจัดทำในรูปแบบ CD – ROM จำนวน 500 แผ่น โดยจัดส่งให้ สศช. ภายในสิ้นเดือนที่ 12 นับจากวันที่เริ่มดำเนินงาน
      • แผ่นพับสีสรุปสาระสำคัญของการศึกษาทั้งหมดเพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นภาษาไทย จำนวน 1,000 แผ่น