การพัฒนากิจการท่าอากาศยานไทย

 

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ - เศรษฐศาสตร์นอกตำรา

 

ประเทศไทยเรานับว่าตั้งอยู่ในจุดภูมิยุทธศาสตร์ที่ดีมากในการเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ คือ จีน อินโดจีน อาเซียน และเอเซียใต้เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งเพียงพอที่จะใช้ความได้เปรียบทางภูมิยุทธศาสตร์นี้ให้เป็นประโยชน์

 

ก้าวสำคัญของไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ คือ ท่าอากาศยานของกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ซึ่งกำหนดเปิดดำเนินการปี 2548 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" อันมีความหมายว่า "แผ่นดินทอง"

 

ประเทศไทยเริ่มมีท่าอากาศยานแห่งแรกในปี 2453 เมื่อชาวต่างประเทศนำเครื่องบินมาแสดงการบินให้ประชาชนชาวไทยชมที่บริเวณสนามม้าสระปทุม ซึ่งปัจจุบันคือสนามม้าของราชกรีฑาสโมสร ซึ่งต่อมาในปี 2456 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งสนามบินขึ้นบนสถานที่แห่งนี้โดยตั้งชื่อว่า “สนามบินสระปทุม” นับเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย

 

กิจการบินในประเทศไทยได้เจริญเติบโตขึ้น ประกอบกับสนามบินสระปทุมมีพื้นที่คับแคบและมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม กระทรวงกลาโหมจึงพิจารณาหาสถานที่ใหม่เพื่อจัดตั้งเป็นสนามบิน ในที่สุดได้พิจารณาเลือกพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร คือ “ดอนเมือง” เนื่องจากเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงและไม่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2457 และตั้งชื่อว่า “สนามบินดอนเมือง” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ท่าอากาศยานกรุงเทพ”

 

ต่อมารัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทลิชฟิลด์มาวางผังเมืองกรุงเทพมหานครในปี 2503 ซึ่งผลการศึกษาเสนอความเห็นว่ากรุงเทพมหานครควรมีสนามบินพาณิชย์อีกแห่งหนึ่งเพื่อแยกเครื่องบินพลเรือนออกจากเครื่องบินทหาร และเพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครซึ่งจะเติบโตในอนาคต

 

ในปี 2504 รัฐบาลในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้มอบหมายกระทรวงคมนาคมให้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสถานที่ก่อสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดผังเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งการศึกษาพบว่าพื้นที่เหมาะสมที่สุด คือ หนองงูเห่า อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 25 กม. ทั้งนี้ ทำเลที่ตั้งของหนองงูเห่านับว่าแตกต่างจากดอนเมืองอย่างมาก กล่าวคือ ขณะที่พื้นที่ดอนเมืองเป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง แต่พื้นที่หนองงูเห่ากลับเป็นที่ลุ่ม

 

ก้าวสำคัญของโครงการท่าอากาศยานหนองงูเห่า คือ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2516 มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างและดำเนินกิจการท่าอากาศยานแห่งใหม่ โดยพลเอกพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนาย Glenn R. Lord เป็นผู้ลงนามฝ่ายบริษัทนอร์ทรอปแอร์ปอร์ตดีเวลลอปเม้นท์ของสหรัฐฯ

 

ตามสัญญาข้างต้น บริษัทนอร์ทรอปฯ จะรับผิดชอบด้านจัดทำแผนหลักแม่บท ออกแบบ ดำเนินงาน วิศวกรรม และก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เมื่อโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่แล้วเสร็จในปี 2521 ประเทศไทยจะมีท่าอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

รัฐบาลไทยจะรับมอบท่าอากาศยานแห่งใหม่จากบริษัทโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนบริษัทจะได้รับสัมปทานดำเนินการ 20 ปี เป็นการตอบแทน และจะต้องชำระค่าสัมปทานไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และรัฐบาลไทยมีสิทธิ์ซื้อสัมปทานคืนเมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้ หากธุรกิจท่าอากาศยานของบริษัทประสบผลสำเร็จและมีกำไรสะสมเกินกว่าที่คาดหมายไว้ จะต้องแบ่งผลกำไรเพิ่มเติมให้แก่รัฐบาลไทย

 

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างสนามบินที่หนองงูเห่าก็กลายเป็นฝันสลาย เนื่องจากเผชิญกับเสียงคัดค้านมากมายเกี่ยวกับการให้สัมปทานแก่บริษัทนอร์ทรอปฯ ซึ่งไม่ทราบว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากว่าไปแล้วก็นับว่าคล้ายคลึงกับม็อบต่อต้านโรงไฟฟ้าและท่อก๊าซในปัจจุบัน ทำให้โครงการต้องล้มเลิกไป

 

ต่อมาในปี 2526 รัฐบาลได้รื้อฟื้นโครงการท่าอากาศยานแห่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้จ้างกลุ่มบริษัท NACO เป็นวิศวกรที่ปรึกษา เพื่อวางแผนแม่บท ซึ่งการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2527 นับเป็นแผนแม่บทเฉพาะแรกของท่าอากาศยานแห่งนี้

 

ต่อมารัฐบาลได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษา Louis Berger International เพื่อศึกษาทบทวนอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่ ทั้งนี้ ได้พิจารณาเปรียบเทียบถึง 6 ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านการเงิน ความเป็นไปได้ของโครงการ ต้นทุนการพัฒนา การเดินทางสู่ท่าอากาศยาน ความสอดคล้องกับการพัฒนาภาคมหานคร และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

 

การตัดสินใจก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน โดยได้พิจารณาเห็นว่าท่าอากาศยานดอนเมืองมีพื้นที่จำกัด หากจะขยายพื้นที่ไปทางด้านฝั่งตะวันออกของถนนวิภาวดี-รังสิต ก็มีข้อจำกัดด้านการจราจรและการเวนคืนที่ดิน ซึ่งต้องจ่ายค่าเวนคืนในวงเงินที่สูง เนื่องจากปัจจุบันดอนเมืองกลายเป็นท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่ภายในตัวเมืองไปแล้ว ดังนั้น มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 อนุมัติให้ก่อสร้างท่าอากาศยานหนองงูเห่า กำหนดแล้วเสร็จปี 2543

 

คณะรัฐมนตรีในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2538 อนุมัติให้ก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมอบให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมามีการก่อตั้งบริษัท ท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด เพื่อรับผิดชอบโครงการนี้ โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกระทรวงการคลังและการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

 

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเมื่อปี 2541 เป็นเงิน 121,392 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างได้ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้มาก ดังนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนก่อสร้างเพื่อขยายท่าอากาศยานดอนเมืองหลายครั้ง ซึ่งครั้งหลังสุดได้ขยายท่าอากาศยานดอนเมืองจนสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 36.5 ล้านคน/ปี นับว่าใหญ่กว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งในระยะแรกออกแบบไว้รองรับผู้โดยสารเพียง 30 ล้านคน/ปี

 

ต่อมามีการทักท้วงว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิออกแบบไว้มีขนาดเล็กเกินไป เนื่องจากใกล้เคียงกับจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้บริการเมื่อเปิดดำเนินการ ควรออกแบบเผื่อเอาไว้เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคต ดังนั้น จึงได้ปรับเปลี่ยนการออกแบบเพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านคน

 

โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินมูลค่า 36,667 ล้านบาท โดยมีเนื้อที่ภายในอาคาร 563,000 ตร.ม. หรือมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางเท่ากับพื้นที่สนามฟุตบอลจำนวน 94 สนามรวมกัน นับว่ากว้างขวางกว่ากรณีของท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งปัจจุบันมี 3 อาคาร มีพื้นที่รวมกัน 316,000 ตร.ม.

 

อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับการออกแบบให้มีความสวยงาม ทันสมัย พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครัน ภายในมีการตกแต่งให้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย โครงสร้างหลักเป็นเหล็กและกระจก พร้อมกับมีการเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างสถานีรถไฟใต้อาคาร โดยมีการแยกเป็นชั้นของกระบวนการเข้า-ออกผู้โดยสารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การตรวจบัตรโดยสาร การตรวจหนังสือเดินทาง ระบบรักษาความปลอดภัย ด่านศุลกากร บริเวณที่พักผู้โดยสาร ร้านค้า ฯลฯ

 

โครงการยังประกอบด้วยรันเวย์ 2 เส้น ความยาว 3,700 และ 4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร อยู่ห่างกัน 2.2 กม. นับว่ารันเวย์ตั้งอยู่ห่างเพียงพอสำหรับให้เครื่องบินขึ้น-ลงพร้อมกันทั้ง 2 รันเวย์ได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถรองรับได้มากถึง 76 เที่ยวบิน/ชั่วโมง แตกต่างจากท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งแม้มี 2 รันเวย์เท่ากัน แต่มีระยะห่างกันแค่ 400 เมตร เครื่องบินไม่สามารถขึ้น-ลงพร้อมกันได้อย่างอิสระ จึงรับได้ไม่เกิน 50 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

 

เดิมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกำหนดแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2547 แต่การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด จึงเลื่อนมาเป็นวันที่ 29 กันยายน 2548 สำหรับในอนาคต รัฐบาลมีแผนก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหลายโครงการ เป็นต้นว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเข้ามายังย่านมักกะสันโดยใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที

 

รัฐบาลยังมีโครงการลงทุนเพิ่มเติมอีก 15,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างรันเวย์หมายเลข 3 และ 4 เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 2 รันเวย์ เพื่อให้รองรับการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารในอนาคต จะทำให้ท่าอากาศยานสามารถรองรับได้เพิ่มขึ้นเป็น 112 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

 

เมื่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดดำเนินการในเดือนกันยายน 2548 จะกลายเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 45 ล้านคน/ปี เฉือนเอาชนะท่าอากาศยานชางกีซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 44 ล้านคน/ปี

 

อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเป็นอันดับ 1 ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยท่าอากาศยานชางกีจะแซงกลับคืนมาเป็นอันดับ 1 สำเร็จในปี 2551 เมื่อการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหมายเลข 3 ของท่าอากาศยานชางกีแล้วเสร็จ ซึ่งจะเพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 64 ล้านคน/ปี

 

จาก หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 เม.ย. 2547