เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง
 

 

 

ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ - เศรษฐศาสตร์นอกตำรา

 

รถไฟความเร็วสูงหมายถึงรถไฟที่แล่นเร็วมากกว่า 200 กม./ชั่วโมง พัฒนาขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับการคมนาคมทางถนนและทางอากาศ ทำให้การเดินทางโดยรถไฟซึ่งเดิมเสื่อมความนิยมลง แต่กลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

ปัจจุบันการเดินทางโดยรถไฟนับว่าเสียเปรียบการเดินทางโดยรถยนต์มาก โดยกรณีรถยนต์นั้น สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้ แต่กรณีเดินทางโดยรถไฟ จะเกิดความไม่สะดวกต้องไปต่อรถยนต์ที่สถานี

 

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันกิจการรถไฟยังต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายใหม่ คือ สายการบินราคาประหยัด ซึ่งเก็บค่าโดยสารในราคาต่ำใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถไฟ จึงสามารถแย่งผู้โดยสารรถไฟจำนวนมาก

 

ผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นว่าหากรถไฟจะแข่งขันกับรถยนต์และเครื่องบินได้แล้ว จะต้องมีความเร็วอย่างต่ำ 200 กม./ชั่วโมง รัฐบาลหลายประเทศจึงก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงขึ้น แม้ว่าจะต้องลงทุนเป็นเงินสูงมากก็ตาม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกิจการรถไฟ

 

สำหรับรถไฟความเร็วสูงสายแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้วที่ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า “รถไฟชินกันเซ็น” สาย Tokaido Shinkansen เชื่อมต่อระหว่างกรุงโตเกียวและนครโอซากา ระยะทาง 553 กม. เปิดดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม 2507 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวในปีนั้นเอง

 

ต่อมาในปี 2518 ญี่ปุ่นมีรถไฟรุ่นใหม่ที่มีความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 220 กม./ชั่วโมง และเพิ่มความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรถไฟรุ่นโนโซมิซิรีส์ 300 ได้เพิ่มความเร็วเป็น 270 กม./ชั่วโมง สำหรับรถไฟรุ่นใหม่ คือ โนโซมิซิรีส์ 700 ได้เพิ่มความเร็วขึ้นอีกเป็น 300 กม./ชั่วโมง

 

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงกว้างขวางที่สุดในโลก ระยะทางประมาณ 2,400 กม รถไฟชินกันเซ็นของญี่ปุ่นยังนับว่ามีประสิทธิภาพดำเนินการสูงมาก โดยนับถึงปัจจุบันยังไม่มีอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตเลย ยิ่งไปกว่านั้น รถไฟยังเดินตรงเวลาอย่างมาก

 

การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก แต่กว่าที่ประเทศเหล่านี้จะเริ่มเปิดบริการรถไฟความเร็วสูง ก็ล้าหลังญี่ปุ่นไปแล้วนานถึง 17 ปี กล่าวคือ ฝรั่งเศสเปิดให้บริการเส้นทางแรกระหว่างกรุงปารีสกับนครลีออง เมื่อปี 2524 โดยใช้ชื่อรถไฟว่า TGV นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างมากเช่นกัน ผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้โดยสารเครื่องบินและรถบัสลดลงอย่างฮวบฮาบ

 

ส่วนเยอรมนีได้เปิดใช้รถไฟความเร็วสูงเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า InterCityExpress (ICE) ซึ่งมีความเร็ว 280 กม./ชั่วโมง ซึ่งประสบผลสำเร็จในเชิงธุรกิจอย่างมากเช่นกัน นอกจากใช้ในประเทศเยอรมนีแล้ว บริษัทซีเมนส์ยังจำหน่ายรถไฟ ICE ให้แก่หลายประเทศ

 

เกาหลีใต้นับเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนใจก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเนื่องจากการจราจรติดขัดนับว่าเป็นปัญหาหลักของประเทศ ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึงปีละ 800,000 ล้านบาท

 

หน่วยงาน Korea High Speed Rail Construction Authority (KHRC) ก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงชื่อ Korea Train Express (KTX) เชื่อมระหว่างกรุงโซลและนครปูซาน ระยะทาง 412 กม. เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนเมษายน 2547

 

นอกจากก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังผลิตตัวรถไฟเองด้วย โดยสถาบันวิจัยรถไฟแห่งประเทศเกาหลี (Korea Railroad Research Institute - KRRI) ได้วิจัยและพัฒนาโดยได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากบริษัท Alstom ของฝรั่งเศส โดยไม่ได้วิจัยเพื่อขึ้นหิ้ง แต่วิจัยเพื่อนำมาผลิตเชิงพาณิชย์

 

รถไฟความเร็วสูงของเกาหลีใต้มีกำลังสูงถึง 18,000 แรงม้า นับว่ามีพลังสูงกว่าของรถไฟ TGV ถึง 50% ทำให้สามารถแล่นได้ความเร็วสูงถึง 350 กม./ชั่วโมง โดยแต่ละขบวนบรรทุกผู้โดยสารได้ 935 คน จำแนกเป็นผู้โดยสารชั้น 1 จำนวน 127 คน และชั้นสอง 808 คน

 

สำหรับไต้หวันก็มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเช่นเดียวกัน มีระยะทาง 345 กม. จำนวน 10 สถานี เชื่อมโยงกรุงไทเปกับนครเกาสุงซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ใช้เงินลงทุนมากถึง 600,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท Taiwan High Speed Rail Corp. (THSRC) โดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น เป็นรถไฟฟ้ารุ่น “โนโซมิ 700T” มีความเร็วสูงสุด 300 กม./ชั่วโมง

 

สำหรับประเทศยังจีนซึ่งปัจจุบันมีโครงการรถไฟความเร็วสูงสายสั้นๆ เชื่อมต่อระหว่างย่านศูนย์กลางทางการเงินใหม่ของนครเซี่ยงไฮ้กับท่าอากาศยานผู่ตง ซึ่งมีระยะทาง 30 กม. โดยเป็นเทคโนโลยี Maglev ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็ก

 

จีนยังมีแผนจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางรถไฟดังกล่าวมีความยาว 1,463 กม. ใช้เวลาเดินทางยาวนานถึง 14 ชั่วโมง โดยมีความเร็วเฉลี่ย 104.5 กม./ชั่วโมง

 

รัฐบาลจีนต้องการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมระหว่าง 2 เมืองดังกล่าว โดยย่นระยะเวลาเดินทางให้ลดลงเหลือเพียง 7 ชั่วโมง โครงการนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสูงถึง 800,000 ล้านบาท กำหนดจะใช้เทคโนโลยีธรรมดา ไม่ใช้เทคโนโลยี Maglev ซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังแม่เหล็กแต่อย่างใด เพื่อลดต้นทุน โดยตั้งเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จทันการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าแทบที่จะเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะก่อสร้างแล้วเสร็จทันกำหนดในปี 2551 เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้เปิดประมูลก่อสร้างแต่อย่างใด

 

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มาเลเซียได้ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายสั้นๆ ระยะทาง 56 กม. เชื่อมระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์กับท่าอากาศยานแห่งใหม่ โดยใช้ชื่อว่า Express Rail Link (ERL) ใช้รถไฟฟ้าผลิตโดยบริษัทซีเมนส์ของเยอรมนี การเดินทางใช้เวลาเพียงแค่ 28 นาที เปิดดำเนินการแล้วเมื่อปี 2545 ปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการน้อยมาก เฉลี่ยเพียงแค่วันละ 5,000 คน

 

เดิมมาเลเซียเคยมีดำริว่าควรจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์ ใช้เงินลงทุน 55,000 ล้านบาท จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางลงมาก จากเดิมใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง ให้ลดลงเหลือเพียง 90 นาที อย่างไรก็ตาม ต่อมาคณะรัฐมนตรีของมาเลเซียได้พิจารณาทบทวนและมีมติให้ยกเลิกโครงการเนื่องจากพิจารณาเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายแพงมาก

 

ส่วนประเทศไทยก็เคยมีการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน โดยจ้างบริษัท Wilbur Smith มาทำการศึกษาเมื่อปี 2537 ซึ่งจากการศึกษาพบว่าน่าจะก่อสร้างในเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดระยองมากที่สุด โดยมีระยะทาง 191 กม.

 

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าน่าจะก่อสร้างระบบรถไฟที่ความเร็ว 160 กม./ชั่วโมง เนื่องจากหากความเร็วสูงกว่านี้แล้ว ค่าก่อสร้างจะสูงมาก มีการคำนวณว่าหากเป็นรถไฟ 160 กม./ชั่วโมง จะมีค่าก่อสร้างในขณะนั้นประมาณ 29,600 ล้านบาท โดยการเดินทางจากกรุงเทพถึงชลบุรีจะใช้เวลาเพียง 44 นาที, กรุงเทพถึงพัทยา 68 นาที, และกรุงเทพถึงระยองประมาณ 104 นาที อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้เก็บเข้าลิ้นชักไปตามระเบียบ

 

สุดท้ายนี้ ปัจจุบันเรามีรถไฟความเร็วสูงขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าและพลังแม่เหล็ก แต่ในอนาคตยังมีอีกเทคโนโลยีที่กำลังได้รับการจับตามอง โดยเมื่อเร็วๆ นี้บริษัท Bombardier ได้เปิดตัวรถไฟแบบใหม่ คือ Bombardier JetTrain ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไอพ่นเหมือนกับที่ใช้ในเครื่องบิน สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 240 กม./ชั่วโมง ซึ่งมีข้อดี คือ ไม่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าไปยังตัวรถไฟ

 

จาก หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 12 เม.ย. 2547