 |
รัฐทุ่ม
1.3 แสนล้านบาท
เนรมิตเมืองสุวรรณภูมิ |
|
|
|
"ทักษิณ" เชื่อสนามบินสุวรรณภูมิเสร็จทัน
29 ก.ย.2548 อาสาช่วยจัดหาเหล็ก-ปูน แก้ปัญหาเดือดร้อนผู้รับเหมาสร้างสนามบิน
หวังดันไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค พร้อมอนุมัติ 1.35 แสนล้าน
เนรมิตเมืองศูนย์กลางสนามบินบนเนื้อที่ 5.8 หมื่นไร่ ขณะที่ปรึกษาแนะตั้งบรรษัทการพัฒนาเมืองศูนย์กลาง
บริหารจัดการ ด้านธุรกิจและสาธารณูปโภค
|
|
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
(กทภ.) ว่า หลังจากได้รับรายงานความคืบหน้าการก่อสร้าง และเดินทางมาดูการก่อสร้างด้วยตนเอง
พบว่า ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 48% แต่มีความล่าช้าตามกำหนดเวลาเพียง
2.30% เท่านั้น เนื่องจากช่วงแรกของการก่อสร้างยังมีความชำนาญน้อยในหลายด้าน
เช่น การสร้างหลังคาผ้าใบ ที่อาคารเทียบท่าเครื่องบิน ขณะนี้ก็มีความชำนาญมากขึ้น
ดังนั้น ใน 1-2 เดือน การก่อสร้างทั้งหมดจะเป็นไปตามกำหนด เพราะได้เร่งทีมเข้ามาช่วยกันก่อสร้าง
จึงทำให้การก่อสร้างทั้งหมดจะเสร็จในเดือน มิ.ย.2548 เพื่อทำการทดลองระบบการบินทั้งหมด
และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ก.ย.2548
|
|
นายกฯกล่าวถึงระบบการติดตั้งภายในว่าเมื่อดูการก่อสร้างทั้งหมดแล้วยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนปัญหาวัสดุการก่อสร้างที่มีราคาสูงขึ้น ทั้งเหล็ก และปูนซีเมนต์ นั้น
ก็ไม่น่าจะส่งผลให้งบประมาณสูงเกินที่อนุมัติไว้ ในส่วนของเหล็กรัฐบาลได้ช่วยดูแล
โดยจัดซื้อจากจากต่างประเทศ ในช่วงที่ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการผลิตเหล็กจำนวนมาก
เดินทางมาไทย ได้มีการหารือเพื่อซื้อเหล็กบิลเล็ต เพื่อใช้ในโครงสร้างอาคารของสนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายกับผู้เกี่ยวข้องว่า เมื่อสนามบินเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการต้องแข่งขันกับสนามบินทั่วโลกได้
โดยเฉพาะประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ หากจะเปิดให้เอกชนมาดำเนินการในบางเรื่องต้องเน้นเรื่องคุณภาพของการบริการ
ราคาต้องไม่สูงมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เราสูญเสียศักยภาพการแข่งขันได้
รวมทั้งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันพร้อมปรับทัศนคติใหม่ว่า? ต้องทำได้ ทำเสร็จ?
ไม่ใช่มองอะไรก็เป็นปัญหา
|
|
อนุมัติสร้างเมืองศูนย์กลางสุวรรณภูมิ
5.8 หมื่นไร่ |
|
นอกจากนี้ ที่ประชุมนายกฯได้เห็นชอบการก่อสร้างเมืองรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
ด้วยงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ด้วยระยะเวลาการก่อสร้าง 30 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) จะเป็นหน่วยงานทำการศึกษา เพื่อวางระบบผังเมือง ทั้งเขตที่อยู่อาศัย
อาคารพาณิชย์ และพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีระบบเพื่อกำหนดโซนที่ชัดเจน
เพื่อควบคู่ไปกับการสร้างเมืองใหม่นครนายก
|
|
แหล่งข่าวจากที่ประชุมกล่าวถึงแผนการการก่อสร้างเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ
ว่า จากการศึกษาของคณะที่ปรึกษา ได้กำหนดพื้นที่ไว้ 58,900 ไร่ สำหรับประชากร
350,000 คน เพื่อรองรับการพัฒนาจนถึงปี 2578 โดยแบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
11,000 ไร่ ที่พักอาศัย 12,200 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 2,200 ไร่ สวนสาธารณะ
3,700 ไร่ พื้นที่ถนน 11,700 ไร่ พื้นที่สีเขียว พื้นที่รับน้ำ และพื้นที่สำรอง
18,100 ไร่
|
|
โดยพื้นที่ที่จะพัฒนามี 3 แห่ง
คือ พื้นที่ด้านตะวันออกของท่าอากาศยาน เนื้อที่ 37,000 ไร่ สามารถรองรับประชากรได้
210,000 คน พื้นที่ด้านลาดกระบังตะวันตก เนื้อที่ 6,900 ไร่ รองรับประชากร
60,000 คน และพื้นที่ลาดกระบังตะวันออก เนื้อที่ 15,00 ไร่ รองรับประชากร
80,000 คน
|
|
คณะที่ปรึกษายังได้เสนอให้พัฒนาพื้นที่ด้านตะวันออกของสนามบิน
เป็นโครงการนำร่องพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิระยะแรก เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่
ซึ่งกำหนดให้ย่านใจกลางธุรกิจเมืองใหม่ เป็นพื้นที่ตรงกลางที่ใช้ประโยชน์
สำหรับศูนย์กลางธุรกิจและบริการสมัยใหม่ ประกอบด้วย ธุรกิจด้านการเงินระหว่างประเทศ
เพื่อรองรับการเติบโตของท่าอากาศยานในอนาคต ส่วนพื้นที่พาณิชยกรรมและบันเทิงอยู่ด้านตะวันออก
เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม การพักผ่อน
|
|
อย่างไรก็ตาม คณะที่ปรึกษายังได้การใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
โดยกำหนดความหนาแน่นการพัฒนาต่อพื้นที่ และเห็นควรพัฒนาจัดตั้งองค์กรเฉพาะ
เช่น "บรรษัทการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ" เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ
ด้านธุรกิจ และสาธารณูปโภค
|
|
ทุ่ม 1.35 แสนล้านบาท เนรมิตสุวรรณภูมิ
|
|
สำหรับเงินลงทุนที่กำหนดไว้เบื้องต้นจำนวน
135,168 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการระบบคมนาคมขนส่ง จำนวน 60,321 ล้านบาท
เพื่อใช้ในการลงทุน 5 โครงการ เริ่มตั้งแต่ปี 2549-2578 คือ 1) การก่อสร้างทางพิเศษสุวรรณภูมิ
เชื่อมศูนย์กลางของ กทม.กับท่าอากาศยาน ทางพิเศษยกระดับเชื่อมศูนย์กลางธุรกิจใน
กทม.บริเวณถนนพระราม 4 กับทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เข้าสู่ทางอากาศยานสุวรรณภูมิ
2) เส้นทางรถบรรทุกเข้าสนามบิน 2 เส้นทาง 3) ถนนสายหลักเป็นรูปแบบของตารางกริด
แนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันตก-ตะวันออก 4) ถนนสายรอง แนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันตก-ตะวันออก
5) ระบบขนส่งสาธารณะ
|
|
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งงบประมาณเพื่อระบบป้องกันน้ำท่วมอีก
56,485 ล้านบาท เพื่อขุดอุโมงค์ระบายน้ำ ค่าก่อสร้าง 8,045 ล้านบาท ปรับปรุงคลองที่อยู่เหนือคลองสำโรง
ปรับปรุงเพิ่มความจุคลองพระองค์ไชยานุชิดและคลองด่าน เป็นต้น เพื่อการประปาจำนวน
7,778 ล้านบาท ระบบไฟฟ้า 3,388 ล้านบาท ระบบโทรศัพท์ 1,705 ล้านบาท การจัดการน้ำเสีย
จำนวน 3,316 ล้านบาท และการจัดการขยะมูลฝอยอีกจำนวน 2,355 ล้านบาท
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การลงทุนในโครงการต่างๆ ได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ
10 ปี โดยในช่วง 10 ปีแรก คือ ปี 2549-2558 ต้องใช้เงินลงทุนรวม 95,024 ล้านบาท
คิดเป็น 70.3% ของเงินลงทุนทั้งหมด ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3 จะต้องใช้เงินลงทุนรวม
21,181 ล้านบาท และ 18,963 ล้านบาท ตามลำดับ
|
|
เอไอจี สนลงทุนเมกะโพรเจกต์เมืองไทย
|
|
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า
นายเมอริช อาร์ กรีนเบอร์ก ปราธานบริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป
(เอไอจี) ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมของไทย
ประธานบริษัท ไออีจี ได้แสดงความชื่นชมในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของไทย
และยืนยันจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลงทุนในไทยในระยะยาว พร้อมขอให้รัฐบาลไทย
พิจารณาเปิดสาขาบริษัท เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
|
|
นายกฯ ระบุไทยศูนย์กลางเอเชีย
เหมาะลงทุน
|
|
ขณะที่นายกฯ แสดงความมั่นใจว่า หลังจากไทยและสหรัฐ
จัดทำเขตการค้าเสรี ระหว่าง 2 ประเทศแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของ
2 ประเทศมีมากขึ้น และด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง
เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่เติบโตทางเศรษฐกิจมาก คาดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้า
ไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6-8%
นอกจากนี้นายกฯ ยังได้กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว
เขมร พม่า และเวียตนาม ให้ประธานบริษัท เอไอจีรับทราบ โดยระบุว่า ประเทศเหล่านี้จะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของนักลงทุนต่างประเทศในอนาคต
โดยไทยพร้อมสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในอนุภูมิภาคนี้ด้วย
|
|
จาก กรุงเทพธุรกิจ 26 มี.ค. 2547
|