คณะกรรมการบริหารการพัฒนา
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ.)

ครั้งที่ กทภ. 2 / 2547
วันที่ 5 ส.ค. 2547

The Suvarnabhumi Airport Development Committee

 
 

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธาน การประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้งที่ กทภ. 2/2547 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2547 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร โดยเริ่มประชุมเวลา 10.15 น. มีระเบียบวาระการประชุม เรื่องเพื่อทราบ จำนวน 10 เรื่อง และเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 3 เรื่อง ดังรายละเอียดการประชุมดังนี้

1. ประธานกรรมการ กทภ. ได้กล่าวต่อที่ประชุม โดยขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในงานพัฒนาสนามบิน สุวรรณภูมิทุกฝ่าย ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่จนได้ผลงานก่อสร้างก้าวหน้ามาโดยลำดับ อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิอยู่หลายเรื่อง จึงขอให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบนำไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป ดังต่อไปนี้

(1) ทางเข้าสนามบิน ด้านทิศใต้ที่กรมทางหลวงก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยแยกออกจากทางหลวงบางนา-บางปะกง ซึ่งพบว่า มีช่องจราจรบนทางหลักเพียง 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง แต่มีช่องจราจรในทางคู่ขนานอีกข้างละ 2 ช่องจราจร รวมทั้งหมดเป็นถนน 8 ช่องจราจรในสองทิศทาง ซึ่งน่าจะไม่พอเพียงสำหรับรองรับการเดินทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเริ่มเปิดให้บริการสนามบิน

(2) การใช้วัสดุสีท่อระบายน้ำจากผิวสะพานของชุมทางต่างระดับซึ่งก่อสร้างข้ามถนนบางนา-บางปะกง เข้าสนามบินด้านใต้ ปรากฏว่ามีการก่อสร้างโดยใช้ท่อพลาสติกสีฟ้าที่ฉูดฉาดเป็นท่อระบายน้ำจำนวนมาก สำหรับระบายน้ำจากสะพานข้ามทางแยกลงสู่พื้นล่าง ทำให้เห็นภาพไม่สวยงามเมื่อขับรถผ่านเข้าไปใต้บริเวณชุมทางต่างระดับ

(3) สมควรหรือไม่ที่จะมีทางเชื่อมโดยตรงจากทางด่วนบูรพาวิถีของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเข้า-ออกสนามบินด้านทิศใต้ ทั้งนี้เพราะจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารเครื่องบินที่ใช้ทางด่วนได้เป็นอย่างดี

(4) การปลูกต้นไม้ตลอดแนวถนนทางเข้าสนามบินด้านใต้ ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเท่าที่ควร ทั้งที่ขณะนี้ควรจะเห็นต้นไม้โตปกคลุมตลอดแนวเส้นทางแล้ว จึงขอให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) รับไปกำกับดูแลต่อไป

(5) เรื่องที่ได้มอบหมายให้บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ในการประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่แล้ว เพื่อไปพิจารณาว่าควรจะเริ่มก่อสร้างถมทรายบริเวณที่จะใช้เป็นทางวิ่งที่สามของสนามบินเสียตั้งแต่ในขณะนี้หรือไม่ เพราะหากรอไว้เพื่อไปก่อสร้างทีหลังระหว่างเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองหรือเศษหินอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถมทรายที่รบกวนการมองเห็นของนักบิน หรือเกิดความไม่ปลอดภัยในการขึ้นลงของเครื่องบินได้ เรื่องต่อไปคือเรื่องอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบิน ซึ่งควรจะคืบหน้าตามแผนมากกว่านี้ แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างยังล่าช้าอยู่พอสมควร จึงใคร่ขอเสนอเป็นหลักเกณฑ์ปฏิบัติว่า หากบริษัทผู้รับเหมากลุ่มใดก่อสร้างโครงการสนามบินสุวรรณภูมิล่าช้ากว่าแผนเกินร้อยละ 7.5 จะไม่อนุญาตให้บริษัทกลุ่มนั้นเข้าประมูลงานก่อสร้างของภาครัฐที่จะประกวดราคากันต่อไปทุกงาน ทั้งนี้เพื่อเตือนให้บริษัท ผู้รับเหมาเหล่านั้นทุ่มเททรัพยากรที่มีทั้งหมดให้แก่งานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพราะขณะนี้หากงานก่อสร้างใดที่ล่าช้ากว่าแผนและบริษัทผู้รับเหมามีการทุ่มเททรัพยากร ให้แก่การก่อสร้างอย่างแท้จริง ก็จะยังสามารถก่อสร้างโครงการให้เสร็จทันตามกำหนดได้ สำหรับเรื่องสุดท้าย ได้แก่การที่บริษัทผู้รับเหมาญี่ปุ่นได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยว่า โครงการก่อสร้างหลายโครงการของสนามบิน สุวรรณภูมิ ยังมีปัญหาและก่อให้เกิดความล่าช้าแก่การทำงานของบริษัทผู้รับเหมา โดยเฉพาะโครงการหอควบคุมการบินของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาคาดว่าอาจจะก่อสร้างเสร็จไม่ทันตามกำหนดในสัญญา จึงขอให้ผู้รับผิดชอบในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกท่านรับไปดำเนินการโดยด่วนต่อไป

2. ที่ประชุม กทภ. รับทราบเรื่องต่างๆ 10 เรื่อง ดังต่อไปนี้

2.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รายงานผลการดำเนินงานพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

2.2 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ กทภ.1/2547 (25 มี.ค. 2547) เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2547 อนุมัติตามมติ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 1/2547 รวม 4 เรื่อง ได้แก่ (1) การวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Aerotropolis) (2) โครงการที่จอดรถภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและการให้เอกชนเป็นผู้รับสัมปทานบริหารที่จอดรถ (3) งบประมาณเพิ่มเติมโครงการจัดหาอุปกรณ์บริการจราจรทางอากาศ และหอบังคับการบินพร้อมอาคารสำนักงาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ (4) โครงการก่อสร้างสถานีแปลงไฟฟ้าสถาีนีที่ี่ 2 ของ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

2.3 โครงการก่อสร้างระบบรถไฟด่วนโดยสาร สายพญาไท – มักกะสัน – สนามบินสุวรรณภูมิ โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการก่อสร้าง โครงการรถไฟด่วนเพื่อการโดยสาร เป็นระบบรถไฟที่มีความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูม ิและกำหนดให้มีพื้นที่ภายในสถานีที่มักกะสัน / อโศก ซึ่งผู้โดยสารเครื่องบินสามารถตรวจเช็คบัตรโดยสาร และส่งกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่องบิน หรือรับกระเป๋าสัมภาระภายหลังลงจากเครื่องบิน วงเงินลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง รฟท. จะว่าจ้างเอกชนเป็นผู้ก่อสร้าง แล้วรัฐจะจ่ายค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายทางการเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนเอกชนภายหลังก่อสร้างเสร็จ หรือรัฐอาจจ่ายก่อนการก่อสร้างแล้วเสร็จ หากรัฐสามารถระดมเงินลงทุนของโครงการได้ก่อน

2.4 คณะกรรมการเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ กระทรวงคมนาคม เสร็จสิ้นภารกิจ

2.5 การใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ภายหลังวันที่ 29 กันยายน 2548

2.6 ผลการหารือเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

2.7 มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ

2.8 การศึกษาความเหมาะสมสำหรับโครงการศูนย์ลอจิสติกส์ในจังหวัดสมุทรปราการ

2.9 ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

2.10 ผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. ที่ประชุมได้ชมวีดิทัศน์แสดงความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างทุกโครงการของหน่วยงานในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นเวลา 15 นาที << ชมวีดิทัศน์ความก้าวหน้าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ณ มิ.ย. 2547 >>

4. สำหรับการประชุม กทภ. ครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติในวาระต่างๆ ดังต่อไปนี้

4.1 งบลงทุนเพิ่มเติมโครงการลงทุน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

อนุมัติงบลงทุนเพิ่มเติมโครงการลงทุนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับงบประมาณปี 2547/48 – 2548/49 จำนวน 1,363.81 ล้านบาท ตามที่บร ิษัทเสนอมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คงความเป็นผู้นำด้านการให้บริการแก่ผู้โดยสารเมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก

4.2 โครงการก่อสร้างศูนย์รถโดยสารในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

(1) อนุมัติงบลงทุนปีงบประมาณ 2548 เพิ่มเติมให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด เพื่อลงทุนก่อสร้างศูนย์รถโดยสารปรับอากาศที่ทันสมัยได้มาตรฐานทัดเทียมกับสถานีรถโดยสารของสนามบินในต่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีวงเงินลงทุน 308.6 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นเงินจากส่วนของผู้ถือหุ้น

(2) ให้ความเห็นชอบในหลักการของระบบเส้นทางเดินรถโดยสารปรับอากาศมวลชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำหรับให้บริการแก่พนักงานที่ทำงานในสนามบินและแก่ประชาชนทั่วไปที่จะเดินทางเข้าออกทำธุรกิจที่สนามบินสุวรรณภูมิตามที่เสนอมา ทั้งนี้ขอให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พิจารณาจัดเส้นทางเดินรถโดยสารปรับอากาศมวลชนเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟด่วนสายพญาไท – มักกะสัน – สนามบินสุวรรณภูมิ ที่บริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน / อโศก ในโครงการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างไว้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเครื่องบินที่สถานีรถไฟด้วย

4.3 การเตรียมการเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินทางเข้าสนามบินด้านใต้เพิ่มเติมของ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

เห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ประสานกับ กรมทางหลวง เพื่อดำเนินการจัดหาที่ดินบริเวณทางเข้าอาคารผู้โดยสารด้านใต้ของสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มเติม โดยใช้เงินจากส่วนของผู้ถือหุ้นของ บทม. และให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานดำเนินการสำรวจและจัดหาที่ดินดังกล่าวเพื่อมอบให้แก่ บทม. ต่อไป

4.3 การจัดตั้งสถานีตำรวจสนามบินสุวรรณภูมิ

(1) เห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) จัดพื้นที่ห้องพักสำหรับใช้นั่งพักผ่อนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

(2) อนุมัติในหลักการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อสร้างโครงการสถานีตำรวจในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนโดยใช้พื้นที่ซึ่ง บทม. จะกำหนดให้ และใช้เงินลงทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้นของ บทม. ทั้งนี้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำความตกลงในเรื่องรูปแบบและโครงสร้างอาคารสถานีตำรวจโดยประสานกับ บทม. ต่อไป

และที่ประชุมมีเรื่องเพื่อหารือ ดังต่อไปนี้

(1) เรื่องการขออนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ก่อสร้างถมทรายเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับพื้นที่ซึ่งจะก่อสร้างทางวิ่งที่สามด้านฝั่งตะวันตก ตลอดจนถมทรายที่จอดเครื่องบินของอาคารเทียบเครื่องบินรอง (Midfield Concourse)

เป็นเรื่องที่ประธานกรรมการ กทภ. ได้มีดำริไว้เมื่อการประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่แล้วในวันที่ 25 มีนาคม 2547 ทั้งนี้ เรื่องแรกคือการดำเนินโครงการถมทรายของพื้นที่สำหรับใช้เป็นทางวิ่งที่สามและที่จอดเครื่องบินอาคารเทียบเครื่องบินรองนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อรอให้ทรายทรุดตัวแน่นประมาณ 2 ปี จึงควรรีบดำเนินการเสียแต่บัดนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านทัศนวิสัยของนักบินและด้านความปลอดภัยของเครื่องบินเมื่อเริ่มเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ประมาณการเบื้องต้นค่าก่อสร้างเพื่อถมทรายทางวิ่งที่สาม เป็นเงิน 2,800 ล้านบาท และค่าถมทรายที่จอดเครื่องบินของอาคารเทียบเครื่องบินรอง เป็นเงิน 2,860 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนประมาณ 5,660 ล้านบาท แต่เนื่องจากในวันนี้ยังไม่ได้เสนอเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นทางกระทรวงคมนาคมจะรีบเสนอเรื่องนี้ผ่านตามขั้นตอนของบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่ 28 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีที่สนามบินสุวรรณภูมิต่อไป ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการที่จะก่อสร้างโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงคมนาคม

(2) เรื่องการก่อสร้างทางเข้าสนามบินด้านใต้ต่อเชื่อมโดยตรงกับทางพิเศษบูรพาวิถีของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริเวณกิโลเมตรที่ 15 + 100 ของทางหลวงสายบางนา – บางปะกง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยขอเสนอก่อสร้างทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถี ที่กิโลเมตร 15 + 100 บนทางหลวงสายบางนา – บางปะกง มูลค่าโครงการประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อเชื่อมกับถนนระดับดินของกรมทางหลวงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จบริเวณด้านใต้สนามบิน จากนั้นจะใช้ถนนระดับดินของกรมทางหลวงเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้แบบก่อสร้างได้ดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว หากได้รับความเห็นชอบจะสามารถดำเนินการได้ทันที จึงขอให้ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยดังกล่าว

ประธานกรรมการ กทภ. มีความเห็นสรุปได้ว่า ทางเข้าสนามบินด้านใต้จำเป็นต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ผู้โดยสารสนามบินสามารถเข้าสู่สนามบินได้ทั้งจากทิศเหนือและทิศใต้ โดยการออกแบบจะต้องมีความสง่างามสมกับที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นสนามบินขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งใหม่ของโลก ซึ่งทางเข้าสนามบินที่โอ่อ่า สวยงาม และกว้างขวางจะเป็นสิ่งประทับใจประการแรกสำหรับผู้เดินทางด้วยเครื่องบิน จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการด้วย

กรรมการและเลขานุการเสนอความเห็นต่อที่ประชุมสรุปได้ว่า โครงการทางขึ้น-ลงจากทางพิเศษบูรพาวิถี จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ทางด่วนของการทางพิเศษฯ เพื่อเข้าสนามบินด้านทิศใต้ ดังนั้นจะขอรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วรีบนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 28 กันยายน 2547 ซึ่งจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิต่อไป ทั้งนี้จะยึดหลักการที่ประธานกรรมการ กทภ. ได้กำหนดแนวทางไว้ เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความสง่างาม ทันสมัยและเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องอื่นๆ อีกดังต่อไปนี้

1. อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการ กทภ. เสนอข้อคิดเห็นต่อที่ประชุม สรุปว่า

(1) การทำวาระการประชุม ควรจัดให้มีเรื่องสืบเนื่องเพื่อพิจารณาไว้ก่อนวาระเรื่องเพื่อทราบ เพื่อให้ที่ประชุมสามารถติดตามผลการดำเนินงานของเรื่องที่ประธานกรรมการ กทภ. หรือเรื่องซึ่งที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานรับไปดำเนินการ ทั้งนี้ประธานกรรมการ กทภ. เห็นด้วยกับข้อเสนอ โดยหากการประชุมครั้งใดมีเรื่องสืบเนื่องเพื่อพิจารณาก็ขอให้เพิ่มวาระนี้ไว้ด้วย

(2) ควรให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท หารือเพื่อเชื่อมต่อถนนที่ยังขาดช่วงในโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรมทางหลวงชนบท บริเวณพระประแดงกับทางวงแหวนรอบนอกของกรมทางหลวง ซึ่งมีระยะทางขาดช่วงอยู่ประมาณ 600 เมตร ตามที่ได้เคยเสนอไว้ในการประชุมเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ได้รับการชี้แจงจากผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรว่าได้ดำเนินการประสานเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างโครงการของกรมทางหลวงชนบทกับโครงการของกรมทางหลวง เป็นถนนระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย

2. อัยการสูงสุดเสนอข้อสังเกตต่อที่ประชุมสรุปว่า ตามที่ประธานกรรมการ กทภ. ได้กล่าวไว้ในระเบียบวาระที่ 3.5 เรื่องผลการหารือเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และระเบียบวาระที่ 3.6 เรื่องมาตรการควบคุมการใช้ที่ดินบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมินั้น จะเห็นได้ว่า ภาครัฐได้ออกมาตรการบางอย่างซึ่งรอนสิทธิประชาชนในบางเรื่อง ดังนั้นภาครัฐจึงน่าจะมีมาตรการเพื่อชดเชยการรอนสิทธิที่กระทบต่อประชาชนควบคู่ไปด้วย ดังที่ประธานกรรมการ กทภ. ได้กล่าวว่า ในหลักการขอให้หน่วยงานดำเนินแผนงานซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการด้วย

ปิดประชุมเวลา 12.15 น.

 

- วีดิทัศน์ความก้าวหน้าการก่อสร้างภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ เดือน มิ.ย. 2547
- รูปภาพบรรยากาศการประชุม กทภ. ครั้งที่ กทภ. 2/2547 วันที่ 5 ส.ค. 2547