กว่าจะเป็น ......
สนามบิน สุวรรณภูมิ

 

       
 
 
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีประวัติความเป็นมาจนถึงปัจจุบัน สรุปตามลำดับพัฒนาการได้ดังนี้
ปี 2503

รัฐบาลไทยว่าจ้างบริษัท Litchfield Whiting Bowne and Associate ศึกษาและวางผังเมืองกรุงเทพฯ ผลการศึกษามีข้อเสนอให้ภาคมหานครของไทยเตรียมจัดให้มีสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ ซึ่งจะแยกเป็นสัดส่วนจากสนามบินทหารที่ดอนเมือง โดยให้สนามบินใหม่มีระยะห่างจากใจกลางเมืองและทิศทางที่เหมาะสมกับการขึ้นลงของเครื่องบินระหว่างสนามบินใหม่กับสนามบินดอนเมืองด้วย

ปี 2504

กระทรวงคมนาคมได้ศึกษาเปรียบเทียบสถานที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่หลายบริเวณ และเห็นว่าบริเวณพื้นที่ตำบลบางโฉลง ตำบลราชาเทวะ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่ โดยจะอยู่ห่างจากสนามบินดอนเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามระยะเส้นตรงประมาณ 29 กิโลเมตร

ปี 2506-2516

กรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมได้จัดหาที่ดินท่าอากาศยานแห่งใหม่ โดยจัดซื้อและเวนคืนที่ดินประมาณ 20,000 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่สนามบินดอนเมืองราว 6 เท่า และจะสามารถรองรับการจราจรของเครื่องบินสำหรับมหานครได้ไม่น้อยกว่า 60 ปีหลังจากการเปิดใช้งาน

ปี 2521

กระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างบริษัท Tippets Abbott Mocarthy Aviation ศึกษาทบทวนความเหมาะสมในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่อีกครั้ง ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีท่าอากาศยานแห่งใหม่รองรับภาคมหานคร เพราะสนามบินดอนเมืองมีพื้นที่จำกัด และผลศึกษายังคงยืนยันว่าบริเวณพื้นที่คลองหนองงูเห่า อำเภอบางพลี สมุทรปราการ เหมาะสมที่สุด

 

บริษัท TAMS ได้ทบทวนผลการศึกษาเรื่องการก่อสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ โดยพิจารณาคัดเลือกสถานที่ที่มีความเหมาะสมในเบื้องต้น 7 แห่ง ได้แก่

    1. อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เขตต่อกับจังหวัดนครปฐม
    2. อำเภอลาดหลุมแก้วและลาดบัวหลวง เขตจังหวัดปทุมธานีต่อกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    3. สนามบินดอนเมือง
    4. เขตหนองจอก กทม.
    5. บริเวณหนองงูเห่า
    6. อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และ
    7. อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ปี 2530

ศึกษาของคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภาเสนอว่าควรมีท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่ และเห็นควรให้มีการสงวนที่ดินบริเวณหนองงูเห่าไว้ตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่

ปี 2533

การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา Louis Berger International ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบท่าอากาศยานทั่วประเทศ (Airport System Master Plan Study) เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแนวทางการพัฒนาสนามบินของไทยในระยะยาว ผลการศึกษาในส่วนเกี่ยวกับท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่ สรุปว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองจะถึงจุดอิ่มตัวในปี 2543 และหากไม่มีท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ซึ่งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้รายงานผลการศึกษาดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาถึงความจำเป็นต้องก่อสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ เพื่อเป็นสนามบินพาณิชย์หลักของภาคมหานคร

7 พ.ค. 2534

ครม. ได้มีมติอนุมัติให้มีการก่อสร้างโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมอบหมายให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ และเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2535 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา General Engineering Consultants (GEC), กลุ่ม Netherlands Airport Consultants B.V. (NACO), Louis Berger International Inc., Design 103 Co., Ltd, Asian Engineering Consultants Corp., Ltd., Index International Group Co,. Ltd., และ TEAM Consulting Engineer Co., Ltd. มาทำการศึกษาเพื่อวางแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา ออกแบบเบื้องต้น และควบคุมการออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม ตลอดจนช่วยบริหารงานก่อสร้าง ในวงเงินประมาณ 914 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี 6 เดือน โดยกำหนดเปิดใช้ท่าอากาศยานแห่งใหม่ในปี 2543

25 ส.ค. 2535

ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณประมาณ 80 ล้านบาท ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการพื้นฐาน รองรับการเชื่อมต่อโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 โดยเริ่มงานในปีงประมาณ 2536

15 ก.ย. 2535

ประกาศใช้ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 พ.ศ. 2535" ซึ่งกำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับการบริหารไว้ดังนี้

 

ให้มีคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 (กทก.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน (พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน รองเลขาธิการ หรือ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการฯ

 

ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 (สกท.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กทก.

คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ รวม 6 ชุด และคณะทำงานเฉพาะกิจ 1 ชุด ได้แก่

    • คณะอนุกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 มีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
    • คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการพื้นฐาน สำหรับรองรับเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 มีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน
    • คณะอนุกรรมการประสานการโยกย้าย และกำหนดเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 และโครงข่ายบริการพื้นฐาน มีอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ เป็นประธาน
    • คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 และโครงข่ายบริการพื้นฐาน มีผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นประธาน
    • คณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 และโครงข่ายพื้นฐาน มีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
    • คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับรูปแบบอาคารอันเป็นสัญญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย มีนายวทัญญู ณ ถลาง เป็นประธาน
    • คณะทำงานเฉพาะกิจพิจารณาระบบระบายน้ำ และป้องกันน้ำท่วมในทุ่งฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร มีผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เป็นประธาน
7 พ. ค. 2538

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ก่อสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ที่ตำำบลบางโฉลง ตำบลราชาเทวะ และ ตำบลหนองปรือ จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็นผู้รับผิดชอบ

16 พ. ค. 2538

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ใช้ชื่อว่า บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 10,000 ล้านบาท มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม

31 พ. ค. 2538

กระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 76/2538 วันที่ 31 พ.ค. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัด โดยมีรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง (นางมณีมัย วุฒิธรเนติลักษณ์) เป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานฯ ร่วมกันพิจารณาให้บริษัทจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้น มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10,000 ล้านบาท จำนวนหุ้น 100 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท และให้ใช้ชื่อว่า "บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งใหม่ จำกัด" หรือ "New Bangkok International Airport Limited" กทก. ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2538 กำหนดให้โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทฯ ควรมี 7-15 คน สำหรับประธานกรรมการให้พิจารณาได้ 3 ทางเลือก ได้แก่ 1) ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ 2) ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ และ 3) เอกชนเป็นประธานกรรมการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สำหรับตำแห่งกรรมการผู้จัดการก็เป็นเอกชนเช่นเดียวกัน

7 ธ.ค. 2539

บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ได้รับการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีกระทรวงการคลังและการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้น

27 ก.พ. 2539

บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ได้มีการจัดตั้งขึ้น มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 10,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลัง และ ทอท. ถือหุ้นร้อยละ 51.39 และ 48.61 ตามลำดับ

21 ก.ค. 2541

คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ บทม. ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ให้มีีทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี โดยมีงบลงทุน 120,000 ล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบให้เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการท่าอากาศยาน

ปี 2543

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เป็นชื่อ ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่

29 ก.ย. 2548

กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 29 กันยายน 2548 ซึ่งเมื่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการแล้ว ก็จะโยกย้ายกิจกรรมด้านการพาณิชย์ทั้งหมดจากสนามบินดอนเมืองไปที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองจะใช้เฉพาะในกิจการของกองทัพอากาศ ตลอดจนการบินพาณิชย์เฉพาะเครื่องบินเที่ยวพิเศษเช่าเหมาลำ เครื่องบินส่วนบุคคล (General Aviation) และเครื่องบินสินค้าทั้งลำต่อไป