บทบาทสนามบินต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

   
 

   
ประวัติการบินของโลก
   
 

เมื่อ 220 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2326) มนุษย์ได้เริ่มทดลองใช้บอลลูนเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสเพื่อการเดินทางไปในอากาศ พร้อมกับฝันว่าสักวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถประดิษฐ์เครื่องจักรที่หนักกว่าอากาศที่สามารถเคลื่อนที่ไปในอากาศโดยมีการควบคุมทิศทางได้ ความฝันดังกล่าวเริ่มเป็นจริงเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2446 หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เมื่อพี่น้องตระกูล Wright ในรัฐนอร์ธคาโรไลนา สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองบังคับเครื่องจักรที่มีเครื่องยนต์ 4 สูบ ที่ต่อมาเรียกว่า “เครื่องบิน” ให้เคลื่อนตัวลอยอยู่ในอากาศได้ 12 วินาที และเคลื่อนที่ไปได้ระยะทาง 30 เมตร เครื่องบินเครื่องแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ สามารถบินได้ด้วยความเร็ว 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นเป็นต้นมามนุษย์ได้พัฒนาเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น บินได้รวดเร็วขึ้น และบรรทุกสัมภาระได้หนักมากขึ้น ตลอดจนพร้อมที่จะใช้งานได้ในทุกรูปแบบทั้งยามสงครามและยามสงบ ปัจจุบันเครื่องบินพาณิชย์ที่เคยใช้งานสามารถบินได้ด้วยความเร็วถึง 2,180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าความเร็วเสียงประมาณ 2 เท่า และเครื่องบินจารกรรมทางทหารสามารถบินได้ด้วยความเร็วระดับ 3,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้การเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าเพื่อการพาณิชย์ในปัจจุบันสามารถจะไปถึงทุกบริเวณในโลกในเวลาเพียง 1 วัน (ระยะที่จะเดินทางไกลที่สุดคือครึ่งเส้นรอบวงของผิวโลกซึ่งยาวประมาณ 20,000 กิโลเมตร) นับเป็นการปฏิวัติวิถีชีวิตการเดินทางของมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในโลกนับแสนปีลงอย่างสิ้นเชิงด้วยการพัฒนาในช่วงเวลาเพียงหนึ่งร้อยปี และเครื่องบินได้มีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเล ซึ่งสามารถใช้เรือเดินทะเลไปทั่วโลกได้สะดวกหรือประเทศที่เป็นขุนเขาอยู่ตอนในของทวีป ซึ่งจะเดินทางสู่ภายนอกประเทศได้เฉพาะทางอากาศ สถิติปัจจุบันพบว่าในปีหนึ่งๆ จะมีผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลกกว่า 1,300 ล้านคน

 

เมื่อเริ่มแรกที่มนุษย์ประดิษฐ์เครื่องบินนั้น ในช่วงแรกมนุษย์ยังไม่แน่ใจนักว่าจะใช้ประโยชน์ของเครื่องบินได้มากน้อยเพียงไร (เช่นเดียวกับมนุษย์ประดิษฐ์เครื่องคำนวณด้วยไฟฟ้าหรือคอมพิวเตอร์ โดยช่วงแรกก็ยังไม่แน่ใจว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงไรเช่นกัน) จนกระทั่งปี พ.ศ. 2470 หรือ 24 ปีหลังจากมนุษย์ประดิษฐ์เครื่องบิน อังกฤษจึงเป็นชาติแรกที่ใช้เครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ โดยบินจากลอนดอนไปไคโร อัฟริกาใต้ และอินเดีย ส่วนใหญ่จะเป็นการรับส่งไปรษณียภัณฑ์ โดยมีความเร็วเครื่องบิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมา พ.ศ. 2479 เริ่มพัฒนาการมากขึ้น โดยใช้เครื่องบิน DC-3 มี 32 ที่นั่ง และมีพนักงานโฮสเตสบริการบนเครื่องบินโดยโฮสเตสจะแต่งชุดพยาบาลสีขาว พัฒนาการได้ดำเนินมาโดยลำดับ โดยมีการนำเครื่องบินไอพ่นมาใช้งานแทนเครื่องบินใบพัด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2512 อังกฤษ และฝรั่งเศสได้ร่วมกันนำเครื่องบินคองคอร์ด ซึ่งมีความเร็วสูงกว่าเสียงประมาณ 2 เท่ามาให้บริการเป็นครั้งแรก และเพิ่งหยุดให้บริการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 นี้เอง เนื่องจากเครื่องบินคองคอร์ดไม่ทำกำไรในเชิงพาณิชย์ เพราะมีต้นทุนบริการที่สูงกว่าเครื่องบินทั่วไปมาก

  การพัฒนาสนามบิน
 

 

การพัฒนาสนามบินเป็นสิ่งที่จำเป็นตามมาควบคู่กับการพัฒนาสมรรถนะของเครื่องบิน ทั้งนี้ ในยุคต้นๆ หลังจากเริ่มมีเครื่องบิน สนามบินจะเป็นเพียงแค่ลานดินเรียบขนาดกว้างใหญ่ เพื่อให้เครื่องบินขึ้นลงได้เท่านั้น โดยยังไม่มีอุปกรณ์การบินและอาคารอำนวยความสะดวกอื่นๆ และบางครั้งได้ใช้เครื่องบินที่สามารถขึ้นลงได้บนผืนน้ำในแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเลเพื่อลดภาระการลงทุนก่อสร้างสนามบิน ปัจจุบันสนามบินได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก เพื่อให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวได้ว่าปัจจุบันสนามบินในทุกประเทศถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเมืองที่มีชุมชนเกินกว่า 500,000 คนขึ้นไป และเมืองหลายเมืองมีสนามบินรองรับมากกว่า 1 สนามบิน ซึ่งแนวคิดสมัยใหม่ในทุกประเทศจึงมุ่งพัฒนาให้สนามบินเป็นที่รวมความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ในขณะเดินทาง โดยมีทั้งที่กิน ที่นอน แหล่งบันเทิง และแหล่งสันทนาการ/กีฬาไปพร้อมกัน

 

1. สนามบินในสหรัฐอเมริกา

 

สหรัฐอเมริกานับเป็นประเทศที่มีการพัฒนาสนามบินและใช้ประโยชน์จากการบินมากที่สุดในโลก สถิติในปี พ.ศ. 2525 พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีสนามบินรวมทั้งสิ้น 15,831 สนามบิน โดยเป็นสนามบินของรัฐ/เมือง จำนวน 4,805 สนามบิน เป็นสนามบินเอกชนแต่เปิดให้เครื่องบินทั่วไปใช้ จำนวน 1,970 สนามบิน และเป็นสนามบินเอกชนสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคลจำนวน 9,056 สนามบิน ซึ่งจำนวนสนามบินดังกล่าวในสหรัฐอมริกาเกือบเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนสนามบินที่มีทั่วโลก สนามบินในสหรัฐอเมริกามีตั้งแต่ขนาดเล็กที่ไม่ได้ปูผิวอัสฟัลต์ สำหรับใช้กับเครื่องบินส่วนตัวเพียงไม่กี่ลำ ไปจนถึงสนามบินขนาดเครื่องบินขึ้นลงมากกว่าวันละ 2,400 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุกๆ ครึ่งนาที ทั้งนี้ ในปี 2525 จำนวนเครื่องบินพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกามีจำนวน 4,074 ลำ และมีเครื่องบินส่วนบุคคลจำนวน 209,799 ลำ ในเชิงสถิติจึงสามารถกล่าวได้ว่ากว่า 1 ใน 3 ของการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่มีอยู่ในโลกทั้งหมดเกิดขึ้นอยู่ภายในประเทศสหรัฐอมริกา

 

2. สนามบินในประเทศไทย

 

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาสนามบินถือได้ว่ามีการพัฒนาทัดเทียมบ่าเทียมไหล่กับประเทศทั่วโลก โดยได้มีเครื่องบินเริ่มเข้ามาบินโชว์เป็นครั้งแรกตอนต้นสมัยรัชกาลที่ 6 กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2454 ฝรั่งชาวเบลเยี่ยมได้นำเครื่องบินมาขึ้นลงที่สนามม้าปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เรียบสามารถทำเป็นทางวิ่ง (Runway) ของเครื่องบินได้โดยมีความยาวทางวิ่ง 300-400 เมตร จึงนับเป็นสนามบินแห่งแรกของไทย จากนั้นกิจการบินของไทยก็ได้เริ่มพัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ ดังนี้

 

พ.ศ. 2456 กระทรวงกลาโหมจัดตั้ง “แผนกการบินทหารบก” ขึ้นโดยใช้ทางวิ่งของสนามม้าปทุมวัน ซึ่งต่อมาพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ลุ่มน้ำขังมีข้อจำกัดทางกายภาพ จึงมีความคิดจะสร้างสนามบินใหม่เป็นการถาวรขึ้น

 

พ.ศ. 2457 รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมเกียกกายทหารบก ก่อสร้างสนามบินที่บริเวณดอนเมือง ซึ่งดินธรรมชาติมีระดับสูง น้ำท่วมไม่ถึง สำหรับเป็นสนามบินถาวรรองรับกรุงเทพมหานคร แล้วยกฐานะแผนกการบินทหารบกขึ้นเป็น “กองบินทหารบก” นับจนถึงปัจจุบันสนามบินดอนเมืองจึงมีอายุ 89 ปี นับแต่เริ่มก่อสร้าง

 

พ.ศ. 2462 ประเทศไทยเริ่มใช้เครื่องบินเพื่อการพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยใช้ขนไปรษณียภัณฑ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา

 

พ.ศ. 2464 มีการยกฐานะกองบินทหารบกเป็น “กรมอากาศยาน” ขึ้นกับเสนาธิการทหารบก มีเครื่องบินขนไปรษณียภัณฑ์ระหว่างกรุงเทพฯ-โคราช-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ซึ่งต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมทหารอากาศ”

 

พ.ศ. 2473 สายการบิน KLM ของประเทศเนเธอร์แลนด์บินมาแวะที่ประเทศไทยเป็นสายแรก

 

พ.ศ. 2476 ได้เริ่มการก่อสร้างทางวิ่งที่ได้มาตรฐานสากลเป็นทางวิ่งแรก ที่สนามบินดอนเมืองซึ่งใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

พ.ศ. 2480 มีการจัดตั้ง “กองทัพอากาศ” โดยก่อสร้างสำนักงานไว้ทิศตะวันตกของทางวิ่ง ใกล้ทางรถไฟสายเหนือ

 

พ.ศ. 2491 มีการยกฐานะ “กองกิจการพลเรือน” ภายใต้กองทัพอากาศ เป็น “กรมการบินพลเรือน” ในสังกัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่รับผิดชอบสนามบินดอนเมือง

 

พ.ศ. 2495 มีการปรับปรุงทางวิ่งจากพื้นผิวยางมะตอยเป็นคอนกรีตทั้งหมด

 

พ.ศ. 2497 จัดตั้ง “สำนักงานการบินพลเรือน” ในกระทรวงคมนาคม

 

พ.ศ. 2498 เปลี่ยนชื่อ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็น “ท่าอากาศยานกรุงเทพ”

 

พ.ศ. 2506 ตั้ง “กรมการบินพาณิชย์” เพื่อดูแลรับผิดชอบท่าอากาศยานกรุงเทพ

 

พ.ศ. 2522 จัดตั้ง “การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย” เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการพัฒนาท่าอากาศยานกรุงเทพ (พ.ศ. 2545 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

 

พ.ศ. 2534 รัฐบาลตัดสินใจให้เริ่มการออกแบบก่อสร้าง “สนามบินสุวรรณภูมิ”

 

การพัฒนาสนามบินในภูมิภาคของไทยได้เริ่มหลังการพัฒนาสนามบินดอนเมืองเล็กน้อย เช่นที่ นครราชสีมา สงขลา อุบลราชธานี เชียงใหม่ เป็นต้น ปัจจุบันสนามบินในภูมิภาคเหล่านี้ได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยสถิติเมื่อปีงบประมาณ 2545 สนามบินภูมิภาคที่มีผู้โดยสารใช้สนามบินมากเรียงตามลำดับ 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินภูเก็ต 3,565,454 คนต่อปี สนามบินเชียงใหม่ 2,044,527 คนต่อปี สนามบินสมุย 783,666 คนต่อปี สนามบินหาดใหญ่ 743,851 คนต่อปี และสนามบินเชียงราย 462,666 คนต่อปี

 

3. สนามบินทั่วโลก

 

สนามบินในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกจะมีการวางแผนและก่อสร้างขยายอาคารอยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและพอเพียง และจะมีการขยาย/ก่อสร้างทางวิ่งและทางขับ เพื่อรองรับปริมาณการขึ้น-ลงของเครื่องบินให้พอเพียงเช่นกัน สนามบินที่ก่อสร้างแรกๆ ในอดีตเมื่อเริ่มก่อสร้างมักจะอยู่ในบริเวณที่ห่างจากใจกลางเมืองพอสมควร ต่อมาเมื่อเมืองมีการขยายพื้นที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ การขยายดังกล่าวมักจะผนวกสนามบินเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการขยายพื้นที่เมืองด้วย ทำให้ความต้องการขยายพื้นที่สนามบินในระยะต่อมาทำได้ยากขึ้นหรือทำไม่ได้เลย ส่งผลให้ต้องมีการเลือกพื้นที่บริเวณใหม่ที่อยู่ห่างไกลเมืองออกไปอีก เพื่อก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่พร้อมไปกับการก่อสร้างระบบขนส่งเชื่อมโยงสนามบินแห่งใหม่กับใจกลางเมือง ขณะนี้ทั่วโลกมีสนามบินพาณิชย์ในเมืองใหญ่ประมาณ 1,500 สนามบิน กระจายอยู่ใน 169 ประเทศ

 

ตารางที่ 1 เป็นสถิติการจัดอันดับของสนามบินทั่วโลกที่คับคั่งตามปริมาณผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2545 ของสภาแห่งสนามบินนานาชาติ (Airports Council International) โดยสนามบินอัตลันต้าในสหรัฐอเมริกามีผู้โดยสารสูงที่สุดคือ 76.88 ล้านคนต่อปี

 

ตารางที่ 2 แสดงปริมาณผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานกรุงเทพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับลำดับความคับคั่งของปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปรียบเทียบกับสนามบินทั่วโลก ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2526 ท่าอากาศยานกรุงเทพมีปริมาณผู้โดยสาร เพียง 5.68 ล้านคนต่อปี จัดอยู่ในอันดับ 51 ของสนามบินทั่วโลก ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 25.62 ล้านคนต่อปี และอยู่ในอันดับที่ 28 ของสนามบินทั่วโลก ปีที่แล้วมีผู้โดยสาร 32.18 ล้านคนต่อปี และอันดับเพิ่มขึ้นเป็นอยู่ในอันดับที่ 18 ของสนามบินทั่วโลก

ตารางที่ 1 สนามบินทั่วโลกที่มีปริมาณผู้โดยสารสูงสุด 30 อันดับแรกในปี พ.ศ. 2545

อันดับ
รหัสสนามบิน
เมือง
ประเทศ
ผู้โดยสาร (ล้านคน)
1
ATL
อัตลันต้า สหรัฐฯ
76.88
2
ORD
ชิคาโก สหรัฐฯ
66.50
3
LHR
ลอนดอน อังกฤษ
63.34
4
HND
โตเกียว ญี่ปุ่น
61.08
5
LAX
ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ
56.20
6
DFW
ดัลลัส/ฟอร์ตเวิร์ธ สหรัฐฯ
52.83
7
FRA
แฟรงเฟิรต เยอรมัน
48.45
8
CDG
ปารีส ฝรั่งเศส
48.30
9
AMS
อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
40.74
10
DEN
เดนเวอร์ สหรัฐฯ
35.65
11
PHX
ฟีนิกซ์ สหรัฐฯ
35.53
12
LAS
ลาสเวกัส สหรัฐฯ
35.01
13
IAH
ฮุสตัน สหรัฐฯ
33.95
14
MAD
แมดริด สเปน
33.90
15
HKG
ฮ่องกง จีน
33.88
16
MSP
มินาโพลิส   สหรัฐฯ  
32.63
17
DTW
ดีทรอยต์   สหรัฐฯ  
32.44
18
BKK
กรุงเทพมหานคร ไทย  
32.18
19
SFO
ซานฟรานซิสโก   สหรัฐฯ
31.45
20
MIA
ไมอามี่   สหรัฐฯ  
30.06
21
LGW
ลอนดอน สหรัฐฯ
29.63
22
SIN
สิงคโปร์ สิงคโปร์ 
28.98
23
EWR
นิวาค   สหรัฐฯ  
28.97
24
NRT
โตเกียว   ญี่ปุ่น 
28.89
25
JFK
นิวยอร์ค สหรัฐฯ
28.89
26
PEX
ปักกิ่ง จีน
27.16
27
SEA
ซีแอตเติ้ล  สหรัฐฯ  
26.69
28
MCO
ออลันโด้   สหรัฐฯ
26.65
29
YYZ
โตรอนโต้ คานาดา
25.93
30
STL
เซนต์หลุยส์   สหรัฐฯ  
25.61
ที่มา : Airports Council International
ปริมาณผู้โดยสาร = ผู้โดยสารขาเข้า + ผู้โดยสารขาออก + ผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง (นับครั้งเดียว)
   
   
 ตารางที่ 2 ปริมาณผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ
ปี พ.ศ.(ม.ค. – ธ.ค.)
ผู้โดยสาร (ล้านคน)
อันดับเมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสารสนามบินทั่วโลก
2541
25.62
28
2542
27.29
28
2543
29.62
26
2544
30.62
21
2545
32.18
18
     
ที่มา : Airports Council International
   
  ระบบการขนส่งทางอากาศของไทยในปัจจุบัน
   
  1. ระบบท่าอากาศยาน
   
 

1.1 ท่าอากาศยานสากล ปัจจุบันไทยมีท่าอากาศยานสากล 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และภูเก็ต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ ท่าอากาศยานเหล่านี้มีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักได้มีการปรับปรุงเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศอยู่ตลอดเวลา (ก่อนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเปิดให้บริการในปี 2548) โดยมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 36.5 ล้านคน/ปี รองรับการขนส่งสินค้าได้ 1.2 ล้านตัน/ปี และรองรับเที่ยวบินในชั่วโมงคับคั่งได้ประมาณ 60 เที่ยว/ชั่วโมง ในขณะที่ปีงบประมาณ 2545 สนามบินดอนเมืองมีปริมาณสินค้า 930,770 ตัน

 

1.2 ท่าอากาศยานในประเทศ ท่าอากาศยานในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 31 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภายใต้ความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางอากาศ 26 แห่ง กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยภาคเหนือมี 8 แห่ง (ท่าอากาศยานตาก ไม่มีเที่ยวบินประจำมาใช้บริการ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 11 แห่ง (ท่าอากาศยานเลยไม่มีเที่ยวบินประจำมาใช้บริการ) ภาคกลางมี 1 แห่ง และภาคใต้มี 8 แห่ง (ท่าอากาศยานปัตตานี ไม่มีเที่ยวบินประจำมาใช้บริการ) ซึ่งท่าอากาศยานเหล่านี้ทั้งหมดมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรองรับการให้บริการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีท่าอากาศยานของเอกชน 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสมุย ตราด และสุโขทัย ของบริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด ซึ่งบริษัทมีการให้บริการการบินควบคู่กับการให้บริการท่าอากาศยาน ทำให้บริษัทสามารถวางแผนการตลาดที่เหมาะสมเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศในภูมิภาค และใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานได้เต็มศักยภาพมากขึ้น

  2. ระบบสายการบิน
   
 

2.1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) มีเที่ยวบินในประเทศบินไปยังท่าอากาศยานต่างๆ 17 จุดบินทั่วประเทศ สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศให้บริการไปยังเมืองต่างๆ 55 เมือง ใน 33 ประเทศ ครอบคลุม 4 ทวีป ในช่วงปีบริการ 2545/2546 บกท. ให้บริการเที่ยวบินประจำจำนวน 831 เที่ยว/สัปดาห์ (เที่ยวบินระหว่างประเทศ 453 เที่ยว/สัปดาห์ เที่ยวบินในประเทศ 357 เที่ยว/สัปดาห์) และมีส่วนแบ่งการตลาดของผู้โดยสารรวมร้อยละ 55 ของจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินทุกสายการบินทั่วประเทศไทย โดยเป็นส่วนแบ่งการตลาดของเส้นทางในประเทศร้อยละ 86.3 และส่วนแบ่งการตลาดของเส้นทางระหว่างประเทศร้อยละ 44.8 ของจำนวนผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้ บกท. ยังสามารถขยายโครงข่ายการให้บริการได้มากขึ้น จากการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรการบิน Star Alliance ทั่วโลก ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่มีโครงข่ายการบินพาณิชย์กว้างขวางที่สุดในปัจจุบัน

 

2.2 สายการบินเอกชน สายการบินพาณิชย์เอกชนที่ให้บริการในเส้นทางประจำปัจจุบันมี 6 สายการบิน ประกอบด้วย บริษัท ภูเก็ต แอร์ไลน์ จำกัด บริษัท พี บี แอร์ จำกัด บริษัท โอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ จำกัด บริษัท แอร์อันดามัน จำกัด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด และบริษัท เอนเจิลแอร์ไลน์ จำกัด สายการบินเหล่านี้ให้บริการทั้งเส้นทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเซีย แต่ยังให้บริการอยู่ในวงจำกัด และบางสายการบินประสบภาวะการขาดทุน เพราะต้องใช้วงเงินลงทุนและต้นทุนการดำเนินงานสูง และยังมีปริมาณผู้โดยสารน้อย โดยเฉพาะจุดบินภายในประเทศ ทำให้สายการบินเหล่านี้หันไปให้ความสำคัญด้านแผนการตลาด และการเชื่อมโยงกับจุดบินที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาคเอเซียแทน เช่น ตอนใต้ของจีน กัมพูชา และสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสารและรายได้

  3. ระบบควบคุมจราจรทางอากาศและสื่อสารการบิน
   
 

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เป็นรัฐวิสาหกิจไทยที่ให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานพาณิชย์ทั่วประเทศ (ยกเว้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) ตลอดจนบริการสื่อสารการบินและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย บวท. ได้มีการขยายขอบข่ายการทำงานและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารการบินให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย เพื่อส่งเสริมกิจการด้านการบินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีนโยบายที่จะร่วมมือกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนากิจการควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของไทย โดยองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) ได้มอบหมายให้ บวท. รับผิดชอบน่านฟ้าไทย อ่าวไทย บางส่วนของทะเลจีนใต้ และเขตน่านฟ้าของประเทศกัมพูชา

  4. ระบบกำกับดูแลการขนส่งทางอากาศ
   
 

ตามกฎหมายปัจจุบันบทบาทในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล และการให้บริการยังคงมีความซ้ำซ้อนอยู่ภายในกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมทำหน้าที่กำหนดนโยบายโดยรวม ในขณะที่กรมการขนส่งทางอากาศทำหน้าที่กำหนดนโยบายย่อยตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และยังทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและให้บริการท่าอากาศยานด้วย

 

ปัจจุบันการกำกับดูแลด้านการขนส่งทางอากาศที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีกรมการขนส่งทางอากาศเป็นฝ่ายเลขานุการ จะมีหน้าที่เฉพาะการออกใบอนุญาตและการควบคุมอัตราค่าบริการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เท่านั้น ยังขาดความสมบูรณ์เพียงพอในการกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการเอกชนที่จะเข้ามาให้บริการ ทั้งนี้กรมการขนส่งทางอากาศอยู่ระหว่างการปรับรูปแบบการดำเนินงาน โดยจะแยกหน้าที่การกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการให้บริการ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาด้านการขนส่งทางอากาศในระยะต่อไป

  การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
   
 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้หาทางส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยได้วิเคราะห์ถึงแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินไว้แล้ว ได้แก่

  1. ปัจจัยสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน
   
 

ประเทศไทยจะต้องวางแผนให้มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายการบินเชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมทั้งมีนโยบายและมาตรการที่จะเพิ่มความต้องการเดินทางทางอากาศ และใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อเที่ยวบินกับต่างประเทศ ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งทางอากาศ แบ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศที่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งควบคุมไม่ได้ โดยจะต้องกำหนดมาตรการหรือแนวทางรองรับผลกระทบ ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

 

1.1 ปัจจัยภายในประเทศ

 

1.1.1 ด้านนโยบาย ต้องกำหนดนโยบายและการกำกับดูแล โดยมีองค์กรกำหนดนโยบายและองค์กรกำกับดูแลด้านการขนส่งทางอากาศ ทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการด้านการบินที่มีประสิทธิภาพ และเรื่องนโยบายด้านสิทธิการบินที่เปิดกว้าง ต้องมีการเปิดเสรีด้านการบินอย่างเป็นระบบ

 

1.1.2 ด้านกายภาพ ต้องมีระบบท่าอากาศยานและโครงข่ายการขนส่งทางบกเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่สายการบินและผู้ใช้บริการได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้จะต้องมีสายการบินของไทยที่มีขีดความสามารถในการให้บริการและมีโครงข่ายการบินที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและครบวงจร

 

1.2 ปัจจัยภายนอกประเทศ ต้องศึกษาสภาวะเศรษฐกิจโลก และศึกษาความสัมพันธ์การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำเนินนโยบายการบิน รวมทั้งศึกษาศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านแหล่งท่องเที่ยว สภาพเศรษฐกิจการเมืองและการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะความพร้อมของท่าอากาศยานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารเข้า-ออกประเทศไทย และการจูงใจให้สายการบินต่างๆ ใช้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาคเอเซีย

  2. แนวทางส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน
   
 

จากปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศดังกล่าว สามารถวางแนวทางการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศได้ ดังนี้

 

2.1 การกำหนดนโยบายการบิน

 

2.1.1 กำหนดบทบาทท่าอากาศยาน โดยการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ ของภูมิภาคด้วยการมองระบบท่าอากาศยานในลักษณะโครงข่าย (Network) ที่มีการเชื่อมโยงสนับสนุนกัน โดยมีท่าอากาศยานกรุงเทพ (ในปัจจุบัน) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ในอนาคต) เป็นท่าอากาศยานหลัก และมีท่าอากาศยานในภูมิภาคเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคให้เป็นไปในลักษณะสนับสนุนกัน

 

2.1.2 จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลการบิน โดยดำเนินการแยกบทบาทของกรมการขนส่งทางอากาศในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการให้บริการออกจากกัน พร้อมทั้งปรับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการกำกับดูแลและการพัฒนาด้านการขนส่งทางอากาศ

 

2.1.3 การเปิดเสรีการบิน ขณะนี้รัฐบาลได้ริเริ่มนโยบายการเปิดเสรีด้านการบินอย่างเป็นขั้นตอน โดยเร่งรัดการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง และกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีด้านการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

 

2.2 ด้ายกายภาพ

 

2.2.1 ท่าอากาศยานและโครงข่ายการขนส่งทางบากเชื่อมโยง โดยขณะนี้จะเน้นประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และระบบการให้บริการพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนากิจกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิในปี 2548 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิ และการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับท่าอากาศยานภูมิภาคต้องหาทางจูงใจให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการให้บริการ/บริหารจัดการ รวมทั้งรัฐจะต้องจัดระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงท่าอากาศยานกับชุมชนและแหล่งผลิต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการและการขนส่งสินค้า

 

2.2.2 เพิ่มประสิทธิภาพสายการบินของไทย โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการให้บริการและการบริหารจัดการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกำหนดกลยุทธที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกลุ่มการบิน (Alliance) ได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้สายการบินเอกชนเข้ามามีบทบาทในการขนส่งมากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสายการบินในรูปแบบพันธมิตรการบินทั้งในด้านการตลาดและการเชื่อมโยงโครงข่ายการบิน

 

2.2.3 ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและการรักษาวัฒนธรรมอันดี โดยให้ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างบูรณาการและเกิดผลในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ควรกำหนดมาตรการและแนวทางทั้งในส่วนของภาครัฐและธุรกิจเอกชน เพื่อจูงใจให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานเป็นจุดแวะผ่านเปลี่ยนเป็นเข้ามาแวะพักและท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยการจัดทำแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เน้นการประชาสัมพันธ์ระดับนานาชาติและการตลาดเชิงรุก ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือและตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว  

  บทบาทสนามบินกับเศรษฐกิจโลก
   
 

สนามบินนับวันจะยิ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นตลอดเวลา ทั้งนี้ กว่าสิบปีมาแล้วที่นาย Alvin Toffler นักพยากรณ์อนาคตได้เสนอว่าสิ่งที่กำหนดความสำเร็จของการแข่งขันทางการค้าในระดับโลก จากคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไปคือ “ผู้รวดเร็วที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด” ขณะนี้ประเทศต่างๆ รู้ดีว่าแม้การผลิตสินค้าคุณภาพดีและราคาถูกยังคงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่จะยังไม่เพียงพอสำหรับความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ความรวดเร็วและการสนองต่อลูกค้าทั่วโลกอย่างฉับไวจะกลายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการผลิตสินค้าของประเทศทั่วโลกจะหันไปเน้นกระบวนการผลิตแบบเร่งรัด ในรูปของการจ้างผลิตและการขายข้ามประเทศ ตลอดจนการผลิตตามคำสั่งซื้อและการนำส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันทุกคนเริ่มตระหนักว่าสิ่งที่ Toffler เสนอไว้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง บริษัททั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมต่างก็กำลังใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าร่วมกับการขนส่งที่รวดเร็วเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนซึ่งตั้งอยู่ที่พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทันต่อความต้องการ

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความก้าวหน้าของการขนส่งทางอากาศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

 

การขนส่งทางเครื่องบินและการสื่อสารสมัยใหม่ ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตสินค้าได้เผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก เสรีทางการค้าระหว่างประเทศเริ่มมีเพิ่มขึ้น ตลาดใหม่ๆ ทั่วโลกเกิดเพิ่มขึ้น แม้แต่ประเทศสังคมนิยม เช่น จีนและเวียดนามต่างหันเข้าสู่ระบบตลาดนายทุน ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือค่าจ้างแรงงานในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศที่กำลังพัฒนายังคงแตกต่างกันมาก จนทำให้เกิดการกระจายแหล่งผลิตชิ้นส่วนและแหล่งประกอบสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีฝีมือเพิ่มขึ้นและเริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีข้ามประเทศอย่างรวดเร็ว ประเทศในโลกที่สามเช่นในเอเซียและละตินอเมริกา ต่างก็เริ่มสามารถเพิ่มผลผลิตตลอดจนผลิตสินค้าและให้บริการที่ซับซ้อนมากขึ้น ลูกค้าจากต่างประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศจีนและประเทศในอาเซียน) ต่างก็พิถีพิถันและต้องการสินค้ามีระดับมากขึ้น ลูกค้าเหล่านี้ซื้อสินค้าต่างๆ มากมายจากทั่วโลกและสามารถเลือกสินค้าได้ จึงเลือกซื้อสินค้าโดยดูทั้งคุณภาพ ความน่าเชื่อถือและราคา นอกจากนี้ประเทศทั่วโลกยังต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ตามคำสั่งผลิตเป็นการเฉพาะ และต้องการสินค้าโดยเร็วในทันที โดยบางครั้งระยะเวลาในการส่งสินค้าแก่ผู้สั่งซื้อในต่างประเทศโดยใช้เวลาสองถึงหกสัปดาห์ก็ยังถือว่าเร็วไม่ทันใจความต้องการของลูกค้า

 

การขนส่งสินค้าในระยะทางไกลทั่วโลกโดยใช้ระบบขนส่งทางอากาศที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ ทำให้การขนส่งทางอากาศกลายเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ในปัจจุบันจะพบว่าสินค้าประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าการค้าโลกเป็นสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ และสัดส่วนนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2545 การขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสามเท่าในอีก 15 ปีข้างหน้า ในขณะที่การส่งไปรษณียภัณฑ์ด่วนทางอากาศทั่วโลก ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็นห้าเท่าในช่วงเดียวกัน

 

การขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทางเครื่องบินโดยทั่วไปเป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่แล้วเป็นปกติในการทำธุรกรรมแบบธุรกิจต่อธุรกิจ (Business-to-Business) โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูงต่อหน่วยน้ำหนัก เช่น ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของรถยนต์ ชิ้นส่วนของเครื่องบิน โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้าประเภทแฟชั่น ยารักษาโรค อุปกรณ์ที่มีความละเอียดสูง (เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์) ตลอดจนสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย เช่น ผลไม้สด อาหารทะเล และดอกไม้สด แม้แต่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำต่อหน่วยน้ำหนัก เช่น เครื่องแต่งกาย รองเท้า และของเล่น ก็เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรวดเร็วและใช้การขนส่งทางอากาศขนส่งไปทั่วโลกเพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

การพาณิชย์ที่ขนส่งทางอากาศมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการค้าของโลก จากตารางที่ 3 แสดงมูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ จากตารางจะพบว่าในปัจจุบันมูลค่าสินค้าที่ใช้การขนส่งทางเครื่องบินเริ่มมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางเรือ สำหรับการขนส่งในทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกาใต้ ก็มีแนวโน้มแบบเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2545 มูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางอากาศของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ สูงขึ้นร้อยละ 148 เมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 23 และในช่วงเดียวกัน มูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางอากาศของประเทศเยอรมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 113 เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 ของมูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางเรือและของประเทศบราซิล มูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 321 เมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าส่งออกที่ขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 41

   
ตารางที่ 3 มูลค่าสินค้าส่งออกของสหรัฐอเมริกาที่ขนส่งทางอากาศและทางทะเลระหว่างปี พ.ศ. 2533 ถึง 2545
 
(หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ปี พ.ศ.
มูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด
มูลค่าสินค้าที่ขนส่งทางเครื่องบิน
มูลค่าสินค้าที่ขนส่งทางทะเล
2533
261,298
110,471
150,827
2539
417,434
196,182
221,252
2545
416,384
225,322
191,062
อัตราเพิ่มในช่วง
2533-2545 (%)
59.4
104.0
26.7
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
   
   
  สนามบินในฐานะปัจจัยดึงดูดสำนักงานพาณิชย์
   
 

เนื่องจากเศรษฐกิจด้านการบริการของโลกได้หันมาเน้นด้านความรวดเร็วเป็นปัจจัยหลัก ดังนั้น สนามบินจึงไม่เพียงแต่ดึงดูดโรงงานผลิตและระบบการจัดจำหน่ายสินค้าชนิดที่มีความต้องการเร่งด่วนเท่านั้น แต่สนามบินได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของบริษัทต่างๆ สำนักงานตัวแทนการค้า และบริษัทต่างๆ ของนักวิชาชีพซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ข้อดีในการเดินทางไปสนามบินได้สะดวกเป็นแรงดึงดูดธุรกิจที่เน้นด้านข้อมูล เช่น งานที่ปรึกษา งานโฆษณา การบริการด้านกฎหมายและการเงิน การประมวลผลข้อมูล การบัญชีและการตรวจสอบบัญชี ซึ่งบริษัทต่างๆ มักจะส่งนักวิชาชีพไปหาลูกค้าที่อยู่ห่างไกลจากสำนักงานของตน หรือการนำลูกค้าให้เดินทางเข้ามาที่สำนักงานทางเครื่องบิน นักธุรกิจผู้เดินทางจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากความสะดวกในการเข้าถึงสนามบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งให้ทางเลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านเที่ยวบิน ด้านจุดหมายปลายทาง และการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน และโดยทั่วไปแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางต่ำ ตัวอย่างเช่น สนามบินนานาชาติฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการค้างคืนและเมื่อจำเป็นจะต้องค้างคืน สนามบินเหล่านี้ก็จะมีโรงแรมภายในสนามบินหรือในบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนมีภัตตาคาร ศูนย์การค้า ศูนย์สุขภาพ และสถานบันเทิงไว้สำหรับบริการนักเดินทางครบครัน

 

นอกจากนี้ ความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงสนามบินจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับดึงดูดการจัดประชุมหรือสัมมนาในเชิงธุรกิจ งานแสดงสินค้า ตัวอย่างเช่น ศูนย์การค้าใหญ่สองแห่งของสหรัฐฯ ได้แก่ ร้าน Informart และร้าน Market Center ซึ่งตั้งอยู่บนทางด่วนหมายเลข 35 ซึ่งไปสนามบินนานาชาติ Ft. Worth ใน Dallas ร้าน Informart เป็นอาคารแสดงสินค้าที่ใหญ่โต ซึ่งใช้แสดงข้อมูลข่าวสารสำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่วนร้าน Market Center เป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่หกอาคาร มีพื้นที่ 700,000 ตารางเมตร สำหรับแสดงเสื้อผ้าแฟชั่นและเครื่องใช้ในบ้าน นับว่าเป็นตลาดสินค้าขายส่งซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทุกปีจะมีผู้ซื้อและพ่อค้านับล้านคนเดินทางโดยเครื่องบินมายังร้าน Informart และร้าน Market Center เพื่อทำธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2543 ร้าน Market Center สามารถดึงดูดผู้ซื้อผู้ขายจากรัฐต่างๆ ทั้ง 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ อีก 84 ประเทศ บุคคลเหล่านี้มาติดต่อธุรกิจโดยซื้อที่นั่งเครื่องบิน 300,000 ที่นั่ง และเข้าพักในโรงแรมที่อยู่ใกล้เคียงจำนวน 720,000 คืน ทำธุรกรรมขายส่งประมาณ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

ร้านค้าไฮเทคดังกล่าวและสนามบินจึงต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกันมากเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน เมื่อทรัพย์สินทางปัญญาได้กลายเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความมั่งคั่งแทนทรัพย์สินทางกายภาพ ทำให้เรื่องเวลาและความคล่องตัวในการเดินทางในระยะทางไกลๆ กลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นสำหรับคนทำงานซึ่งมีทักษะความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ ในปัจจุบันผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่านักวิชาชีพด้านไฮเทคเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยกว่านักวิชาชีพด้านอื่นๆ ร้อยละ 60

 

ปัจจุบันความก้าวหน้าด้านอินเตอร์เน็ตหรือการประชุมผ่านทางวีดีโอ และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารอาจจะลดความจำเป็นในการเดินทางลงได้บ้าง แต่มีข้อบ่งชี้ว่าความก้าวหน้าในทางโทรคมนาคมกลับจะส่งเสริมการเดินทางทางอากาศให้มีเพิ่มขึ้น โดยสามารถเพิ่มการทำธุรกิจระยะทางไกลและช่วยให้การทำงานสามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ได้รับผลกระทบเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เนื่องจากตึกเวิร์ลเทรดในนครนิวยอร์คถูกถล่ม รวมทั้งการถูกคุกคามจากการก่อการร้ายเป็นระยะๆ ตลอดจนการระบาดของโรค SARS อาจจะลดการค้าที่ขนส่งทางอากาศไประยะหนึ่ง แต่ความจำเป็นเร่งด่วนของธุรกิจการค้าการขนส่งทางเครื่องบินน่าจะยังคงเติบโตขึ้น รวมทั้งการเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อธุรกิจ ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็ว ความคล่องตัว และการเข้าถึงทุกมุมโลกจะยังคงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงคาดได้ว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศและการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งเคยตกต่ำในรอบปี พ.ศ. 2544 ถึง 2546 ในพื้นที่ทั่วโลกจะฟื้นตัวขึ้นจนสามารถสร้างสถิติใหม่ในไม่กี่ปีข้างหน้า

  สนามบินกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน
   
 

ระบบการค้าทางอินเตอร์เน็ตหรือ E-Commerce ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการแข่งขันในด้านความรวดเร็วเพิ่มขึ้น ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2538 ขณะนั้นการค้าทางอินเตอร์เน็ตยังไม่มี ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ยอดขายสำหรับธุรกิจแบบ B2C (ผู้ทำธุรกิจถึงผู้บริโภค : Business-to-Customer) ผ่านอินเตอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกาได้เติบโตขึ้นเกือบถึงเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐฯ และพุ่งขึ้นสูงถึง 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2545 ในปี พ.ศ. 2542 ผู้ค้าปลีกทางอินเตอร์เน็ต (E-Retailer) ของสหรัฐอเมริกาได้จัดส่งสินค้า 166 ล้านชิ้น ซึ่งประมาณร้อยละ 70 ส่งด้วยวิธีทางเครื่องบินด่วน ส่วนในปี พ.ศ. 2546 คาดว่าจะมีการส่งสินค้าประมาณปีละ 1.1 พันล้านชิ้น และในปี พ.ศ. 2549 คาดว่าธุรกรรม (Transaction) ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึงเจ็ดล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 ผู้ประกอบธุรกิจทางอินเตอร์เน็ตทั่วโลกต้องเลิกกิจการไปนับพันๆ ราย แต่ในอนาคต การค้าทางอินเตอร์เน็ตจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้มีการคาดกันว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการทำธุรกรรมแบบ B2B (ธุรกิจต่อธุรกิจ : Business-to-Business) ซึ่งจะสั่งซื้อวัสดุและส่วนประกอบโดยทางอินเตอร์เน็ต เพื่อส่งให้ผู้ผลิตขั้นต่อไป ทำให้ผู้ผลิตสามารถติดต่อกับผู้ค้านานาชาติได้ทางอินเตอร์เน็ต เพื่อที่จะซื้อวัสดุและชิ้นส่วนคุณภาพดีที่สุดในราคาย่อมเยาที่สุดได้ การริเริ่มตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketplace ซึ่งประกอบด้วย การประมูลขาย ระบบการประมูล และการแลกเปลี่ยน) ทำให้การค้าทางอินเตอร์เน็ตแบบ B2B ขยายตัวอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2544 ตลาดอิเล็กทรอนิกส์มีถึงสองในสามของธุรกรรมห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain) และคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2549 การค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 42 จะเป็นโดยทางอินเตอร์เน็ต โดยเป็นการค้าแบบ B2B ร้อยละ 28

 

การขยายตัวของการค้าทางอินเตอร์เน็ตแบบ B2C และการสั่งซื้อสินค้าโดยตรงทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การส่งสินค้าให้ลูกค้าต้องรวดเร็วและน่าเชื่อถือ ดังนั้น จึงมีการจัดสร้างศูนย์จัดจำหน่ายสำหรับการค้าทางอินเตอร์เน็ตขึ้นใกล้กับสนามบินซึ่งมีโครงข่ายเที่ยวบินหลายสาย ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นแนวโน้มของการเลือกทำเลที่ตั้งทำการค้าที่จะพบมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีศูนย์ส่งไปรษณียภัณฑ์ด่วนทางอากาศ (Air Express Hub) เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีสนามบินนานาชาติ Memphis เป็นศูนย์ของบริษัท FedEx และสนามบิน Louisville เป็นศูนย์ของบริษัท UPS ซึ่งเป็นศูนย์ไปรษณียภัณฑ์ด่วนทางอากาศ ที่ขยายเวลาทำธุรกิจสำหรับการค้าแบบ E-Commerce โดยผู้ส่งสินค้าสามารถรับใบสั่งซื้อสินค้าได้จนถึงเที่ยงคืนเพื่อทำการจัดส่งสินค้าในวันถัดไป ดังนั้น ผู้ค้าปลีกทางอินเตอร์เน็ตนับสิบๆ ราย จึงจัดตั้งศูนย์ส่งสินค้าใกล้สนามบินนานาชาติ Memphis เพื่อใช้เครือข่ายของบริษัท FedEx และในทำนองเดียวกันจะมีหลายบริษัทที่ตั้งศูนย์ส่งสินค้า E-Commerce ของตนใกล้กับศูนย์ส่งไปรษณียภัณฑ์ด่วนทางอากาศของบริษัท UPS

 

สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ศูนย์การค้าแบบ E-Commerce สามารถเชื่อมต่อกับสนามบินได้สมบูรณ์ขึ้นได้แก่ การเลือกสถานที่ตั้งเพื่อใช้สำหรับการส่งสินค้าที่เน่าเสียง่าย (ในเชิงกายภาพหรือเศรษฐกิจ) หรือการทำธุรกรรมห่วงโซ่อุปทาน และการจัดหาชิ้นส่วนฉุกเฉินแบบทันเวลาที่ต้องการ (Just-in-time) ตลอดจนสถานที่รับสินค้าไฮเทคต่างๆ สำหรับนำกลับมาซ่อมหรือปรับให้ดีขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ การเลือกที่ตั้งของสถานที่สำหรับจัดส่งสินค้าด่วนเหล่านี้ไว้โดยรอบสนามบิน (โดยมากมักจะอยู่ภายในเขตพื้นที่ของโลจิสติกส์ทางอากาศ) จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของการส่งสินค้าทางอากาศและการส่งไปรษณียภัณฑ์ด่วนทางอากาศ โดยใช้เส้นทางด่วนที่เข้า-ออกกับสนามบินเป็นตัวเชื่อม

  สนามบินดอนเมืองกับการค้าระหว่างประเทศ
   
 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสัดส่วนมูลค่าของสินค้าที่ขนส่งทางอากาศของประเทศไทยต่อการขนส่งทางทะเลและทางบกจะต่ำกว่าตัวเลขของประเทศทั่วโลกที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แต่อัตราการขยายตัวของการพาณิชย์ที่ขนส่งทางอากาศของประเทศไทยก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นมูลค่าของสินค้าที่ขนส่งทางเครื่องบินระหว่างสหรัฐฯ กับไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 144 ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2545 คือเพิ่มจาก 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้อมูลสินค้าที่แยกตามประเภทอุตสาหกรรม ในปี 2545 แสดงให้เห็นว่า กว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้าส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ เป็นชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น วงจรรวม (ไอซี) หัวอ่านแม่เหล็กและแสง อุปกรณ์สำนักงานและอุปกรณ์ด้านสารสนเทศตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงการหันไปสู่ห่วงโซ่อุปทานที่อาศัยการขนส่งทางอากาศของผลิตภัณฑ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความรวดเร็ว

 

ข้อมูลในตารางที่ 4 แสดงว่าการขนส่งทางอากาศที่รวดเร็วมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจของไทย จะเห็นได้จากปริมาณน้ำหนักสินค้าที่ผ่านเข้าและออก ณ สนามบินดอนเมือง ระหว่างปี พ.ศ. 2536-2545 แสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ขนส่งทางอากาศมายังกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นจาก 111,723 ตัน เป็น 238,407 ตัน ในขณะที่สินค้าส่งออกทางเครื่องบินเพิ่มจาก 251,936 ตัน เป็น 430,544 ตัน ส่วนสินค้าที่มาจากสนามบินทั่วโลกแล้วมาถ่ายลำที่ดอนเมืองก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นเครื่องชี้การเลือกทำเลที่ตั้งได้ว่าบริษัทผลิตสินค้าที่มีความต้องการขนส่งด่วน มักเลือกทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ สนามบินดอนเมือง เพราะพื้นที่โดยรอบสนามบินนานาชาติถือได้ว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพสำหรับการทำธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งรัฐบาลทุกประเทศจะพึงให้ความสำคัญ ในการนำพื้นที่รอบสนามบินมาวางแผนพัฒนาเพื่อการขนส่งทางอากาศให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป

   
ตารางที่ 4 น้ำหนักสินค้าที่ขนส่งทางเครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2536-2545
(หน่วย : ตัน)
ปี พ.ศ.
สินค้าขาเข้า
สินค้าขาออก
สินค้าถ่ายลำ
รวม
2536
111,723
251,936
87,611
451,270
2537
145,499
294,155
91,460
531,114
2538
176,589
320,064
94,977
591,630
2539
187,541
315,621
102,722
605,884
2540
192,069
328,447
120,750
641,266
2541
156,832
334,498
112,560
603,890
2542
191,953
369,192
122,476
683,621
2543
219,429
397,920
121,957
739,306
2544
208,713
384,738
116,130
709,581
2545
238,407
430,544
131,499
800,450
อัตราเพิ่มเฉลี่ย
ต่อปี (%)
8.8
6.2
4.6
6.6
ที่มา : สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศแห่งประเทศไทย
   
   
  ตัวอย่างการพัฒนาที่ดินรอบสนามบินทั่วโลกเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม
   
 

ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ต่างกำลังแข่งขันกันในโลกที่การค้าก้าวไปอย่างรวดเร็วและเป็นโลกที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งเกิดจากความเจริญของระบบดิจิตัลและการบิน การแข่งขันดังกล่าวเป็นการแข่งด้านความเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ใช้สนามบินนานาชาติเป็นตัวศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและใช้พื้นที่รอบสนามบินเป็นตัวกำหนดทำเลที่ตั้งของธุรกิจ ตลอดจนใช้สนามบินที่มีพื้นที่โดยรอบช่วยในการพัฒนาเมืองเช่นเดียวกับการพัฒนาเมืองและชุมชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการก่อสร้างทางหลวงไปทั่วประเทศเมื่อ 50 ปีก่อน หรือการสร้างทางรถไฟไปยังภูมิภาคเมื่อ 100 ปีก่อน ทำให้ปัจจุบันสนามบินทั่วโลก ได้กลายเป็นจุดสำคัญของระบบการผลิตและการพาณิชย์ของเมือง ตลอดจนเป็นตัวจักรในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ระดับภาค และระดับชาติ ด้วยการดึงดูดธุรกิจระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการส่งออก-นำเข้าหลายประเภทให้เข้ามาอยู่บริเวณที่ดินรอบสนามบิน ธุรกิจเหล่านี้ได้แก่ การผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้าไปภูมิภาคทั่วโลก บริษัทด้านโลจิสติกส์ โรงแรม ธุรกิจบันเทิง ศูนย์แสดงสินค้า อาคารสำนักงานซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคระหว่างประเทศของบริษัทที่ทำธุรกิจ ตลอดจนเป็นที่ทำงานของนักวิชาชีพที่ต้องเดินทางไกลๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น ที่ปรึกษา ผู้ตรวจบัญชี และผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมไฮเทค

 

เมื่อมีธุรกิจสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่รอบสนามบินและตามโครงข่ายถนนและทางรถไฟที่แผ่ออกไปจากสนามบิน ย่อมทำให้เกิดพื้นที่ลักษณะใหม่ คือ เมืองศูนย์กลางการบิน (Aerotropolis) ซึ่งขยายพื้นที่ออกไปเป็นสิบๆ กิโลเมตรโดยรอบสนามบิน ทั้งนี้ เมื่อสนามบินและพื้นที่โดยรอบ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าของเมืองใหม่รอบสนามบินและมีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ย่อมทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง บริษัทโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ปลอดมลภาวะ ศูนย์จัดจำหน่ายสินค้าสมัยใหม่ ศูนย์เทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร และตลาดค้าส่งเติบโตขึ้นรอบสนามบินตามเส้นทางถนนและรถไฟ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากสนามบินสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่พื้นที่โดยรอบและธุรกิจในเศรษฐกิจแบบใหม่ที่โยงใยไปได้ทั่วโลก และพึ่งพาความรวดเร็วจากการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นเสมือนแรงผลักดันที่สร้างความได้เปรียบของพื้นที่ในการแข่งขันในยุคปัจจุบัน

 

1. ผลทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรมไฮเทคและเศรษฐกิจเมือง

 

การใช้พื้นที่รอบสนามบินทั่วโลกในด้านพาณิชย์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุคใหม่โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดในภาคธุรกิจไฮเทค เนื่องจากธุรกิจห่วงโซ่อุปทานหันมาเน้นใช้ความรวดเร็ว ความคล่องตัว และการเข้าถึงทุกมุมโลก ดังนั้น ความพร้อมของการบริการขนส่งทางอากาศได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกทำเลที่ตั้งสำนักงานของบริษัทด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ตลอดจนธุรกิจด้านไฮเทคอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มบริษัทไฮเทคเหล่านี้จะตั้งอยู่ริมเส้นทางถนนหรือทางด่วนไปยังสนามบิน เช่น ทางด่วนไปสนามบินนานาชาติ Dulles ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทางด่วนเข้าสนามบินที่อยู่ตอนเหนือของรัฐเวอร์จิเนีย และทางด่วนไปสนามบินนานาชาติ O’Hare ณ เมืองชิคาโก เป็นต้น ประสบการณ์ของสนามบินเหล่านี้ถูกใช้เป็นต้นแบบทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก โดยการเติบโตของโครงข่ายการบินสามารถนำมาเป็นตัวที่ใช้ในการพยากรณ์ความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมไฮเทคในพื้นที่นั้นได้ด้วย

 

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม จะพบว่ามีผลการศึกษาทั่วโลกที่แสดงถึงผลกระทบของสนามบินที่มีต่อเศรษฐกิจเมือง ตัวอย่างเช่น

 

1.1 สนามบินนานาชาติลอสแอนเจลิส ทำให้เกิดการจ้างงาน 400,000 งานของ 5 เขตปกครองในภูมิภาคลอสแอนเจลิส ซึ่งประมาณร้อยละ 80 อยู่ในเมืองลอสแอนเจลิส ปัจจุบันสนามบินก่อให้เกิดรายได้ปีละ 61,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค หรือเท่ากับ 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง

 

1.2 สนามบินนานาชาติฟอร์ทเวิร์ธ-ดัลลัส ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของพื้นที่ Metroplex เติบโตอย่างรวดเร็ว มีบริษัทจำนวนมากตั้งอยู่ในเขต Las Colinas ทางด้านตะวันออกของสนามบินซึ่งได้ขยายตัวออกไปมากกว่า 2,000 บริษัท เช่น บริษัท Abbot Laboratories, AT&T, Exxon, GTE, Hewlett-Packard และ MicroSoft

 

1.3 สนามบินในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เส้นทางถนนธุรกิจยาว 35 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อสนามบินหลักสองแห่ง คือ สนามบินแห่งชาติเรแกน และสนามบินนานาชาติ Dulles ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจาก 50,000 ตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. 2513 เป็นมากกว่า 800,000 ตำแหน่ง ในปี 2543 ซึ่งแสดงว่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 15 เท่า ในทางตรงกันข้าม การจ้างงานโดยรวมของเขตชานเมืองในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 โดยมีบริษัทที่ตั้งอยู่ริมถนนสู่สนามบิน ได้แก่ บริษัท America Online, Computer Associates, Nextel Communications, Cisci Systems และ EDS เป็นต้น

 

1.4 Subic Bay Freeport ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการขยายพื้นที่อย่างรวดเร็ว โดยรอบฐานบินซึ่งเป็นท่าเรือเก่าของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งปรับเปลี่ยนไปใช้เพื่อการพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2536 เนื่องจากบริษัท FedEx ได้ตั้งศูนย์ขนส่งด่วนสาขาภูมิภาคเอเซีย/แปซิฟิก ที่อ่าวซูบิค เมื่อ พ.ศ. 2537 โดยมีบริษัทเข้ามาลงทุนมากกว่า 150 บริษัท จ้างงาน 40,000 คน ก่อให้เกิดการลงทุนเกือบ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในระหว่างปี 2537-2543 มูลค่าการส่งออกประจำปีจากอ่าวซูบิคพุ่งขึ้นจาก 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 559 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัท Acer ได้ทำการเปิดโรงงานประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นที่อ่าวซูบิคด้วย โดยใช้การขนส่งทางอากาศในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และด้วยเหตุที่ว่าอยู่ใกล้กรุงมนิลาและฐานทัพอากาศ Clark เดิมของสหรัฐฯ บริษัท Acer จึงสามารถดึงดูดการจ้างงานได้นับหมื่นงานทางด้านการสื่อสารและสารสนเทศ และงานอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นๆ ในขณะที่บริษัท UPS ได้จัดตั้งศูนย์ส่งไปรษณียภัณฑ์ด่วนทางอากาศของเอเซียที่นั่นด้วย

 

1.5 สนามบิน Schiphol กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีบริษัทนานาชาติกว่าร้อยละ 70 ตั้งอยู่ในภูมิภาคโดยรอบสนามบิน เหตุผลที่บริษัทดังกล่าวเลือกพื้นที่นี้ก็เพราะอยู่ใกล้สนามบิน จากสถิติจะพบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ของเนเธอร์แลนด์นั้นมาจากสนามบินนี้ร้อยละ 1.9 โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติจะมาจากสนามบินนี้ร้อยละ 2.8 หรือประมาณ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

โดยสรุปการเติบโตของงานที่เกี่ยวกับสนามบินมีผลกระทบต่อการใช้ที่ดินในบริเวณรอบสนามบินอย่างมากเช่นกัน การวิเคราะห์การเติบโตของการจ้างงานในพื้นที่ชานเมืองโดยรอบของเขตมหานครของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในปริมณฑล 6 กิโลเมตรของสนามบิน จะมีการจ้างงานเพิ่มได้เร็วเป็นสองถึงห้าเท่าของอัตราการเติบโตของงานโดยรวม ทั้งนี้ การจ้างงานส่วนใหญ่จะหนาแน่นอยู่โดยรอบสนามบินหรือตามทางหลวงสายหลัก ซึ่งเชื่อมกับสนามบินในระยะเดินทางที่ใช้เวลา 15 ถึง 20 นาท

 

2. ตัวอย่างเมืองศูนย์กลางการบิน (Aerotropolis) ทั่วโลก

 

ปัจจุบันจะพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินจะเกิดขึ้นริมถนนสายหลักสู่สนามบินหรือเกิดขึ้นโดยกระจุกตัวเป็นกลุ่ม ทำให้เกิดเมืองรูปแบบใหม่ คือ เมืองศูนย์กลางการบิน ซึ่งขยายตัวออกไปนับสิบๆ กิโลเมตรจากสนามบิน สนามบินจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหลายๆ แบบ และเป็นศูนย์กลางด้านการพาณิชย์ คล้ายกับหน้าที่ของศูนย์กลางธุรกิจของมหานคร สนามบินเหล่านี้บางแห่งได้ทำหน้าที่แบบเดียวกับศูนย์กลางธุรกิจของเมืองใหญ่ๆ โดยเป็นศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายระบบ (Intermodal) ระหว่างภูมิภาค และศูนย์กลางการจ้างงานจำนวนมาก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการช็อปปิ้ง การประชุม และบันเทิงไปในตัว แผนภาพที่ 1 แสดงองค์ประกอบทั่วไปของเมืองศูนย์กลางการบินที่มีอยู่ทั่วโลก

 

2.1 สนามบิน Schiphol กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์มีการจ้างงานในสนามบินวันละ 56,000 คน ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ประชากร 50,000 คนที่ใช้กำหนดสถานะการเป็นเมืองที่ใช้อยู่ในสหรัฐฯ ในพื้นที่ดังกล่าวมีทางมอเตอร์เวย์หลักสองสายที่เชื่อมสนามบินกับตัวเมืองอัมสเตอร์ดัม และพื้นที่อื่นๆ ของเมือง มีสถานีรถไฟสมัยใหม่ซึ่งอยู่ใต้อาคารผู้โดยสารเชื่อมโยงการเดินทางของสนามบินเข้ากับใจกลางของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ของประเทศเนเธอร์แลนด์และภูมิภาคโดยรอบภายในทวีปยุโรป

   
แผนภาพที่ 1 ผังแนวคิดการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบิน (Aerotropolis)
   
 
   
 

ภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบิน Schiphol จะมีศูนย์การค้าสมัยใหม่ ประกอบด้วย ช็อปปิ้งอาเขต และแหล่งบันเทิงที่กว้างขวาง ซึ่งผู้โดยสารและประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ก่อนที่จะผ่านเข้าไปยังด่านศุลกากร ผู้โดยสารเครื่องบินจะเดินผ่านทางเดินในอาคารที่มีร้านขายของแฟชั่น ภัตตาคาร มุมกาแฟแบบดัทช์แท้ๆ อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ และซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารดีๆ ส่วนกลุ่มร้านค้าปลีกที่เรียกว่าร้าน See Fly Buy จะอยู่ในเขตพื้นที่ส่วนที่ต่อจากด่านศุลกากรเข้าไปในพื้นที่เขตนี้จะมีภัตตาคารทุกประเภท ธนาคาร ศูนย์ธุรกิจ ตลอดจนห้องอบซาวน่า นวดตัว หรือพักผ่อนเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง จากการสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารที่มีศูนย์การค้าเช่นนี้ ทำให้สนามบิน Schiphol มีรายได้เพิ่มจากการให้เช่าและจับจ่ายใช้สอยของผู้โดยสาร นอกจากนี้สนามบินสามารถดึงดูดประชาชนที่พักอาศัยในกรุงอัมสเตอร์ดัมให้มาช็อปปิ้งและหาความบันเทิงในอาคารสนามบินเฉพาะส่วนพื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์ เมื่อร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ในเมืองไม่เปิดขาย

 

สำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารของสนามบิน Schiphol คือ World Trade Center ที่มีศูนย์ประชุมและการพาณิชย์ ตลอดจนสำนักงานภูมิภาคของบริษัทต่างๆ เช่น Thomson, CFS และ Unilever อีกทั้งมีโรงแรมระดับ 5 ดาว สองโรงติดกับศูนย์นี้ สำหรับในพื้นที่ซึ่งห่างออกไปขนาดเดิน 10 นาที จะเป็นกลุ่มอาคารสำนักงานคุณภาพระดับสูง ซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินและบริษัทต่างประเทศด้านบริการทางพาณิชย์และการเงิน มูลค่าทางพาณิชย์ของทรัพย์สินเหล่านี้จะเห็นได้จากค่าเช่าสำนักงาน ซึ่งสามารถเรียกเงินกินเปล่าได้สูงมาก การค้นคว้าวิจัยของบริษัท Jones Lang LaSalle ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ แสดงให้เห็นถึงค่าเช่าสำนักงานในพื้นที่สนามบินเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งโดยเฉลี่ยมีราคาตารางเมตรละ 363 ยูโรต่อปี เทียบกับในกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ซึ่งมีราคาตารางเมตรละ 250 ยูโรต่อปี และในเขตชานเมืองอัมสเตอร์ดัมที่มีราคาตารางเมตรละ 226 ยูโรต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงปี พ.ศ. 2540 และ 2545 อัตราค่าเช่าพื้นที่สำคัญๆ ของสนามบิน Schiphol เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65

 

นอกจากนี้ตลอดริมเส้นทางมอเตอร์เวย์ A4 และ A9 ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางพาณิชย์ของสนามบินประมาณ 500 และ 1,000 เมตร จะมีกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค กลุ่มธุรกิจ กลุ่มโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กลุ่มศูนย์จัดจำหน่าย กลุ่มศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร และศูนย์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งบริษัททั้งหมดนี้จะเกี่ยวข้องกับผู้ที่ต้องใช้สนามบินในการทำธุรกิจทั้งสิ้น

 

2.2 สนามบินออนแทริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยที่ความเจริญเติบโตในเชิงพาณิชย์รอบสนามบินออนแทริโอ ซึ่งอยู่ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียได้ทำให้พื้นที่โดยรอบกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการบิน ซึ่งเป็นรากฐานของศูนย์โลจิสติกส์หลักโดยอยู่ทางตะวันออกของเมืองลอสแอนเจลิส 64 กิโลเมตร และเป็นตัวอย่างที่ดีของสนามบินที่มีเส้นทางหลวงเชื่อมอย่างสมบูรณ์

 

สนามบินนี้ต่อเชื่อมโดยทางด่วนระหว่างรัฐสาย I-10 และ I-15 ซึ่งอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก และเหนือ-ใต้ ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการสร้างคลังสินค้าและพื้นที่การกระจายสินค้าเพิ่มมากกว่า 2.5 ล้านตารางเมตร ติดกับสนามบินและริมทางด่วนระหว่างรัฐทั้งสองสาย ต่อมาปี พ.ศ. 2544 และ 2545 ได้มีการสร้างพื้นที่เพิ่มอีก 2.5 ล้านตารางเมตร เพื่อการพาณิชย์แบบ E-Commerce และสถานที่อำนวยความสะดวกในการกระจายสินค้า

 

การขยายตัวของบริการการขนส่งด่วน ณ สนามบินออนแทริโอและพื้นที่โดยรอบช่วยเพิ่มความสำคัญของสนามบินนี้ในฐานะที่เป็นศูนย์โลจิสติกส์ และ E-Commerce โดยในปี พ.ศ. 2544 บริษัท UPS ซึ่งมีศูนย์ด้านฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่สนามบินออนแทริโอได้จัดส่งพัสดุน้ำหนักมากกว่า 300,000 ตัน ในขณะที่บริษัท FedEx จัดส่งมากกว่า 40,000 ตัน บริการส่งด่วนนี้ยังมีน้ำหนักรวมอีก 40,000 ตัน ที่ส่งโดยบริษัท BAX Global, Emory Worldwide และ Airborne Express การพัฒนาสนามบินออนแทริโอให้เป็นเมืองศูนย์กลางการบิน โดยมีพื้นฐานอยู่ที่โลจิสติกส์ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบเป็นศูนย์การค้าใหญ่ในเมืองที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของสหรัฐอเมริกา

 

2.3 สนามบินวีราโคโปส ในประเทศบราซิลมีการสร้างเมืองศูนย์กลางการบินอยู่รอบสนามบินนานาชาติวีราโคโปส (Viracopos) ในเมืองคัมปินัสซึ่งอยู่ห่าง 80 กิโลเมตร ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเซาเปาโล ในพื้นที่ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค การกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ สนามบินวีราโคโปสได้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศและการจัดการ E-Commerce ในทวีปอเมริกาใต้อย่างรวดเร็ว โดยมีรูปแบบเป็นเมืองการบิน อันเป็นผลมาจากกลุ่มโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมไฮเทคตามทางหลวงสายหลักจากสนามบิน

 

2.4 สนามบินนานาชาติฮ่องกงขณะนี้เมืองศูนย์กลางการบินในรูปแบบที่เด่นชัด กำลังเกิดอยู่โดยรอบสนามบินนานาชาติใหม่ๆ หลายแห่งในทวีปเอเซีย ตัวอย่างได้แก่ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของฮ่องกง ซึ่งกำลังมีกลุ่มธุรกิจการค้าเกิดขึ้นใหม่เชื่อมต่อกับสนามบิน ขณะนี้กำลังมีการพัฒนาพื้นที่ 1 ล้านตารางเมตร เป็นย่านพาณิชย์ซึ่งอยู่ติดกับเขตสนามบิน บริเวณนี้มีชื่อว่าฮ่องกงสกายซิตี้ โดยจะประกอบด้วย อาคารสำนักงาน ร้านค้าปลีก ศูนย์ธุรกิจ โรงแรมขนาดใหญ่ ศูนย์บันเทิงและสันทนาการ นอกจากนี้ยังมีการสร้างศูนย์แสดงสินค้านานาชาติด้วยงบประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท วอลท์ ดิสนี่ย์ ได้แถลงว่าบริษัทจะสร้างสวนสนุกฮ่องกง ดิสนี่ย์แลนด์ ในพื้นที่ใกล้สนามบินเพื่อถือโอกาสจากการที่สนามบินแห่งนี้มีรถไฟเร็วและทางด่วนเชื่อมเกาลูนและฮ่องกง การตัดสินใจของบริษัทนี้ ไม่ต่างจากการที่บริษัทเลือกสร้างโตเกียว ดิสนี่ย์แลนด์ ที่อยู่ใกล้สนามบินนานาชาตินาริตะของญี่ปุ่น และยูโรดิสนี่ย์แลนด์ที่อยู่ใกล้สนามบินชาร์ลส์ เดอ โกล ที่ปารีส

 

สนามบินนานาชาติฮ่องกงยังสามารถเชื่อมต่อประเทศจีนตอนใต้โดยทางเรือเฟอรี่ข้ามฟากความเร็วสูง สำหรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางน้ำเชื่อมต่อศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ทางฝั่งทะเลของจีนแผ่นดินใหญ่ 14 แห่ง เข้ากับสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการเชื่อมการขนส่งทางทะเลกับการขนส่งทางอากาศผ่านอาคารผู้โดยสารสนามบิน ตลอดจนศูนย์ธุรกิจและนิคมโลจิสติกส์ของสนามบินและบริเวณใกล้เคียง

 

2.5 สนามบินนานาชาติอินชอน เกาหลีใต้ ขณะนี้รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังก่อสร้างเมืองศูนย์กลางการบินตามแผนพัฒนาหลัก อยู่ใกล้สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ โดยมีชื่อว่า Winged City ซึ่งจะเปิดให้บริการพาณิชย์ตลอด 24 ชั่วโมงบนเกาะย็องจ็อง ประมาณ 50 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโซล สนามบินนานาชาติอินชอนจะช่วยให้เกิดการขยายเมืองสนามบิน ซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคที่อยู่อาศัย และภาคการท่องเที่ยว จุดเด่นจะได้แก่ มีเดีย แวลลี่ย์ ซึ่งจะเป็นเสมือน ซิลิคอน แวลลี่ย์ ของเกาหลี (ที่เลียนแบบซิลิคอน แวลลี่ย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์กิจกรรม/การผลิตอุตสาหกรรรมไฮเทค) มีเดีย แวลลี่ย์กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างโดยการออกแบบให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมไฮเทคของโลก ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3.6 ล้านตารางเมตร ติดกับสนามบิน ซึ่งจะรวมถึง Techno-park และศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัย จากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามี 625 บริษัทส่งจดหมายแจ้งความจำนงว่า จะขอย้ายเข้ามาอยู่ที่มีเดีย แวลลี่ย์ ซึ่งในจำนวนนี้มี 49 บริษัท มาจากประเทศแคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2548 จะมีบริษัทจำนวน 2,000 บริษัท ตั้งอยู่ในมีเดีย แวลลี่ย์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเมืองมหาวิทยาลัย

 

เมืองใหม่ดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างให้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ทำงานที่มีเดีย แวลลี่ย์ด้วย เมืองศูนย์กลางการบินแห่งนี้จะมีทางด่วนและรถไฟเชื่อมต่อไปยังตัวเมืองโซล และผู้ทำงานที่มีเดีย แวลลี่ย์ ตลอดจนผู้พักอาศัยอยู่ที่เมืองใหม่จะสามารถเดินทางเข้าไปที่สนามบินอินชอนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

 

ในปี พ.ศ. 2548 สนามบินนานาชาติอินชอนจะสมบูรณ์ขึ้นโดยมีท่าเรือน้ำลึกและ Teleport ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีแผนจะรวมเป็น Triport สำหรับการคมนาคมขนส่งและการกระจายสินค้า

 

2.6 สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียโดยมีการสร้างเมืองศูนย์กลางการบินรอบๆ สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ สนามบินใหม่ขนาดใหญ่นี้ออกแบบมาเพื่อเป็นรากฐานทางการบินสำหรับ Multimedia Super Corridor (MSC) ซึ่งเป็นโซนอุตสาหกรรมไฮเทค การพาณิชย์ การศึกษา และที่อยู่อาศัย MSC ได้รับการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติว่าเป็นศูนย์เทคโนโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเอเซียในอนาคต MSC จะประกอบด้วย เมืองใหญ่ 2 เมือง คือ Putrajaya เป็นเมืองราชการของรัฐบาลโดยย้ายส่วนราชการมาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ และ Cyberjaya หรือ Cyber-city ทั้งนี้ แต่ละเมืองจะมีผู้อยู่อาศัยอยู่ประมาณสองแสนห้าหมื่นคน พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยเพื่อฝึกอบรมผู้ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

2.7 สนามบินนานาชาติสิงคโปร์ สนามบิน Changi ของสิงคโปร์ถือได้ว่าเป็นเมืองสนามบินที่มีสมรรถนะมากที่สุดและมีศิลปะมากที่สุด ที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นเมืองศูนย์กลางการบินเต็มรูปแบบ โดยตรงกลางด้านหน้าอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศจะมีอาเขตซึ่งจะเปิดตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และประกอบไปด้วยร้านค้าปลีกที่ออกแบบจัดแต่งตามลักษณะสินค้าต่างๆ พร้อมทั้งมีภัตตาคาร ศูนย์กลางการบันเทิง และศูนย์ธุรกิจไว้บริการแก่ผู้โดยสารสนามบินและประชาชนสิงคโปร์เป็นการทั่วไป

 

โดยสรุปการพัฒนาสนามบินที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลกจะนำไปสู่พื้นที่ซึ่งมีศักยภาพทางธุรกิจสมัยใหม่ซึ่งอยู่โดยรอบสนามบิน หากมีการวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินเหล่านี้เพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ชุมชนที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรมการขนส่งที่รวดเร็วอย่างเหมาะสมแล้ว ย่อมจะทำให้เสริมฐานะธุรกิจด้านการบินและการขนส่งอากาศให้แก่สนามบินด้วย และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองและภูมิภาคโดยรอบ ซึ่งประเทศไทยก็หนีไม่พ้นกฎการทำธุรกิจสมัยใหม่ข้อนี้ จึงจำเป็นจะต้องมีการวางแผนนำพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิมาใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพต่อไป เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจของโลกสมัยใหม่ เป็นการวางพื้นฐานที่ดีให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป