อ่านแผ่นดินฯ

  โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

   
   
 

สนามบินสุวรรณภูมิ สะท้อนความเป็นมา 3 พันปี ของ "สยามประเทศไทย" ในสุวรรณภูมิ

 

ภูมิศาสตร์ของประเทศไทยในแผนที่โลกอยู่ใจกลางภูมิภาคอุษาคเนย์ (หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่ชาวชมพูทวีป (คืออินเดียโบราณ) กับชาวสิงหล (คือลังกาโบราณ) รู้จักมักคุ้นดีในชื่อ สุวรรณภูมิ แล้วมีผู้ถอดเป็นไทยในภายหลังว่า แหลมทอง

 

บริเวณภาคใต้ของไทยเป็นแผ่นดินยื่นยาวลงไปต่อเนื่องถึงมาเลเซีย กลายเป็นดินแดนคาบสมุทรแหลมทอง ขนาบด้วยสองทะเลสมุทร คือ ทะเลสมุทรแปซิฟิกอยู่ทางตะวันออก กับทะเลสมุทรอินเดียอยู่ทางตะวันตก

 

ทะเลสมุทรตะวันออกเป็นเส้นทางติดต่อถึงจีน ส่วนทะเลสมุทรตะวันตกเป็นเส้นทางติดต่อถึงอินเดียและดินแดนตะวันออกกลาง เชื่อมโยงถึงอาหรับ เปอร์เซีย และกรีก-โรมัน ฯลฯ ภายหลังต่อมาก็ถึงยุโรปด้วย เหตุนี้เองที่เกื้อกูลหนุนให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ นับเป็นผลพวงของภูมิศาสตร์สุวรรณภูมิอย่างแท้จริง

 

สุวรรณภูมิมี 2 ความหมาย อย่างแรกหมายถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ทั้งหมด แต่ อย่างหลังยังถกเถียงกันไม่ยุติว่าหมายถึงอะไร ? ที่ไหน ? ที่พระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ ๒ รูปมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิ

 

เมื่อปีที่แล้ว ผมรวบรวมพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ และบทความวิชาการของนักปราชญ์ราชบัณฑิตชาวสยามไว้ครบถ้วน แล้วตั้งชื่อหนังสือว่า สุวรรณภูมิอยู่ที่นี่ ที่แผ่นดินสยาม (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ) เพราะมีหลักฐานหนักแน่นและจำนวนมากพอที่จะบอกว่าบริเวณที่พระสงฆ์ 2 รูปจากชมพูทวีป มาแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกในสุวรรณภูมิ คือบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ที่ภายหลังเติบโตขึ้นเป็นรัฐ แล้วปัจจุบันรู้จักในชื่อเมืองอู่ทองที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

 

กระทั่งล่าสุด ผมยกประเด็นนี้มาเสนอเป็นรายงานพิเศษเรื่อง สยามประเทศไทยในสุวรรณภูมิที่เมืองอู่ทองไว้ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับขึ้นปีที่ 25 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2546 เพื่อย้ำให้เห็นหลักฐานและความสำคัญที่มีอยู่ในดินแดนสยามตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว และมีพัฒนาการต่อเนื่องเป็นคนไทยและประเทศไทยทุกวันนี้

 

สุวรรณภูมิในสยาม บริเวณเมืองอู่ทอง หรือแม่กลอง-ท่าจีน

 

ราว 2,500 ปีมาแล้ว พ่อค้าชาวชมพูทวีป (อินเดีย) ที่เดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของสินค้ากับหัวหน้าชุมชนในดินแดนอุษาคเนย์ ต่างมีความมั่งคั่งจากการค้าขายทางทะเล จึงมีคำบอกเล่ากล่าวขวัญถึงอุษาคเนย์ว่าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและมีแร่ธาตุสำคัญ เลยพากันเรียกภูมิภาคนี้ว่า สุวรรณทวีปบ้าง สุวรรณภูมิบ้าง ตั้งแต่ครั้งนั้นสืบมา

 

นอกจากค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของสินค้าแล้ว คนพื้นเมืองโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำยังรับเอาอารยธรรมจากชมพูทวีปคืออินเดียมาใช้ในชุมชนท้องถิ่นด้วย

 

ชาวอินเดียโบราณที่เดินเรือทะเลเลียบชายฝั่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวสุวรรณภูมิ นอกจากพ่อค้าที่มั่งคั่งแล้วยังมีชนวรรณะอื่นและกลุ่มอื่นด้วย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ และนักบวช ฯลฯ ด้วยความต้องการต่างๆ กันไป บางพวกเข้ามาตั้งหลักแหล่งชั่วคราวไปๆ มาๆ แต่บางพวกตั้งถิ่นฐานถาวรด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ลี้ภัยทางการเมือง โจรสลัด เป็นต้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนพื้นเมืองก็มี บางพวกแต่งงานกับคนพื้นเมืองแล้วสืบโคตรตระกูลมีลูกหลานกลายเป็นคนพื้นเมืองไปก็ไม่น้อย

 

หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วราวๆ 300 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่าระหว่าง พ.ศ. 200-300 มีพระสงฆ์ 2 รูป คือ พระโสณะ กับ พระอุตตระ อาศัยเรือพ่อค้าเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกที่ดินแดนสุวรรณภูมิ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเริ่มประดิษฐานลงในภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรก ตรงบริเวณที่อยู่ระหว่างลำน้ำแม่กลอง-ท่าจีน (ปัจจุบันคือเขตอำเภออู่ทอง-จังหวัดสุพรรณบุรี กับบ้านดอนตาเพชร เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี)

 

พร้อมกันครั้งนั้น พวกพราหมณ์ก็เข้ามาเผยแผ่ศาสนาฮินดูด้วย ทำให้ชุมชนท้องถิ่นใกล้ทะเลบางแห่งรับพุทธศาสนา บางแห่งรับศาสนาฮินดู แต่มีบางชุมชนแรกรับพุทธแล้วเปลี่ยนเป็นฮินดู บางชุมชนแรกรับฮินดูแล้วเปลี่ยนเป็นพุทธ เป็นเหตุให้มีหลายแห่งรับทั้งพุทธและฮินดูปะปนอยู่ด้วยกันในชุมชนเดียวกัน

 

เหตุที่เป็นอย่างนั้น เพราะการจะรับหรือไม่รับสิ่งใดเป็นอำนาจหรือดุลยพินิจวิจารณญาณของหัวหน้าหรือเจ้าเมืองที่เป็นชนชั้นปกครอง ไม่ใช่อำนาจของพ่อค้าจากชมพูทวีป หรือนักบวช หรือพราหมณ์ที่นำศาสนามาเผยแผ่

 

เส้นทางคมนาคมค้าขายแลกเปลี่ยนกับจีน-อินเดีย

 

ะหว่าง พ.ศ.400-500 พวกจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ขยายการค้าแผ่เข้ามา สุวรรณภูมิทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้สุวรรณภูมิกลายเป็นดินแดนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างตะวันตก คืออินเดีย กับตะวันออกคือจีน เป็นเหตุให้ปริมาณการค้าขายแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น มีผู้คนชาติพันธุ์อื่นๆ จากที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน กับบางพวกเข้ามาตั้งหลักแหล่งถาวร กลายเป็นคนพื้นเมืองต่อไปจำนวนไม่น้อย

 

ความเคลื่อนไหวทางการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้ ทำให้มีเมืองท่าหรือสถานีการค้าทางทะเลเกิดขึ้น 2 แห่งสำคัญ คือ คลองท่อม หรือ ตะโกลา (Takola ที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่) ทางอ่าวพังงา ฝั่งทะเลตะวันตก กับออกแก้ว (Oc-eo) หรือฟูนัน (Funan) (ที่ปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม) ทางฝั่งทะเลตะวันออก

 

ในช่วงเวลานี้เองบริเวณสุวรรณภูมิ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็เกิดบ้านเมืองสำคัญขึ้นทางฟากตะวันตกของอ่าวไทย (หรือสมัยหลังต่อมาคือฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา) ตรงที่เป็นดินแดนระหว่างลำน้ำแม่กลองกับลำน้ำท่าจีน (ปัจจุบันมีลำน้ำสาขาเรียกลำน้ำจรเข้สามพัน) รู้จักกันต่อมาภายหลังในชื่อเมืองอู่ทอง (อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี)

 

เมืองอู่ทองนี่เองที่ชนชั้นสูงอันมีเจ้าเมืองเป็นผู้นำ เลือกรับพระพุทธศาสนาแล้ว ก็น่าจะเริ่มสร้างสถูปเจดีย์เป็นครั้งแรกและแห่งแรกขึ้นที่นี่ หลังจากนั้นจึงมีการสร้างแผ่กระจายกว้างขวางออกไปยังที่อื่นๆ อย่างสืบเนื่องในภายหลัง (เช่น ที่นครปฐมโบราณ)

 

ชาดก-ไตรภูมิ และ รามายณะ-มหาภารตะ

 

ชนชั้นสูงของเมืองอู่ทองยุคแรกรับอารยธรรมจากอินเดีย เรียนรู้คัมภีร์สำคัญทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายพราหมณ์ (ฮินดู)

 

คัมภีร์ฝ่ายพุทธ ได้แก่ พระสูตร และชาดกหรือพุทธศาสนานิทาน เห็นได้จากจารึกและภาพปูนปั้นสมัยต่อไป

 

คัมภีร์ฝ่ายพราหมณ์ (ฮินดู) ได้แก่ มหากาพย์ 2 เรื่อง คือ มหาภารตะ กับรามายณะ เห็นได้จากชื่อบ้านเมืองและพระนามกษัตริย์สมัยต่อไป

 

คัมภีร์เหล่านี้จะสืบทอดสู่ยุคต่อไปดังปรากฏอยู่ในภาพปูนปั้นประดับศาสนสถานและชื่อกษัตริย์ ตลอดจนชื่อรัฐที่ได้จากคัมภีร์เหล่านั้น สืบมาจนถึงสมัยหลังและรู้จักกันกว้างขวางอย่างดี คือ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาแล้วเรียกกันสั้นๆ ว่ากรุงศรีอยุธยา

 

พิพิธภัณฑ์สุวรรณภูมิ

 

หลักฐานดังที่เสนอมาอย่างย่อๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่าบริเวณสยามประเทศไทยคือ สุวรรณภูมิตามชื่อในคัมภีร์ของอินเดียและลังกาสมัยโบราณ (มีรายละเอียดอีกมากอยู่ในหนังสือที่บอกมาแล้ว)

 

ฉะนั้น สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า และได้ชื่อ สุวรรณภูมิ จึงถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นมาในประวัติศาสตร์ ยาวนานเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งถือเป็นสิริมงคลยิ่ง นอกจากนั้นยังถูกต้องตามภูมิศาสตร์ด้วย

 

ความสำคัญอย่างนี้ ควรจัดเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ทั่วไปอย่างกว้างขวางในรูปของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีอาคารสถานที่อยู่แล้ว คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บริเวณเมืองอู่ทองโบราณ หรือสุวรรณภูมิ นั่นเอง โดยเน้นแสดงหลักฐานพบที่บ้านดอนตาเพชรกับที่เมืองอู่ทองอันเป็นศูนย์กลางเส้นทางคมนาคมการค้าของภูมิภาคตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ และเป็น สุวรรณภูมิที่พระสงฆ์ 2 รูปจากราชสำนักพระเจ้าอโศกเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คือ South East Asia กลุ่มอาเซียนปัจจุบัน)

 

ถ้าอยากให้ดูดีขึ้นอีก ก็จัดแสดงเรื่องสุวรรณภูมิอย่างย่อๆ สั้นๆ เป็นนิทรรศการไว้ใน สนามบินสุวรรณภูมิ ให้เป็นที่รู้ของนานาชาติที่ผ่านเข้ามาเป็นด่านแรก แล้วแนะนำให้ไป "ท่องเที่ยว" ถึงสถานที่จริงคือเมืองอู่ทอง กับบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง

 

หากทำได้จะแสดงให้เห็นภูมิปัญญาลึกซึ้งของคนไทยสมัยนี้ ส่งผลให้มีการเดินทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและยาวนานด้วย

   

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1211 หน้า 72