เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ศาสตราจารย์พิเศษ
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาทางวิชาการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) เรื่อง
การส่งออกสินค้าไทยภายใต้สงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ณ ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในเชิงลึกโดยเฉพาะข้อมูลการส่งออกสินค้าของไทยในรายการสินค้าที่อยู่ภายใต้และภายนอกมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ
และจีน รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบ โอกาส
และความท้าทายของการส่งออกของไทยที่จะเกิดจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า
และนำเสนอเผยแพร่ผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ โอกาส
และความท้าทายของการส่งออกของไทยภายใต้สถานการณ์การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
และจีน รวมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ
และภาคเอกชน
เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย
และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2562 นอกจากนี้
ยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางด้านองค์ความรู้และทางวิชาการระหว่างเจ้าหน้าที่
สศช. กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
งานสัมมนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1
ได้รับเกียรติจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร
จำกัด(มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปี 2562”
โดย ดร. ศุภวุฒิ กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2562
มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญเป็นส่วนใหญ่
ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น นอกจากนี้
เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะชะลอตัวรุนแรงกว่าคาด
ในขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ อาทิ บราซิล
และอินเดียจะขยายตัวในเกณฑ์ดีซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมไม่ชะลอตัวรุนแรงมากนัก
และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
2562 ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานสำคัญ ๆ ได้แก่
(1) สหรัฐฯ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าในระยะสั้น
แม้ว่าอาจจะมีสงครามเย็นทางการค้า (Trade-Cold War)
เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ
กับจีนนั้นมีวัตถุประสงค์มากกว่าทางการค้าแต่เป็นการแย่งชิงความเป็นประเทศมหาอำนาจในระยะยาว
(2) การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ระดับต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี
2562 และมีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น (3) การเจรจา Brexit
สามารถเป็นไปอย่างมีข้อตกลง (No Hard Brexit)
และไม่มีการดำเนินมาตรการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ระหว่างสหรัฐฯ
และสหภาพยุโรป (No Auto Tariffs) และ (4) ธนาคารกลางสหรัฐฯ
จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ภายในปี 2562 นอกจากนี้
ดร.ศุภวุฒิ
ได้กล่าวถึงความเสี่ยงด้านลบที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น
ประกอบด้วย (1) การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ
และจีนเป็นไปอย่างยืดเยื้อ (2)
การที่เศรษฐกิจยูโรโซนพึ่งพิงอุปสงค์ภายนอกในระดับสูง ซึ่งรวมถึงจีน
(3) ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอลงรุนแรงกว่าคาด
ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนไม่ขยายตัว และ (4)
ความเสี่ยงของการขึ้นภาษีนำเข้าในส่วนของสินค้ายานยนต์ระหว่างสหรัฐฯ
และสหภาพยุโรป
โดยมองว่าประเด็นความเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ ดร.ศุภวุฒิ
ยังได้กล่าวเสริมว่าหากเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น
น่าจะเป็นผลจากการชะลอลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีน
มากกว่าผลจากการเจรจา Brexit อย่างไรก็ดี
พบว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนั้นยังไม่เข้าสู่จุดเสี่ยงของการเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยมากนัก
ช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาในหัวข้อ
"โอกาสและข้อจำกัดของการส่งออกไทยภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้า”
จากมุมมองผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาคเอกชน และภาครัฐ 4 ท่าน ประกอบด้วย
นายวิชญายุทธ บุญชิต
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายจักรินทร์ โกมลศิริ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมีนางสาวอานันท์ชนก สกนธวัฒน์
ผู้อำนวยการส่วนประมาณการและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ
สศช. กล่าวว่า การส่งออกของไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัด 2 ประการที่สำคัญ
คือ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562
และแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกับในช่วงปี
2556-2557 ซึ่งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ร้อยละ 3.5
และค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับ 30.7 – 32.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
ซึ่งส่งผลให้การส่งออกไทยในช่วงดังกล่าวไม่ขยายตัวหรือปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ นายวิชญายุทธ
ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งออกต่อเศรษฐกิจไทย
ที่ไม่เพียงแต่มีสัดส่วนสูงมากกว่าร้อยละ 50 ของ GDP
แต่การส่งออกสามารถส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางอื่นเพิ่มเติม
คือการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงาน และการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
ซึ่งจะเห็นได้จากการฟื้นตัวและการขยายตัวของการส่งออกในช่วงหลังปี
2560 ทำให้การผลิตขยายตัว การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
และเมื่ออัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจนถึงระดับหนึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต
ซึ่งจะเห็นได้จากการเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในช่วงของครึ่งหลังของปี
2561 นอกจากนั้นเมื่อการผลิตขยายตัวและภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น
จะทำให้การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น
และส่งผลให้รายได้ของประชาชนและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นในอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561
และเริ่มปรับตัวลดลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี
หากปล่อยให้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว
จะส่งผลให้การผลิตลดลง อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง
และในที่สุดแล้วจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชน การจ้างงาน
และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนชะลอตัวลง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2556
– 2558 ดังนั้น
หากจะรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ก็จะต้องทำทุกวิถีทางในการที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนการส่งออกในปีนี้ให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
นายวิชญายุทธ
ยังได้กล่าวอีกว่ามาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ
และจีนที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อภาพรวมการค้าโลกเพียงอย่างเดียว
แต่ยังเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยผ่านทางการปรับเปลี่ยนทิศทางทางการค้า
(Trade Diversion) ของทั้งตลาดจีนและสหรัฐฯ
ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ในปี 2561
แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศได้รับประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนทิศทางทางการค้าอย่างชัดเจน
โดยมีประเทศสำคัญๆ
ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าในตลาดจีน เช่น
ออสเตรเลีย รัสเซีย เม็กซิโก และ ฮ่องกง เป็นต้น
และประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าในตลาดสหรัฐฯ
เช่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร เม็กซิโก ไต้หวัน ออสเตรเลีย และเวียดนาม
เป็นต้น สำหรับในกรณีของประเทศไทย ผลการศึกษาวิเคราะห์ของ สศช.
พบว่าภายใต้สินค้าที่มีการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจำนวน
12,712 รายการ (มูลค่า 360,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.)
เป็นสินค้าไทยที่อยู่ภายใต้มาตรการดังกล่าวจำนวน 6,464 รายการ (มูลค่า
57,623 ล้านดอลลาร์ สรอ.)
ซึ่งจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยจากทั้งสหรัฐฯ และจีน จะเห็นว่าในปี
2561 กลุ่มสินค้าภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าขยายตัวเร่งขึ้น
ขณะที่สินค้าที่อยู่นอกมาตรการกีดกันทางการค้ากลับชะลอตัวลง
นอกจากนั้น
เพื่อเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นโอกาสที่จะเกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างชัดเจนมากขึ้น
สศช. จึงได้แบ่งสินค้าส่งออกของไทยจำนวน 6,464
รายการที่อยู่ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าว ออกเป็น (1)
กลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก Trade Diversion ประกอบด้วย (i)
กลุ่มที่มูลค่าการส่งออกลดลงในปี 2560 แต่ขยายตัวในปี 2561 (กลุ่ม A)
และ (ii) กลุ่มที่ขยายตัวต่อเนื่องในปี 2560 และปี 2561 (กลุ่ม B1-B3)
(2) กลุ่มสินค้าที่เผชิญความท้าทาย หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยง
ประกอบด้วย (i) กลุ่มที่ชะลอตัวลงทั้งปี 2561 และ H2/2561 (กลุ่ม B4)
และ (ii) กลุ่มที่ขยายตัวในปี 2560 แต่ลดลงในปี 2561 (กลุ่ม C)
ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบด้านลบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
ที่อาจเกิดจากผลของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain effect) มีมูลค่า
21,945 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 38.1 ของมูลค่าการนำเข้าจีนและสหรัฐฯ
จากไทยรวมภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้า) และ (3)
กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น เช่น
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ กลุ่มที่ลดลงทั้งปี 2560 และปี 2561
(กลุ่ม D)
โดยพบว่ากลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า
(กลุ่ม A และกลุ่ม B1-B3) มีมูลค่ารวม 30,725 ล้านดอลลาร์ สรอ.
(คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.3 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยของตลาดสหรัฐฯ
และจีนภายใต้มาตรการ) ในขณะที่กลุ่มที่มีความเสี่ยง (กลุ่ม B4 และ C)
มีมูลค่ารวม 21,945 ล้านดอลลาร์ สรอ. (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.1
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยของตลาดสหรัฐฯ และจีนภายใต้มาตรการ)
ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาโครงสร้างรายหมวดของสินค้าไทย
พบว่ากลุ่มสินค้าที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า
ประกอบด้วย (1) กลุ่มที่มีโอกาสทั้งตลาดสหรัฐฯ และจีน เช่น
เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ที่ใช้ทางทัศนศาสตร์ อาหารปรุงแต่ง
เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น (2)
กลุ่มสินค้าที่มีโอกาสในตลาดใดตลาดหนึ่ง ได้แก่ สิ่งทอ
ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทางเคมี ของที่ทำจากหนัง เป็นต้น และ (3)
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ได้แก่ พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์
สินค้าประเภทไขมันและน้ำมันพืชที่ได้จากสัตว์หรือพืช เป็นต้น
นอกจากนี้ นายวิชญายุทธ
ยังให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้า
เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ ดังนี้ (1)
ผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรนำข้อมูลรายการสินค้าที่มีโอกาสและได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าฯ
ที่ สศช. เผยแพร่โดยความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์
ไปพิจารณาใช้ประโยชน์ในการวางแผน
ปรับตัวและแสวงหาโอกาสในการส่งออกสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ (2)
การสำรวจความสามารถในการทดแทนการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสจาก
Trade diversion ในตลาดสหรัฐฯ และจีน โดยฉพาะรายการสินค้าในกลุ่ม A B1
B2 และ B3 และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
และผู้ประกอบการร่วมกันขับเคลื่อนการส่งออกรายการสินค้าในกลุ่มดังกล่าวซึ่ง
สศช.
และกระทรวงพาณิชย์ได้นำมาเปิดเผยในรายละเอียดระดับรายสินค้าเช่นเดียวกัน
และ (3)
การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบด้านลบจากความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต
โดยเฉพาะรายการสินค้าในกลุ่ม C ให้สามารถปรับตัวไปยังตลาดอื่น ๆ
ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่าบางตลาดยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่ม
C อย่างต่อเนื่อง
สำหรับ นางสาวกัณญภัค
ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
(สรท.) ได้ให้ความเห็น 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นแรก
ภาพรวมสถานการณ์การส่งออกและแนวโน้มการส่งออกของไทย
โดยพบว่าการส่งออกของไทยในปี 2561
ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
และเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นปี 2562
ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกไปจีนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ส่งผลให้ สรท.
ปรับลดการคาดการณ์มูลค่าการส่งออกในปี 2652 จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 3
โดยมีเป้าหมายมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีอยู่ที่ประมาณ 22,000
ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือน และ ประเด็นที่สอง
เกี่ยวกับข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย
โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital
Economy) เสนอให้ประเทศไทยจัดตั้ง National E-commerce Platform
ในลักษณะหน่วยงานธุรกิจกับหน่วยธุรกิจ (Business to Business: B2B)
มากขึ้น (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง
ควรปรับปรุงแก้ไขเนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาความแออัดของท่าเรือและความไม่สะดวกในการเข้าไปใช้บริการ
(3) ด้านกฎระเบียบ บางส่วนยังไม่เอื้อกับผู้ประกอบการ มีความล้าหลัง
และเพิ่มต้นทุนการดำเนินการ ในขณะเดียวกัน ต้องมีการติดตามกฎ ระเบียบ
และข้อบังคับของต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และ (4) ด้านสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emission)
ซึ่งกำหนดให้ใช้น้ำมันที่มีลักษณะเป็น Low Sulfur Diesel
ซึ่งจะส่งผลต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น
ทางด้าน นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้ความเห็น 2
ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นแรก
แนวโน้มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพรายสาขา ประกอบด้วย (1)
อุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่าในปี 2562
อุตสาหกรรมยานยนต์จะยังเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย
แต่จะชะลอลงจากการขยายตัวสูงในปี 2561
โดยคาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์จะอยู่ที่ 2.15 ล้านคัน
(เพื่อบริโภคในประเทศ 1.05 ล้านคัน และส่งออก 1.1 ล้านคัน) (2)
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ คาดว่าในปี 2562 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้า USMCA
อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปยังสหรัฐฯ แคนาดา
และเม็กซิโก แต่คาดว่าภายหลังจากการสิ้นสุดของข้อตกลง USMCA
แล้วมีแนวโน้มที่จะทำให้ไทยสามารถส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ได้เพิ่มขึ้น
(3) อุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม คาดว่าในปี
2562 การส่งออกจะขยายตัวดีขึ้นตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
และการขยายตัวของสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
(Smart electronics) นอกจากนี้
ผู้ประกอบการควรพิจารณาปรับการดำเนินธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตเป็นผู้ค้าหรือผู้จำหน่ายมากขึ้น
(4) อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป คาดว่าในปี 2562
จะขยายตัวดีตามตามความต้องการภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
(5) อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย
ซึ่งปัจจุบันมีการย้ายฐานจากประเทศจีนกระจายไปยังประเทศอื่น ๆ
ในภูมิภาคอาเซียน โดยสินค้าคุณภาพสูง (High-end)
มีการย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศไทย
โดยมองว่าการผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าวจะขยายตัวได้อย่างยั่งยืนนั้น
จำเป็นต้องพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ (Innovative
products) มากขึ้น (6) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ยังมีกำลังการผลิต (Capacity utilization)
เพียงพอ
แต่หากใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้วอาจเกิดการขยายกำลังการผลิตในอนาคต
(7) อุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าในปี 2562
จะยังคงขยายตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน (8)
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ คาดว่าในปี 2562 จะขยายตัวได้ดี
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมและอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยยังมีจุดแข็งในด้านการออกแบบที่ทันสมัยเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากประเทศอื่น
ๆ (9) อุตสาหกรรมพลาสติก คาดว่าในปี 2562 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
และ ประเด็นที่สอง
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม
โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ (1)
การปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าขั้นกลางหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูป
(Semi-finished goods) มาเป็นการผลิตสินค้าสำเร็จรูป (Finished goods)
ให้มากขึ้น (2) การเร่งรัดเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรี ได้แก่
ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP)
และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
รวมถึงการเจรจาการค้ากับประเทศต่าง ๆ (3)
การส่งออกเพื่อทดแทนตลาดของทั้งสหรัฐฯ และจีน รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่
ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน อินเดีย แอฟริกาตะวันออก และละตินอเมริกา
(4) ภายใต้ข้อตกลงสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (USMCA)
ผู้ประกอบการไทยอาจต้องพิจารณาการย้ายฐานการผลิตไปตั้งโรงงานในสหรัฐฯ
เม็กซิโก และแคนาดา (5) การลดผลกระทบจากค่าเงิน
โดยไม่ควรนำเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มารวมอยู่ในตะกร้าเงินเพื่อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน
เนื่องจากไม่สะท้อนค่าเงินบาทที่แท้จริง (6)
การปรับตัวจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP)
โดยผู้ประกอบการไทยไม่ควรมุ่งหวังแต่เพียงสิทธิประโยชน์จาก GSP
แต่ควรมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นสำคัญ ส่วน
นายจักรินทร์ โกมลศิริ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ความเห็น 3 ประเด็นที่สำคัญ
ได้แก่ ประเด็นแรก ภาพรวมสถานการณ์ส่งออกของไทย
โดยกล่าวว่าการปรับตัวลดลงของมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม
2562
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัฏจักรของการส่งออกที่มักจะปรับตัวลดลงในช่วงเดือนแรกของไตรมาส
ก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายไตรมาส
ขณะที่คาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 จะทรงตัว
ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ทั้งนี้
การคาดการณ์แนวโน้มดังกล่าวอยู่บนเงื่อนไขที่สถานการณ์ทางด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ
และจีนมีทิศทางที่ดีขึ้นในระยะอันใกล้
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่
การขยายตัวของตลาดอาเซียน การลงทุนที่ขยายตัวดีขึ้น
การเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP)
และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับสหภาพยุโรป
รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น
ประเด็นที่สอง ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1)
กลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ โซลาร์เซลล์ เหล็ก เครื่องซักผ้า
และอะลูมิเนียม (2)
กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากผลของห่วงโซ่อุปทานจีน ได้แก่
ยานพาหนะและส่วนประกอบ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และแผงวงจร
เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และ (3)
กลุ่มสินค้าที่ได้รับโอกาสในการทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯ
และจีนมีข้อพิพาทระหว่างกัน อาทิ เครื่องสำอาง ไก่ ผลไม้ แผงวงจรไฟฟ้า
และเครื่องดื่ม ในขณะที่ผลกระทบของ Brexit
คาดว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากนักในระยะสั้น
แต่ในระยะยาว ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับผลด้านบวก
เนื่องจากสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องหาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจใหม่ภายหลังจากที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
ดังนั้น
ไทยจะต้องเร่งเตรียมการเจรจาทางการค้ากับทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป
รวมทั้งเร่งดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ประเด็นที่สาม ข้อเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยที่สำคัญ
ประกอบด้วย (1) ยุทธศาสตร์การตลาด (Marketing Strategy)
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยที่สำคัญ เช่น
ยุทธศาสตร์การเร่งเจาะตลาดจีนรายมณฑล
ยุทธศาสตร์การเจาะตลาดอินเดียรายมลรัฐ และ
ยุทธศาสตร์ในการเจาะตลาดอาเซียน (2) การกำหนดแผนงานที่สำคัญในปี 2562
ประกอบด้วย 6 แผนงาน ได้แก่ (i)
การสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)
(ii) สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น
เชื่อมโยงสู่ตลาดต่างประเทศ (Local 2 Global) (iii)
การเจาะลึกตลาดใหม่ (แอฟริกา จีน อินเดีย)
โดยการจัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (Special Task Force: STF) (iv)
การส่งเสริมการค้าออนไลน์ (E-Commerce Platform)
โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ขยายการส่งออกสู่ตลาดจีนและอินเดียผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
(v) การส่งเสริมธุรกิจบริการศักยภาพ โดยเฉพาะธุรกิจ Well Being
ที่เกี่ยวเนื่องตั้งแต่แรกเกิดจนสิ้นอายุ และ (vi) การใช้ประโยชน์จาก
Big Data และยกระดับการให้บริการ โดยเฉพาะการใช้ DITP One Application
มาช่วยบูรณาการการให้บริการและข้อมูลการปฏิบัติงานทั้งหมดของกรมฯ
ข่าว : สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี
|