logo

ข่าวสาร >> ข่าวสาร/กิจกรรม

รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ และ การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12


วันที่ 22 มี.ค. 2562

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562  ดร.สมชัย  ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  และนายดนุชา  พิชยนันท์  รองเลขาธิการฯ และโฆษก สศช. ร่วมแถลงข่าวเรื่อง "รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ และการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12”

ความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ 

การปฏิรูปประเทศได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 โดยมีสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้ทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ต่อมาได้ดำเนินการโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จนถึงช่วงปี 2560 ภายหลังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บังคับใช้ ได้กำหนดให้มีเป้าหมายการปฏิรูประเทศ ตามหมวด 16 ดังต่อไปนี้ (1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ (2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ (3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดผลอันพึงประสงค์ในด้านต่าง ๆ ตามมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญฯ ไว้ 

ต่อมาภายหลัง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้น จำนวน 11 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงาน และด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ซึ่งได้ประกาศใช้แผนทั้ง 11 ด้าน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี นายสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ประสานกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค และเพื่อผลักดันกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่สำคัญและเร่งด่วนภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลอันนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้ประสานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทุกด้านและคัดเลือกกิจกรรมที่สำคัญเร่งด่วน (Quick Win) จำนวนรวม 27 รายการ โดยมีตัวอย่างความก้าวหน้ากิจกรรมดังกล่าว ดังนี้ (1) โครงการชุมชนไม้มีค่า (2) ร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. .... (3) ร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. …. และ (4) คลินิกหมอครอบครัว

โครงการชุมชนไม้มีค่า ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เพื่อสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง สร้างรายได้ และพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีเป้าหมายของโครงการเพื่อส่งเสริมให้เกิดชุมชนไม้มีค่าให้ได้ 2 หมื่นแห่ง ภายใน 10 ปี มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้จัดทำรายละเอียดประเมินค่าไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับการทำโครงการหรือเรือนเพาะชำกล้าไม้ และให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนินการส่งเสริมการตลาดไม้และผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ โดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจระยะยาว อาทิ ไม้สัก ไม้มะค่า พะยูง โดยปรับปรุงระเบียบกฎหมาย ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจภาคเอกชน ภาคประชาชน และเกษตรกรรายย่อย จัดตั้งตลาดกลางค้าไม้ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการค้าและขนส่งไม้ สนับสนุนกลไกทางการเงินเพื่อการปลูกป่า หากสัมฤทธิผล "ชุมชนไม้มีค่า” จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ เป็นหลักประกันทางสินทรัพย์ และเป็นการเก็บออมในต้นไม้ให้กับประชาชนและเกษตรกรได้ในอนาคต

ร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. .... ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยปัจจุบันผู้ขายฝากจำนวนมากมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ซื้อฝาก ด้วยเหตุที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน อาจถูกเอารัดเอาเปรียบต้องสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยของตน จึงสมควรให้มีมาตรการควบคุมสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย โดยกำหนดขอบเขตการบังคับใช้แบบและเนื้อหาของสัญญาขายฝาก ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และระบุในสารบัญสำหรับจดทะเบียนให้ชัดเจนว่าเป็นการขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือเป็นการขายฝากที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังมีข้อกำหนดในรายละเอียดอื่น ๆ ที่ต้องระบุในสัญญาที่จะช่วยคุ้มครองผู้ขายฝากจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนี้ ได้กำหนดให้ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการขายฝากเป็นคดีผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างเสริมความเป็นธรรมขึ้นในสังคม

ร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. …. ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งด้านการออมและเป็นแหล่งทุนของชุมชนเพื่อประชาชน โดยเรื่องการเงินระดับฐานรากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดจำนวนหนี้นอกระบบ และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีสถาบันการเงินประชาชนอย่างน้อยตำบลละ 1-2 แห่ง หรือรวมแล้วประมาณ 3,500-7,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นราว 20-30 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งการจัดตั้งสถาบันการเงินประชาชน จะไม่กระทบกับสถาบันการเงินเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน หรืออื่น ๆ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารออมสินจะเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลเรื่องการพัฒนาโปรแกรมทางด้านเงินฝาก สินเชื่อ การโอนเงิน โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ การมีกลไกในการบริหารจัดการสถาบันการเงินประชาชน มีองค์กรการเงินชุมชนที่ได้จดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนทำให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในการส่งเสริมและกำกับดูแลสถาบันการเงินประชาชน ทำให้สถาบันการเงินประชาชนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ประชาชนภายในพื้นที่ที่สถาบันการเงินประชาชนให้บริการสามารถพึ่งพากันเองภายในชุมชน ช่วยส่งเสริมความมั่นคงแก่ชุมชน และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Service) ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณะสุข เพื่อส่งเสริมระบบบริการปฐมภูมิให้มีความครอบคลุม และสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาวะของประชาชน โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง

คลินิกหมอครอบครัว โดยให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน ปฏิบัติงานอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ พยาบาลวิชาชีพ 2 คน นักวิชาการสาธารณสุข/เจ้าพนักงานสาธารณสุข 2 คน เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ รับผิดชอบดูแลประชาชนประมาณ 10,000 คน จัดบริการด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นองค์รวม ต่อเนื่องมีระบบให้คำปรึกษา  ให้ประชาชนเข้าถึงสะดวก และมีระบบดูแลส่งต่อเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแม่ข่าย รวมทั้งการส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมโรคในชุมชน ซึ่งความสำเร็จนโยบายนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขสำคัญ คือ 1. ประชาชนต้องมารับการดูแลที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างน้อยร้อยละ 60 ของการเข้าถึงบริการทั้งหมด 2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างน้อยร้อยละ 40 และความดันโลหิตสูง อย่างน้อยร้อยละ 50 สามารถควบคุมโรคได้ดี เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนและการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนในอนาคต 3. เพิ่มการเข้าถึงการคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงจากร้อยละ 56 หรือ ค้นหาผู้ป่วยที่วินิจฉัยโรคได้เพิ่มขึ้น 2.87 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า และ 4. เพิ่มคุณภาพของสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ทำให้ประชาชนมีความพอใจและมั่นใจในบริการจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 100 ของคนที่มารับบริการทั้งหมด

ผลการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (แผนฯ 12) เป็นแผนพัฒนาประเทศระยะปานกลางภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ช่วงที่ 1 ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่วิสัยทัศน์การเป็น "ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วย 10 ยุทธศาสตร์หลัก โดยในช่วง 2 ปีแรกมีความคืบหน้าของการดำเนินการสำคัญๆ สรุปได้ดังนี้

การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศได้ดำเนินการยกระดับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย และพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา รวมทั้งยกระดับสมรรถนะครู เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระยะต่อไป การยกระดับการบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิในรูปแบบคลินิกหมอครอบครัว และการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงสร้างความเข้มแข็งสถาบันทางสังคมทั้งครอบครัว สื่อ และภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคนที่สำคัญ เช่น เด็กปฐมวัยของไทยมีพัฒนาการที่สมวัยร้อยละ 95.86 ในปี 2560 บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 85 ในขณะที่เด็กวัยเรียนมีไอคิวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 93.1 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 98.23 ในปี 2559 คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น และรายจ่ายสุขภาพต่อ GDP อยู่ในระดับที่เป้าหมายกำหนดไม่ให้เกินร้อยละ 5 อีกทั้งดัชนีครอบครัวอบอุ่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.53 ในปี 2557 เป็น 67.98 ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนสอบ PISA ของนักเรียนไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 500 คะแนนและสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาความรู้อยู่ที่ร้อยละ 29.80 ในปี 2560 ลดลงเล็กน้อยจากปี 2559 ดังนั้น ในระยะต่อไปยังต้องให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล และส่งเสริมให้คนไทยมีความใฝ่รู้เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี

การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มีการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุกและพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer การเร่งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่การประกันตน และโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ รวมทั้งการส่งเสริมภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เชื่อมโยงกับเครือข่ายประชารัฐและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เมื่อรวมกับการพัฒนาคุณภาพและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรม การขยายโอกาสการเข้าถึงมาตรการสินเชื่อในระบบ ส่งผลให้ผลการพัฒนามีความคืบหน้าที่สำคัญๆ เช่นแรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงประกันสังคมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.23 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2561 การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มประชากรที่มีฐานะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 1,820 รายในปี 2559 เป็น 2,795 รายในปี 2560 เศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง รายได้จากการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เพิ่มขึ้นจาก 1.25 แสนล้านบาทในปี 2559 เป็น 1.9 แสนล้านบาทในปี 2561 ในขณะที่สัดส่วนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 8.61 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 7.87 (จำนวนคนจนประมาณ 5.3 ล้านคน) ในปี 2560 เทียบกับเป้าหมาย ณ สิ้นแผนฯ 12 ที่กำหนดไว้ร้อยละ 6.5 ซึ่งยังจะต้องให้มีความสำคัญกับการลดปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ซึ่งค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายได้ในปี 2560 ยังอยู่ที่ 0.453 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 0.41 เมื่อสิ้นสุดแผนฯ 12 และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดในปี 2560 เพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 0.8 ต่อปี ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 15 ต่อปี 

การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน มีการดำเนินมาตรการเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการบริหารวัฎจักรเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามศักยภาพ และการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวโดยการขับเคลื่อนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการปรับโครงสร้างการผลิต การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม เศรษฐกิจรายสาขา และขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่ยังรักษาจุดแข็งทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจในภาพรวม ในช่วง 2 ปีแรกของแผนฯ 12 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.5 ในช่วงแผนฯ 10 และแผนฯ 11 ตามลำดับ และเข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 5.0 มากขึ้น ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยังคงอยู่ในฐานะที่แข็งแกร่ง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 55.0 ณ สิ้นแผนฯ 12 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ใกล้เคียงกับขอบล่างของนโยบายการเงิน ด้านเศรษฐกิจรายสาขา การผลิตภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.4 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 3.0 และปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.9 ในช่วงแผนฯ 11 สอดคล้องกับรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรของเกษตรกรในปี 2560/61 ซึ่งอยู่ที่ 74,483 บาทต่อครัวเรือนสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 59,460 บาทต่อครัวเรือน การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.0 สูงกว่าการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ในช่วงแผนฯ 11 แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวที่กำหนดไว้ร้อยละ 4.5 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้ายังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว ส่วนการผลิตสาขาบริการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.7 เท่ากับการขยายตัวเฉลี่ยในช่วงแผนฯ 11 และเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 6.0 ในช่วงแผนฯ 12 และสัดส่วนของ SMEs ต่อ GDP ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.4 สูงขึ้นจากร้อยละ 42.1 ณ สิ้นแผนฯ 11 และใกล้เคียงกับเป้าหมาย ณ สิ้นแผนฯ 12 ที่กำหนดไว้ร้อยละ 45.0 ด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยจากสถาบันการจัดอันดับ IMD ในปี 2561 อยู่ในอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 63 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ เทียบกับเป้าหมาย ณ สิ้นแผนฯ 12 ที่กำหนดให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ใน 25 ลำดับแรกของประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 

การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาทรัพยากร การผลักดันการแก้ไขและตรากฎหมายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรทางทะเล แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน โดยกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนด การสร้างความมั่นคงและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำ การจัดการขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย และฝุ่นละออง และการปรับปรุงกลไกและกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ (Strategic Environmental Assessment: SEA) โดยมีผลการดำเนินการที่สำคัญๆ เช่น การอนุรักษ์พื้นที่ป่าโดยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ที่ 102.4 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.62 ของพื้นที่ทั้งประเทศ เทียบกับ 102.1 ล้านไร่ (ร้อยละ 31.57) ในปี 2556 และเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 40 ณ สิ้นแผนฯ 12 การสร้างป่าชุมชน 14,085 หมู่บ้าน พื้นที่ 7 ล้านไร่ และจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายสร้างป่าชุมชนทั่วประเทศ 21,850 หมู่บ้าน พื้นที่ 10 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.58 ล้านไร่ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชลประทานเดิม 4.72 ล้านไร่ การลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนของภาคพลังงานและคมนาคมขนส่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของการปล่อยในกรณีปกติ ดีกว่าค่าเป้าหมายที่ต้องลดลงร้อยละ 7 ภายในปี 2563 

การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน มีการดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด และการเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามคดีอาชญากรรมต่างๆ ทำให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีภูมิคุ้มกันจากปัญหายาเสพติดและผู้เสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟูและการแสวงหาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในประเด็นการค้ามนุษย์ การแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และมาตรฐานการบินพลเรือน ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก Tier 3 ในปี 2557 ขึ้นมาเป็น Tier 2 watch List (ปี 2559-2560) และขึ้นมาอยู่ในระดับ Tier 2 ในปี 2561 ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน อีกทั้งสินค้าประมงไทยได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ประเด็นมาตรฐานการบินพลเรือนได้รับการแก้ไขแล้วโดย ICAO ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย นำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจของธุรกิจการบินของไทย

การบริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมภิบาลในสังคมไทย มีการดำเนินการเพื่อลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการของภาครัฐ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของรัฐต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีลดลงจากร้อยละ 23.4 ในปี 2559 เหลือร้อยละ 23.1 ในปีแรกของแผนฯ 12 อันดับประสิทธิภาพภาครัฐของไทยจากการจัดอันดับประสิทธิภาพภาครัฐของสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ปรับตัวสูงขึ้นจากอันดับที่ 23 ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 22 ในปีแรกของแผนฯ 12 อันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of doing Business) ในปี 2562 ไทยมีอันดับดีขึ้น 22 อันดับ จากอันดับที่ 49 ในปี 2559 มาอยู่อันดับที่ 27 จาก 190 ประเทศ ขณะที่การทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เพิ่มขึ้นจาก 35 คะแนนในปี 2559 เป็น 36 คะแนนในปี 2561 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของแผนฯ 12 ที่ตั้งไว้ 50 คะแนน 

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ได้มีการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ การสร้างความมั่นคงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการพัฒนาขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีผลการดำเนินการที่สำคัญ เช่น สัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2561 ลดเป็น 8.00 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/พันล้านบาท เทียบกับ 8.71 พันตัน ณ สิ้นแผนฯ 11 และเข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดไว้ 7.7 พันตัน ณ สิ้นแผนฯ 12 สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.72 เทียบกับร้อยละ 13.82 ณ สิ้นแผนฯ 11 และเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 17.74 ณ สิ้นแผนฯ 12 และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงดำเนินการครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด

การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีการเพิ่มอัตราลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาฯ จากร้อยละ 200 เป็นร้อยละ 300 เป็นเวลา 5 ปี พัฒนากลไกในการอำนวยความสะดวก เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) อุทยานวิทยาศาสตร์ในส่วนกลางและในภูมิภาค (Central & Regional Science Parks) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษากับผู้ประกอบการ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 0.47 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 0.78 ในปี 2559 และร้อยละ 1.00 ในปี 2560 และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายของแผนฯ 12 ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1.5 ได้ภายในสิ้นปี 2564 ในขณะที่บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้นจากปี 2559 มีจำนวน 112,386 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.0 คนต่อประชากร 10,000 คน เป็น 138,644 คน คิดเป็น 21.0 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี 2560 ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ 25.0 คนต่อประชากร 10,000 คนได้ภายในสิ้นปี 2564 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาตาม BCG Model (Bio Economy, Circular Economy, and Green Economy: BCG Model)

การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีศักยภาพ (SEZs) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) โดย SEZs มีความคืบหน้าสำคัญ เช่น การกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การกำหนดกิจกรรมเป้าหมายแต่ละพื้นที่ การจัดหาที่ดิน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน ขณะนี้ได้ดึงดูดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่รวมทั้งสิ้น 19,500 ล้านบาท ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่ EEC มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 โดยมีความคืบหน้าสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในปี 2561 โครงการที่ได้รับอนุมัติการลงทุนใน EEC มีมูลค่าประมาณ 310,000 ล้านบาท และมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI จำนวน 675,300 ล้านบาท ขณะที่ SEC มีการจัดทำกรอบการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบนเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับนานาชาติ โดยคาดว่าจะมีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ มีคำของบประมาณสนับสนุนการพัฒนา SEC ภายใต้แผนงานบูรณาการภาคปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,070 ล้านบาท

ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา มีกรอบการลงทุนเพื่อพัฒนาคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจของไทยเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านของแผนงาน GMS วงเงิน 6.81 แสนล้านบาท และขับเคลื่อนโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและเอเชียใต้ ภายใต้แผนงาน IMT-GT, ACMECS และ BIMSTEC ส่งผลให้ในปี 2561 มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนเพิ่มขึ้นเป็น 1,124,673 ล้านบาทและ 267,956 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4,509 ล้านบาท ในปี 2560 และมีบทบาทเชิงรุกในเวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาสำคัญ โดยเฉพาะในโอกาสดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ซึ่งจะได้ผลักดันประเด็นต่าง ๆ เช่น การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคเพื่อสันติภาพ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนที่ไร้รอยต่อ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ


t20190322095411_28585.jpg
t20190322095413_28586.jpg
t20190322095415_28587.jpg
t20190322095410_28588.jpg
t20190322095409_28589.jpg
t20190322095408_28590.jpg
t20190322095404_28591.jpg
t20190322095406_28592.jpg
t20190322095407_28593.jpg
t20190322095402_28594.jpg
t20190322095402_28595.jpg
t20190322095401_28596.jpg
t20190322095358_28597.jpg
t20190322095358_28598.jpg
t20190322095359_28599.jpg
t20190322095356_28600.jpg
t20190322095355_28601.jpg
t20190322095353_28602.jpg
t20190322095344_28603.jpg
t20190322095343_28604.jpg
t20190322095342_28605.jpg
t20190322095341_28606.jpg
t20190322095340_28607.jpg
t20190322095339_28608.jpg

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 ต่อฝ่ายไอที แฟกซ์ : 0-2281-3938
E-mail : webmaster@nesdb.go.th