เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ศาสตราจารย์พิเศษ
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ร่วมการสัมมนา Futurising Thailand สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก ครั้งที่ 1
หัวข้อ "โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ : ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0” ณ
โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการฯ เป็นผู้กล่าวเปิดประเด็น
และผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนร่วมสัมมนา
ภายหลังการกล่าวเปิดประเด็นดังกล่าว
เป็นการแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Understanding Thailand’s
competitiveness in changing world โดย Mr.Justin Wood, Head of
Regional Agenda – Asia Pacific, World Economic Forum (WEF)
และการเสวนาเรื่อง "โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ : ยกระดับประเทศไทยในโลก
4.0” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร
ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายเจน
นำชัยศิริ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท
หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
Mr.Justin Wood ได้กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า
โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน
ทั้งเรื่องของขนาดประชากร ความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันของระบบโลก
การเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่ การพัฒนาของเทคโนโลยี
สิ่งแวดล้อมที่ทรุดโทรมลง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ
ซึ่งระเบียบโลกแบบเก่าเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ
และถูกแทนที่ด้วยระเบียบโลกใหม่ (New World order)
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แนวคิดเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดต่าง ๆ ใหม่ให้เท่าทันโลก
ภายใต้รากฐานสำคัญคือความยืดหยุ่น
พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดเวลา
โดยชี้ว่าผลการจัดอันดับของไทยใน The Global Competitiveness Report
2018 ประเทศไทยมีผลคะแนนและอันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา
โดยไทยอยู่อันดับที่ 38 (67.5 คะแนน) จาก 140 ประเทศ
แม้ว่าเมื่อเทียบกับประเทศเอเชียตะวันออก ไทยยังตามหลังอยู่
แต่ในระดับอาเซียน ไทยถือว่าอยู่แถวหน้า
ในส่วนของรายละเอียดนั้น
พบว่าไทยมีจุดแข็งหลายประการ ตั้งแต่เรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค
(90 คะแนน) ระบบสาธารณสุข (87 คะแนน) ระบบการเงิน (84 คะแนน)
โครงสร้างพื้นฐาน (70 คะแนน) ขนาดตลาด (75 คะแนน) และพลวัตภาคธุรกิจ
(71 คะแนน) ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ อย่างไรก็ดี
ไทยยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อยู่มากในหลายประเด็น เช่น สถาบัน (55
คะแนน) การปรับตัวตามเทคโนโลยีสารสนเทศ (57 คะแนน) ตลาดสินค้า (53
คะแนน) และสมรรถนะด้านนวัตกรรม (42 คะแนน) เป็นต้น
ซึ่งไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเสาหลักเหล่านี้
เนื่องด้วยการแข่งขันในโลกใหม่ เป็นปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยอันหลากหลาย
ไม่สามารถมุ่งพัฒนาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวได้
เขาเน้นย้ำว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันยุคนี้
ไม่ใช่เกมมีผู้แพ้ผู้ชนะ (Zero-sum game) ระหว่างประเทศต่างๆ อีกต่อไป
กล่าวคือ ประเทศหนึ่งสามารถดีขึ้นได้ โดยที่อีกประเทศหนึ่งไม่แย่ลง
ในขณะเดียวกัน
การพัฒนาต้องคำนึงถึงการพัฒนาโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม
มิใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สำหรับการเสวนาเรื่อง "โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ :
ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์
เลขาธิการ สศช. ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการเสวนาว่า
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม
และเทคโนโลยี ซึ่งได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
โดยแต่ละยุทธศาสตร์จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งมีการปรับปรุงกฎหมายและเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย
การพัฒนาทุนมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ
โดยเฉพาะด้านการศึกษา ตลอดจนเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ
ภาคเอกชน และสถานการศึกษา
ทั้งนี้
เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหมาะกับโลกใหม่
ภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไข รวมทั้งวางแผนสำหรับอนาคตในหลายส่วน อาทิ
การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D)
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในโลก
4.0
ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งข้อสังเกตว่า
การจะยกระดับรายได้หรือความเป็นอยู่ของคนได้อย่างยั่งยืน
สิ่งที่ควรโฟกัสจริงๆ คือเรื่องผลิตภาพ
ภายใต้โจทย์สำคัญว่าทำอย่างไรให้รายได้ต่อหัวของแรงงานเพิ่มขึ้น
วิธีการหลัก 2 วิธี คือ การเพิ่มการลงทุน และการพัฒนาคุณภาพของแรงงาน
ซึ่งต้องตั้งต้นจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
รวมทั้งได้เสนอแนวทางที่รัฐควรทำ 4 ข้อ ได้แก่ (1)
ลดกฎระเบียบและขั้นตอนที่วุ่นวาย (2) ส่งเสริมการแข่งขัน (3)
กำหนดกฎกติกาที่เป็นธรรม และ (4) พัฒนาการศึกษา
ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพแรงงาน
ในส่วนของ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ได้ให้แง่มุมเกี่ยวกับเทรนด์โลกยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ว่า
‘ข้อมูล’ (Data) คือสิ่งล้ำค่าสำหรับโลกยุคนี้
ทั้งในมิติของการซื้อขายสินค้าต่างๆ
การนำข้อมูลไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย
ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า ประเทศไทยควรใช้ความได้เปรียบจาก
‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’
ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
หากเราสามารถเชื่อมโยงระหว่าง
ความสามารถในการแข่งขันกับความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์และทรัพยากรที่เรามี
เชื่อว่าเราจะสามารถพลิกไปในมิติใหม่ๆ
ซึ่งต่างจากวิธีคิดของประเทศอื่นได้
สำหรับ นายเจน นำชัยศิริ เสริมว่า
ขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ
ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมการเมือง
โดยแม้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญมากในโลกยุคนี้ก็จริง
ทว่าสิ่งที่ควรพัฒนาเป็นลำดับแรก คือทรัพยากรมนุษย์
ผ่านการปฏิรูประบบการศึกษา โดยเน้นย้ำสองประเด็นสำคัญ คือเรื่อง
‘Life-Long Learning’ และการพัฒนาการเรียนการสอน ‘ภาษาที่สอง’
หรือภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง
ในฐานะที่เป็นภาษาสากลที่ใช้กันทั่วโลก
ข่าว :
สำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|