เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และข้อเสนอการปรับโครงสร้างของ สศช.
มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว
ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. 3 ประการ ได้แก่ (1)
การผลักดันให้ สศช. เป็นองค์กรคลังสมอง (Excellent Think Tank)
ของรัฐบาลในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (2)
การพัฒนารูปแบบและกลไกขององค์กรที่สามารถผลิตงานศึกษาวิจัยเชิงลึก
(Generate New Knowledge)
และเชื่อมโยงองค์ความรู้กับหน่วยงานอื่นทั้งในและต่างประเทศ และ (3)
การกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการที่ส่งเสริมการรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินภารกิจต่างๆ
อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ
สศช.
2. เห็นชอบข้อเสนอการปรับโครงสร้างของ สศช. แบ่งเป็น 20
กอง/สำนัก/ศูนย์ โดยเป็นกองที่ขอจัดตั้งใหม่ 4 กอง
เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของ สศช. ได้แก่ (1)
กองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (2) กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
(3) กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ (4)
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และมีหน่วยงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการฯ จำนวน 3
หน่วยงาน ได้แก่ กลุ่มตรวจสอบภายใน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต โดยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ 4
กองใหม่ รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของกองเดิม 16 กอง
เพื่อรองรับบริบทการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
และภารกิจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศตามนโยบายรัฐบาล
3. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สศช. พ.ศ. .....
ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบบราชการ (ก.พ.ร.) มีมติเห็นชอบแล้วเช่นกัน
โดยปัจจุบัน สศช.
อยู่ระหว่างส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างฯ
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง ครม.
ได้มีมติให้แก้ไขคำนิยาม "การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม”
เพื่อให้ครอบคลุมการเพิ่มผลิตภาพและการใช้การพัฒนานวัตกรรมในทุกด้านและทุกระดับจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
และให้ปรับปรุงองค์ประกอบ
วาระและการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(กก.สศช.) โดยเปลี่ยนกรรมการโดยตำแหน่ง 1 ตำแหน่ง
จากผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง เป็นปลัดกระทรวงการคลัง
เพิ่มกรรมการโดยตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
และกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ กก.สศช. คราวละไม่เกิน 4 ปี ไม่เกิน 2
วาระ
นอกจากนี้ ให้ปรับปรุงหน้าที่ของ กก.สศช. และ สศช.
ให้ครอบคลุมภารกิจงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดย สศช.
จะดำเนินการเฉพาะภารกิจที่สนับสนุนการวางแผนนโยบายระดับชาติเป็นหลัก
และถ่ายโอนภารกิจระดับปฏิบัติการในเรื่องที่เกี่ยวกับรายจ่ายประจำปีของรัฐวิสาหกิจไปยังหน่วยงานอื่น
รวมทั้งกำหนดให้ สศช. สามารถจ้างบุคคล สถาบันการศึกษา
หรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัย เพื่อดำเนินการศึกษา
ค้นคว้า และวิจัยที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ภายใต้ระเบียบที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ข่าว : พุทธิดา เชี่ยวชาญพานิชย์
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
|