ดร.ปรเมธี วิมลศิริ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เปิดเผยเกี่ยวกับตัวเลขผลสำรวจปัญหาความยากจนในประเทศไทย
ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ ดังนี้
1.รัฐบาลและธนาคารโลกใช้เส้นความยากจนที่คำนวณโดยหลักวิชาการในการพิจารณาถึงจำนวนคนจน
โดยที่ธนาคารโลกใช้เกณฑ์ 1.9 ดอลลาร์ สรอ.ต่อคนต่อวัน (หรือประมาณ
2,000 บาทต่อคนต่อเดือน) และประเทศไทยใช้เกณฑ์ 2,667
บาทต่อคนต่อเดือน
•
วิธีการคำนวณเส้นความยากจนเพื่อวัดระดับความยากจนใช้หลักแนวคิดวิชาการและประเภทของข้อมูลที่เป็นสากล
และประเทศต่าง ๆ ใช้ในแนวทางเดียวกัน คือ
การยึดหลักรายได้หรือรายจ่ายขั้นต่ำสุดที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของประชาชนแต่ละคน
ควบคู่ไปกับการใช้โครงสร้างของครัวเรือน ได้แก่ สมาชิก เพศ และวัย
และพื้นที่ ในการพิจารณาถึงองค์ประกอบการใช้จ่ายด้วย
• ฐานข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณเส้นความยากจนนั้น
ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-economic
survey) ซึ่งเป็นการสำรวจสถานะความเป็นอยู่ของครัวเรือนทั้งด้านรายได้
รายจ่าย และอื่น ๆ ที่ได้มีการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลต่อเนื่องทุกปี
และเป็นการสำรวจที่มีการเก็บข้อมูลตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โดยมีตัวอย่างการสำรวจประมาณ 45,000 ครัวเรือน และประชากร 125,346
คน
• ธนาคารโลก ได้ใช้เส้นความยากจนที่ระดับ 1.9 ดอลลาร์
สรอ.ต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ทั้งนี้เกณฑ์ของธนาคารโลกดังกล่าวอยู่บนฐานที่เทียบกับความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ
(PPP) ปี 2554 เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบความยากจนของนานาประเทศได้
และหากใช้เกณฑ์การวัดดังกล่าวสัดส่วนความยากจนของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ
0.04 สำหรับประเทศไทยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนที่ 2,667
บาทต่อคนต่อเดือน (ปี 2559) และสัดส่วนความยากจนเท่ากับร้อยละ
8.6
2.รัฐบาลตระหนักดีว่าการที่ประเมินสถานการณ์ความยากจนของประเทศให้สามารถสะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริงได้นั้น
จำเป็นต้องใช้ตัวชี้วัดจากหลายด้านมาประกอบกัน ดังนั้น
นอกจากการใช้เส้นความยากจนซึ่งเป็นการวัดในรูปแบบตัวเงิน (รายจ่าย)
ในการระบุจำนวนคนจนแล้วรัฐบาล โดย สศช.
ยังได้พิจารณาตัวชี้วัดสถานการณ์ความยากจนในด้านมิติอื่นที่มิได้อยู่ในรูปแบบของตัวเงินแต่สะท้อนการมีโอกาสทางสังคมและการเข้าถึงบริการของภาครัฐ
มาร่วมในการวัดด้วย ได้แก่ ดัชนีความก้าวหน้าคน
ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเข้าถึงโอกาสทางสังคมและการเข้าถึงบริการภาครัฐในด้านต่าง
ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม
คมนาคมและการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความจนเงิน จนโอกาส
และสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิต
ในการจัดทำนโยบายในแก้ปัญหาความยากจนและช่วยเหลือคนจน
3. ดังนั้น
ในการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและการช่วยเหลือคนจน
จึงใช้เครื่องมือหลายอย่างประกอบกัน
โดยเส้นความยากจนจะช่วยบ่งบอกความยากจนที่ว่ามีผู้ที่ยากจนเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด
ซึ่งรัฐบาลจะนำข้อมูลอื่นที่สะท้อนการดำรงชีพในมิติของการมีโอกาสและการเข้าถึงบริการของประชาชนมาพิจารณาประกอบด้วย
ในขณะเดียวกันข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการภาครัฐจะถูกกนำมาใช้ประกอบเพื่อการระบุ
ตรวจสอบ ติดตาม ในการที่จะออกแบบเครื่องมือการให้ความช่วยเหลือ
(มาตรการ) ได้สอดคล้อง / ตรงกับลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่มาลงทะเบียน
รวมทั้งสามารถบริหารจัดการที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงกลุ่มได้ด้วย
4.ข้อเท็จจริงสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย
• ในปัจจุบันประเทศไทยใช้เส้นความยากจนที่เป็นทางการคือ 2,667
บาทต่อคนต่อเดือน หากมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
พบว่าปัญหาความยากจนในภาพรวมของประเทศไทยลดลงมาก
โดยจำนวนคนจนได้ลดลงประมาณ 28 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว
จากจำนวนผู้ยากจน 34.1 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี
2559 สัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 65.2 เป็นเพียงร้อยละ 8.6 ในปี
2559
• เมื่อพิจารณารวม "คนจน” และ "ผู้ที่เกือบจน”
พบว่ามีแนวโน้มลดลงมากจาก 39.2 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 11.6
ล้านคนในปี 2559 โดยความยากจนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคใต้ และภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 12.96 12.35 และ 9.83
ของประชากรในแต่ละภาคตามลำดับ และจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10
ลำดับแรกในปี 2559 โดยเรียงลำดับจากสัดส่วนคนจนสูงที่สุดดังนี้
แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬิสินธ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์
อำนาจเจริญ น่าน ตามลำดับ
(รายละเอียดสามารถดูได้จากเอกสาร
"รายงานการวิเคราห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
2559” http://social.nesdb.go.th/social/)
ข่าว :
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
|