คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เดินหน้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปโดยจัดลำดับความสำคัญของเรื่องเร่งด่วนพร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาและแนวทางในการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มาประยุกต์ใช้และขยายผลต่อ
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ดร.รอยล จิตรดอน
ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เปิดเผยว่า
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการประชุมไปแล้ว
12 ครั้ง
โดยการประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้ง 6 เรื่อง คือ ทรัพยากรทางบก ทรัพยากรน้ำ
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และ
ระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น
เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการฯ
ในการดำเนินงานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งสร้างความรับรู้ความเข้าใจ
และติดตามผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีนี้
นอกจากนี้ ได้นำข้อเสนอการปฏิรูปและผลการดำเนินการที่ผ่านมา
ขององค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวช้อง เช่น สปช. สปท. สนช.
องค์กรตุลาการ มาร่วมพิจารณาเพื่อจัดทำร่างแผนการดำเนินการปฏิรูปฯ
ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
และนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ
คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ในการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น
คณะกรรมการฯ เห็นร่วมกันว่าเมื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปแล้ว
ต้องเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดย (1) ทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับการรักษาและฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน
เป็นฐานการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (2)
สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพลดมลพิษ
และ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ (3) เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์
ลดความขัดแย้งของการพัฒนาที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ
บรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ (4)
มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ
บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
สร้างความเป็นธรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก
โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศ
สำหรับผลสัมฤทธิ์ในระยะเร่งด่วนที่จะเห็นเป็นรูปธรรมและตอบโจทย์ประชาชนได้นั้น
คือ การขยายผลจากพื้นที่แบบอย่างความสำเร็จด้านต่างๆ
ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ไปประยุกต์ใช้ยังพื้นที่อื่นๆ
ที่เกิดปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลักษณะเดียวกัน
ดร.รอยล จิตรดอน กล่าวในตอนท้ายว่า
หลังจากได้ร่างแผนปฏิรูปฯ ในเบื้องต้นแล้ว คณะกรรมการฯ
จะเริ่มลงพื้นที่เพื่อดูแบบอย่างความสำเร็จและร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง
4 ภาคทั่วประเทศ ซึ่งในวันที่ 7-8 พฤศจิกายนนี้
จะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแห่งแรก
โดยกำหนดจัดที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้
ในจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่แบบอย่างความสำเร็จอยู่อีก 1 พื้นที่
นั่นคือ ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต ตำบลแวงน้อย
อำเภอแวงน้อย
ที่มีการผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านมาบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่สูงลอนคลื่น
ซึ่งสามารถกักเก็บ สำรองน้ำ และบรรเทาน้ำหลาก
เกิดเป็นกองทุนสระแก้มลิงจากการขุดลอกคลองดักน้ำหลากและคลองซอยกระจายน้ำเข้าสู่สระแก้มลิง
ชุมชุนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองในด้านการบริหารจัดการน้ำ
วางแผนขุดลอกคลองดักน้ำหลากและคลองซอยเชื่อมต่อคลองส่งน้ำเดิมในพื้นที่
ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 417,493 ลูกบาศก์เมตร
และมีการดำเนินงานตัวอย่างทฤษฏีใหม่ 67 ครัวเรือน
สามารถสร้างรายได้เพิ่มกว่า 3.22 ล้านบาทต่อปี
จากความสำเร็จเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่า การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ
และเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำพาชุมชนรอดพ้นวิกฤต
ประกอบกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน
ยังทำให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ ด้านผลผลิต ด้านสังคมและเศรษฐกิจชุมชน
ซึ่งเป็นหนทางที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
และนอกจากการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นแล้ว
ทุกคนสามารถสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้ง่ายๆ ผ่านทาง
(1) แอพลิเคชั่น Line ที่
http://line.me/R/ti/g/3_ixH-2BXa
(2) Facebook ที่ https://www.facebook.com/nre.reform
และ (3) E-mail ที่ nre.reform@gmail.com
ข่าว :
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : รวีวรรณ เลียดทอง/เมฐติญา วงษ์ภักดี
|