สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2560
เรื่อง "ขับเคลื่อนแผนฯ 12
สู่อนาคตประเทศไทย” ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม
ศูนย์แสดงสินค้าและ
การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2560 เรื่อง "ขับเคลื่อนแผนฯ 12
สู่อนาคตประเทศไทย” ในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2560
เวลา 9.00-17.00 น. ณ
ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค
เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
เพื่อนำเสนอประเด็นการพัฒนาหลักภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
และแนวทาง/กลไกการขับเคลื่อนสู่ระดับปฏิบัติในมิติต่างๆ
เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในช่วงระยะ 5
ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นอกจากนี้
เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนแผนฯ
12 ในมิติต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ
และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งในภาครัฐ เอกชน
และสาธารณชนถึงความเชื่อมโยงของกรอบแนวคิดต่างๆ ของการพัฒนาประเทศไทย
และกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาในบริบทของการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน
อาทิ เป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ Thailand 4.0 ทั้งนี้
เพื่อให้การขับเคลื่อนในระดับการปฏิบัติเกิดการบูรณาการที่สัมฤทธิ์ผล
และมีเป้าหมายตัวชี้วัดที่สอดคล้องกัน
อนาคตที่ต้องเผชิญ กำจัดจุดอ่อน แก้ปัญหาให้ตรงจุด
พร้อมวางรากฐานการพัฒนาอย่างจริงจัง
จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ก่อให้เกิดสิ่งที่ต้องเผชิญในอนาคต ได้แก่
เทคโนโลยีจะพลิกโฉมในทุกด้าน เกิดเศรษฐกิจและสังคมโลกโฉมใหม่
การดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทรัพยากรมีจำกัด
กฎเกณฑ์การดูแลสิ่งแวดล้อมเข้มงวด และมี SDGs
เป็นเป้าหมายที่ต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติให้บรรลุผล
โลกมีความเสี่ยงจากภัยรูปแบบใหม่ที่หลากหลายภายใต้โลกไร้พรมแดน
มีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน
ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวน ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
ต้องใช้เทคโนโลยีและกฎระเบียบในการบริหารจัดการ
เกิดการหลั่งไหลและเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ คน
องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี การแข่งขันรุนแรงขึ้น
ต้องแข่งขันกันด้วยคนคุณภาพ ประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และนวัตกรรม
ประชาคมอาเซียนและอนุภูมิภาคไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความร่วมมือใกล้ชิด
ไทยใช้และได้ประโยชน์จากการเป็นประตูสู่เอเชีย
สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ปี 2564 สังคมสูงวัยสุดยอดปี 2579
ประชากรไทยจะลดลงตั้งแต่ปี 2570 กลุ่มเด็กและวัยแรงงานลดลง
เป็นความเสี่ยงด้านการคลัง การออม ศักยภาพทางเศรษฐกิจ
และคุณภาพชีวิตในสังคม ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ
โดยรัฐจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาประเทศไทยสู่อนาคตอย่างมีทิศทาง
จำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาและกำจัดจุดอ่อน
ของประเทศอย่างจริงจัง แก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญให้ตรงจุด
และวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่ต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ได้แก่
คุณภาพคน ที่ขาดความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จะสร้างคุณค่าของงาน
ขาดวินัย และการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุและผล
มีวิกฤติค่านิยมและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม
มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ กำลังคน ขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน
และเข้าสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว สังคม
มีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งรายได้ การเข้าถึงทรัพยากร
คุณภาพการบริการทางสังคม และกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ
ประเทศไทยเป็นเพียงผู้ซื้อและใช้นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนามีน้อย
ขาดการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ
ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
ภาครัฐ มีขนาดใหญ่ การบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ ข าดความโปร่งใส
ขาดการรับผิดรับชอบ และมีปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นวงกว้าง
6 ประเด็นขับเคลื่อนที่มีความสำคัญเร่งด่วน
เพื่อคนไทยกินดี อยู่ดี มีสุข
ในการประชุมประจำปี 2560 ของ สศช. จึงกำหนด 6
ประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีความสำคัญเร่งด่วนและมีลำดับความสำคัญสูงในแผนฯ
12 สู่การปฏิบัติ เป็นหัวข้อการประชุมกลุ่มย่อย
รวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่ควรจะต้องบรรลุใน 6 ประเด็นการพัฒนาดังกล่าว
ได้แก่
กลุ่มที่ 1
ศักยภาพคนไทยเพื่ออนาคตประเทศไทย
ส่งเสริมคนไทยให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคต
มีระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย สร้างสรรค์
มีส่วนร่วม และนำไปปฏิบัติได้จริง
การบริการสุขภาพที่มีคุณภาพทั่วถึงทุกพื้นที่
และพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมภายใต้ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ
กลุ่มที่ 2
นวัตกรรมนำสู่อนาคตประเทศไทย ส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม
รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพให้ภาคการผลิต การค้า และบริการ
สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้
และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน
กลุ่มที่ 3
เกษตรกรยุคใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทย
เน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
โดยการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการวางแผนอย่างมีระบบ
มีองค์ความรู้ สามารถนำนวัตกรรม เทคโนโลยี
มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กลุ่มที่ 4
โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เพื่ออนาคตประเทศไทย
มุ่งเน้นเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่
การขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ
การเชื่อมโยงอนุภูมิภาคและอาเซียนอย่างเป็นระบบ
เพื่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ
การพัฒนาระบบบริหารและการประยุกต์ใช้นวัตกรรม
และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ
กลุ่มที่ 5
ภาครัฐดิจิทัลเพื่ออนาคตประเทศไทย
ยกระดับการบริหารจัดการราชการแผ่นดิน
และการบริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ
ทำให้ติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว
และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและสะท้อนความต้องการต่อบริการของภาครัฐ
รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
กลุ่มที่ 6 การพัฒนาพื้นที่ ภาค
และเมืองสู่อนาคตประเทศไทย กำหนดแนวทาง กลไก และมาตรการ
ในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคและเมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่เศรษฐกิจ
สนับสนุนการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
นวัตกรรม
หัวใจการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต
ในปีนี้ สศช. ยังได้กำหนดจัดนิทรรศการเรื่อง
"นวัตกรรม
หัวใจการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต” โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาคเอกชน
ภาครัฐ และสถาบันการศึกษารวม 13 แห่ง
จะนำผลงานความสำเร็จของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ
มาขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ หุ่นยนต์กับภาคบริการ
โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง "หุ่นยนต์บันทึกทักษะการทำงาน”
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เรื่อง
"การพัฒนากำลังคนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วย Work Base
Education” บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด เรื่อง
"หุ่นยนต์ดินสอ”
จากนั้นจะแสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาทางสังคมและพัฒนาพื้นที่ด้วยนวัตกรรม
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เรื่อง
"นาโนเทคโนโลยีเพื่อชุมชน...
เกษตรกรไทยเข้มแข็งยั่งยืนด้วยนาโนซิงค์
ออกไซด์” สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
(องค์การมหาชน) (สทอภ.) เรื่อง "เทคโนโลยี
ลดความเหลื่อมล้ำ” สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) เรื่อง "Faarm Series” และ
"เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)”
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "นวัตกรรมการตรวจ
คัดกรองเพื่อป้องกันตาบอดจากโรคจอประสาทตา”
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เรื่อง "TCDC Charoenkrung : A Path
to the New Experience” และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง
"ย่านนวัตกรรมประเทศไทย”
รวมทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและบริการภาครัฐด้วยนวัตกรรม
โดยกระทรวงคมนาคม เรื่อง "คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง ขับเคลื่อนอนาคต
เพื่อประชาชน One Transport, Drives the Future for All People”
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เรื่อง "e-Government
Showcase” บริษัท ขอนแก่น
พัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เรื่อง "Smart City” สวทช. เรื่อง
"โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล”
ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ โดย
สวทช. จำนวน 2 เรื่อง คือ "Food Innovation Service” และ "NETPIE
แพลตฟอร์มไร้สายสำหรับงาน Internet of Things” และบริษัท อาปิโก
ไอทีเอส จำกัด เรื่อง "Powermap Tracking”
นอกจากนี้ปิดท้ายด้วยการนำเสนอ "เทคโนโลยีในอนาคต”
โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และ
วีดิทัศน์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยี
ซึ่งจะส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ซึ่งสะท้อนและได้บทสรุปที่สำคัญว่า
ประเทศไทยต้องมีวิทยาศาสตร์พื้นฐานเข้มแข็ง
เพื่อยกระดับจากการลอกเลียนแบบสู่การสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ให้เกิดผล
ทั้งนี้
ผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สมาชิกสภาขับเคลื่อน
การปฏิรูปประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน นักวิชาการ
ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน
และประชาชน รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,500 คน
ติดตามรับชมการถ่ายทอดสด
สำหรับประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม
สามารถรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
(NBT) เวลา 9.00–11.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
คลื่นเอเอ็ม 819 กิโลเฮิรตซ์ เวลา 9.00-12.00 น. เว็บไซต์ สศช.
www.nesdb.go.th และ Facebook Live เวลา 9.00-12.30 น.
รวมทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น NESDB Connect
โดยสามารถชมย้อนหลังทาง NESDB on Youtube
สำหรับเอกสารประกอบการประชุมสามารถสืบค้นและดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของ
สศช.
--------------------------
28 มิถุนายน 2560
|