เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ดร.วิชญายุทธ บุญชิต
ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เป็นประธานการต้อนรับและหารือกับคณะที่ปรึกษาการลงทุนจาก Moody’s
Investors Service ซึ่งนำโดย Mr.Christian de Guzman, Senior Credit
Officer ณ ห้องประชุมประหยัด บุรณศิริ
ดร.วิชญายุทธ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการหารือระหว่าง สศช.
กับคณะที่ปรึกษาการลงทุนจาก Moody’s Investors Service
ครั้งล่าสุดในช่วงกลางปี 2559 สศช.
มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง
ทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจและในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับการที่จะกลับเข้าสู่แนวโน้มการขยายตัวที่น่าพอใจในระยะปานกลาง
โดยในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 0.9
ในปี 2557 เป็นร้อยละ 2.9 ในปี 2558 ก่อนที่จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.2
ในปี 2559 โดยที่การปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ที่
สศช. ได้เคยรายงานต่อ Moody’s ในการพบปะในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
แม้ว่าในขณะนั้นหลายหน่วยงานจะคาดการณ์เศรษฐกิจในด้านค่อนข้างลบก็ตาม
สำหรับในปี 2560 สศช. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 – 3.8
โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.5
ซึ่งจะเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
และเป็นประมาณการเดิมที่ สศช. ได้ให้ข้อมูลไว้กับ Moody’s
ในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น
ในขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่ปรับเพิ่มประมาณเศรษฐกิจไทยขึ้นมาอยู่ใกล้เคียงกับค่าประมาณการของ
สศช. และหลายหน่วยงานที่ประมาณการสูงกว่าค่ากลางการประมาณการของ สศช.
สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
นอกหนือจากการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจไทยแล้ว
การฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวที่กว้างขึ้นตามลำดับ
โดยเมื่อเทียบกับปี 2557
ที่องค์ประกอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในทุกๆ
ด้านและมีการหดตัวในบางสาขาในเศรษฐกิจสำคัญ แต่ในปี 2558
การท่องเที่ยว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
และสาขาเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงและเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในขณะที่ภาคการส่งออกและภาคเกษตรยังปรับตัวลดลง ในปี 2559
การท่องเที่ยว การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ
ยังขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การผลิตภาคเกษตร
รายได้เกษตรกร
และภาคการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ก่อนที่จะเริ่มขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการกระจายตัวมากขึ้นดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยแล้ว
ยังเป็นพื้นฐานที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
การปรับตัวดีขึ้นของภาพเศรษฐกิจทั้งในด้านการขยายตัวเร่งขึ้นและการขยายตัวที่เริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้างดังกล่าว
แสดงถึงความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจของการบริหารจัดการเศรษฐกิจของภาครัฐและความเข้มแข็งของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย
เนื่องจากตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่สำคัญๆ หลายประการที่ทาง สศช.
ได้เคยชี้แจงในการรือกับ Moody’s ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย (1)
สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในช่วงปี 2557
ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจลดลงต่ำสุดในรอบหลายปี
(2) การสิ้นสุดลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่สำคัญๆ
ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงก่อนหน้า (3)
การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจนเข้าสู่ระดับการขยายตัวต่ำสุดในรอบ
6 ปี ร้อยละ 3.1 ในปี 2559
และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องทั้งในด้านการลดลงของราคาสินค้าเกษตร
ราคาส่งออก และปริมาณการส่งออกสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร
อุตสาหกรรม
และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรและการส่งออกอย่างเป็นวงกว้าง และ
(4) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 20
ปีและส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรในปี 2558 หดตัวร้อยละ 5.7
และเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในรอบ 28 ปี
ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ใน 1
รอบปีหลังจากการพบปะหารือครั้งที่ผ่านมา
เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นควบคู่ไปกับการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าในช่วงปี 2557 – 2559
รัฐบาลจะมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ
เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อประชาชนและภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม
รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงกรอบวินัยทางการเงินและการคลังของประเทศ
การดำเนินการในแนวทางดังกล่าวนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างน่าพอใจแล้วยังทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นข้อวิตกกังวลของหน่วยงานต่างๆ
ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบด้วย (1)
การปรับตัวลดลงของสัดส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนต่อ GDP
ซึ่งเป็นเรื่องที่ทาง Moody’s และหน่วยงานต่างๆ
ได้เคยหยิบยกเป็นประเด็นหารือกับ สศช. มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5
ปีที่ผ่านมาซึ่ง สศช.
ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้คณะที่ปรึกษาการลงทุนจาก Moody’s Investors
Service มาอย่างต่อเนื่องว่า
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในช่วงหลังปี 2554
นั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากการกู้ยืมสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูตนเองของประชาชนในช่วงหลังเหตุการณ์อุทกภัยซึ่งมีระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ที่ไม่นานนัก
โดยเฉพาะหนี้รถยนต์ที่มีระยะเวลาการผ่อนชำระประมาณ 5 ปี
ดังนั้นหากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันและไม่มีภัยพิบัติรุนแรงเพิ่มเติม
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
จะปรับตัวลดลงหลังจากมาตรการกระตุ้นรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมาครบกำหนด 5
ปี และจะไม่มีโอกาสเกิด Debt Overhang
เนื่องจากในกรณีของประเทศไทยนั้น
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่มีอายุการผ่อนชำระที่ไม่ยาวนาน
และมีความแตกต่างกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในบางประเทศที่องค์ประกอบหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีระยะเวลาในการชำระหนี้ยาวนานซึ่งจะทำให้เกิด
Debt Overhang
และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศเป็นระยะเวลานาน
ดังนั้น การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ดังกล่าวก็เป็นไปตามที่ สศช. ได้คาดการณ์ไว้และชี้แจงกับทาง Moody’s
ไว้ในการพบปะหารือในช่วงก่อนหน้า (2)
การปรับตัวลดลงของภาระหนี้สาธารณะซึ่งล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี
2560 อยู่ที่ร้อยละ 40.5 ของ GDP เทียบกับร้อยละ 42.2 ของ GDP ณ
สิ้นปี 2556
รวมทั้งได้ยกเลิกมาตรการแทรกแซงราคาข้าวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สาธารณะ
และหันมาใช้มาตรการการให้ความช่วยเหลือทางตรงในระดับที่เหมาะสมและที่สามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้น
รวมทั้งมีความพยายามที่จะพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือทางตรงในลักษณะที่เป็นมาตรฐานสากลเช่นระบบ
Negative Income tax ในระยะต่อไป ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ สศช.
ได้เคยชี้แจงไว้ เช่นเดียวกับเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ
ที่มีความเข้มแข็งและมีการปรับตัวดีขึ้น เช่น
การเพิ่มขึ้นของทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเทียบเท่า
11.6 เดือนของมูลค่าการนำเข้า และ 3.3
เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
ทั้งนี้คณะที่ปรึกษาการลงทุนจาก Moody’s Investors Service
ได้สอบถามความเห็น สศช.
เกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ
โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวอย่างล่าช้า ซึ่งทาง สศช.
ได้ให้ความเห็นว่า
การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของการลงทุนภาคเอกชนนั้นสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า
การลงทุนส่วนใหญ่ของภาคเอกชนในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการผลิตสินค้า
โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก
ดังนั้นภายใต้การลดลงและการชะลอตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกมีกำลังผลิตส่วนเกินอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตของภาคเอกชน
แม้กระนั้นก็ตาม
ในช่วงที่เหลือของปีและในปีต่อไปการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น
ตามการฟื้นตัวของการส่งออก อุปสงค์ในประเทศ
และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากความคืบหน้าในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ และการดำเนินโครงการ PPP
ที่มีภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับการลงทุน นอกจากนั้น Sentiments
ด้านการลงทุนของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและปรับตัวดีขึ้น
ซึ่งจะเห็นได้จาก 1)
การเพิ่มขึ้นของมูลค่าและจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน
ในปี 2559 (2) ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น และ (3)
ผลการสำรวจ FDI confidence index ปี 2560 ที่จัดทำโดยบริษัท A.T.
Kearney
ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับการเลื่อนอันดับขึ้นจากอันดับที่ 21
ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 19 ในปี 2560
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
จากการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวทั้งการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ
นอกจากนี้ทางคณะที่ปรึกษาการลงทุนจาก Moody’s Investors Service
ได้หารือเกี่ยวกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12
และศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่งทาง ดร. วิชญายุทธ
ได้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นแผนยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Plan
สำหรับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ในระยะ 20 ปี
ที่รัฐบาลกำหนดให้มีขึ้น และสอดคล้องกับแนวคิดของ สศช.
ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้มีแผนพัฒนาฯ
ที่มีระยะเวลานานกว่า 5 ปีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประมาณปี 2536 ซึ่ง
สศช. ได้เสนอแผน 10 ปีที่เรียกว่า Thailand 2000
เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาประเทศนอกเหนือจากแผนพัฒนาฯ 5 ปี
โดยได้ระบุแนวทางการพัฒนาและโครงการพัฒนาที่สำคัญๆ ไว้หลายโครงการ
รวมทั้งได้มีการเสนอกรอบการพัฒนาประเทศระยะยาวอีกหลาย ๆ
ครั้งในระยะต่อมาเช่นการเสนอวิสัยทัศน์ 2570 ในปี 2009 และ Country
Strategy ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม
แนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวดังกล่าวไม่ได้มีการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเนื่องจากเหตุผลในด้านต่างๆ
ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว
จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะ 20 ปี
รวมทั้งมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญปี
2560
ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมด้านการกำหนดนโยบายและการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปมีความชัดเจนและมีความต่อเนื่องมากขึ้นแม้ว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่การมีรัฐบาลภายใต้การเลือกตั้งก็ตาม
ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาการลงทุนจาก Moody’s Investors Service ได้ขอให้
สศช. อธิบายสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ชาติ
ความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 12 รวมทั้งยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่สำคัญๆ ภายใต้แผนฯ
12 ซึ่งทาง สศช.
ได้อธิบายและยกตัวอย่างโครงการและการดำเนินการที่สำคัญๆ
ของรัฐบาลในด้านต่างๆ
ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและตอบสนองต่อเป้าหมายด้านต่างๆ ของแผนฯ 12
ยุทธศาสตร์ชาติ และศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
พร้อมทั้งกล่าวว่าจะเห็นได้ว่า การดำเนินการต่างๆ
ของรัฐบาลที่ทำอยู่ในขณะนี้
เป็นการดำเนินการทั้งในด้านการฟื้นฟูและเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะสั้นและการดำเนินการเพื่อการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|