กพข.
เผยผลประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นต่อเนื่อง ขึ้นเป็นอันดับที่
27จากการสำรวจการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
จาก IMD
คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.)
เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World
Competitiveness Center ของ International
Institute for Management Development หรือ
IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 63 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลสำรวจฯ
ในปี 2560 ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ยังคงครองอันดับที่ 1และ 2 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
ในขณะที่สิงคโปร์เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ทำให้สหรัฐอเมริกาตกไปเป็นอันดับที่ 4
ทั้งนี้ ในปี 2560
ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ
โดยคะแนนภาพรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80.095 เปรียบเทียบกับ 74.681ในปี
2559และมีอันดับเลื่อนขึ้นจาก 28ในปี 2559 เป็น 27 ในปี 2560 ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์
มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว
ไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยไทย
ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้น
ในขณะที่มาเลเซียมีอันดับลดต่ำลง
เมื่อพิจารณาคะแนนที่ประเทศไทยได้รับ ในระยะตั้งแต่ปี
2556 - 2560จะเห็นได้ว่ามีคะแนนสูงขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2557
เป็นต้นมา
และเริ่มมีแนวโน้มสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของทุกประเทศที่ได้รับการจัดอันดับตั้งแต่ปี
2558 โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีคะแนน 80.095 ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของ 63 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเท่ากับ 77.033อันแสดงให้เห็นว่าความพยายามของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เริ่มส่งผล
ซึ่งหากมีการเร่งดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
จะทำให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถที่สูงขึ้นจนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำได้อย่างแน่นอน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช
ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์
และ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA
Center for Competitiveness) กล่าวว่า "การที่
ผลการจัดอันดับในปีนี้ดีขึ้นทั้งคะแนนและอันดับ
โดยเป็นปีแรกที่มีคะแนนรวมเกินกว่า 80 คะแนนและสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมของทุกประเทศ
เป็นการยืนยันว่าการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นสิ่งที่ทั้งรัฐและเอกชนต้องมีจุดหมายร่วมกันและลงมือขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญๆ
ที่เป็นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวไปหลายเรื่อง
ผลการจัดอันดับทำให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้วและจะต้องพยายามร่วมมือกันต่อไป”
ในการจัดอันดับฯ
ของ IMD มีการพิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance)
ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business
Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน
(Infrastructure) ปรากฏว่า
ปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะเศรษฐกิจ
ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 63
ประเทศ โดยมีอันดับดีขึ้นถึง 3 อันดับจากปี 2559ในขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้น 3
อันดับเช่นเดียวกัน ทำให้อยู่ในอันดับที่
20ในปีนี้
ส่วนปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
โดยมีอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับในปี 2560
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล
รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า
"ผลการจัดอันดับชี้ว่าสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐอันดับดีขึ้นถึง
3 อันดับ
สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ส่งสัญญาณดีขึ้น
และการปรับปรุงในด้านกฎระเบียบและกฎหมายธุรกิจที่ส่งผลดีให้ดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น
อาทิ การเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ
การดำเนินการด้านศุลกากรสำหรับการค้าขายข้ามพรมแดน
นักธุรกิจจึงมีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น
รวมทั้งมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาลมากขึ้นเช่นเดียวกัน”
เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวด
ด้านสภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นถึง 3 ด้าน
ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 33 จากอันดับที่ 37 ในปี 2559
การค้าระหว่างประเทศ (International Trade)
อยู่ในอันดับที่ 3 จากอันดับที่ 6 ในปี 2559
ราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่อันดับดีขึ้นมากจากอันดับ ที่ 45 เป็นอันดับที่ 28ในขณะที่ด้านการจ้างงาน
(Employment) ยังอยู่ในอันดับที่ดีมากคืออันดับที่ 3 เช่นเดียวกับปีก่อน เรื่อง ที่มีอันดับลดลงคือ
การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) จากอันดับที่ 28 ในปี 2559
เป็นอันดับที่ 37 ในปีนี้
จุดเด่นของประเทศไทยในหมวดนี้ยังคงเป็นด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน
รายได้จากการท่องเที่ยว และความมั่นคงของบัญชีเดินสะพัด
ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไปคือ
รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรที่อยู่ในอันดับที่ 54
ด้านค่าครองชีพ ความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต
และด้านการลงทุนทางตรงทั้งจากต่างประเทศและการออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นต้น
ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ
(Government Efficiency) มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีล่าสุด ปัจจัยย่อยมีอันดับที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่
กฎหมายด้านธุรกิจ (Business Legislation) ที่ดีขึ้นถึง 6 อันดับจากปี 2559
โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 38 จากอันดับ ที่ 44 ในปีก่อนหน้า
และกรอบการบริหารด้านสถาบัน (Institution Framework)
ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 30 จาก 33 ในปีที่แล้ว นอกจากนี้
นโยบายการเมือง (Tax Policy) นั้นยังคงได้อันดับที่สูงกว่าเดิมจากที่เคยสูงอยู่แล้ว
โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ในปี 2560
อีกด้วย
ทั้งนี้
เกือบครึ่งหนึ่งของประเด็นที่ใช้ในการจัดอันดับในหมวดนี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในภาคธุรกิจ
ซึ่งส่วนใหญ่มีอันดับที่สูงขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ
ที่รัฐดำเนินการเช่น
การแก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐให้มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ
การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การปรับตัวของนโยบายภาครัฐ
รวมถึงความคล่องตัวในการดำเนินนโยบาย
ได้รับการยอมรับจากผู้ตอบแบบสำรวจ
ส่วนประเด็นที่ยังต้องปรับปรุงในหมวดนี้ ได้แก่ ต้นทุนการปลดออกจากงาน
(Redundancy Costs) กำแพงภาษี (Tariff
barriers) และ ระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ
(Start-up days) เป็นต้น
ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ
(Business Efficiency) ปัจจัยย่อยที่อันดับดีขึ้น 2 ปัจจัย
ได้แก่ ด้านการจัดการ (Management Practices) และ ด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity &
Efficiency) ในขณะที่ด้านตลาดแรงงาน
และด้านการเงินมีอันดับลดลง ส่วนด้านทัศนคติและค่านิยมมีอันดับคงเดิม
ด้านการจัดการ (Management Practices) ปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับโดยขึ้นมาอยู่ที่ 20 ในปีนี้
มีผลมาจากการดีขึ้นของตัวชี้วัดต่างๆ เช่น
การคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า (Customer satisfaction)
การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
และ ความน่าเชื่อถือของผู้จัดการ (Credibility
of managers) เป็นต้นส่วนในด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ
(Productivity & Efficiency) ถึงแม้จะมีอันดับดีขึ้น 2อันดับจากปีที่ผ่านมาโดยมาอยู่อันดับที่ 41 อันเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราเพิ่มของผลิตภาพ
(Overall Productivity – real growth) ซึ่งอยู่ในอันดับ 3 จาก 63
ประเทศ
แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ประเทศไทยควรเร่งปรับปรุง
เนื่องจากผลิตภาพของแรงงานทั้งในภาพรวมและในภาคเศรษฐกิจต่างๆ
ยังคงอยู่ในอันดับต่ำ อาทิ ผลิตภาพในภาพรวม (Overall
Productivity) ที่อยู่ในอันดับที่ 58
จาก 63 ประเทศ
โครงสร้างพื้นฐาน
(Infrastructure) ปัจจัยย่อย 2
ด้านที่อันดับดีขึ้น ได้แก่
โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Technological Infrastructure)
ที่ปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับ
และ โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป (Basic Infrastructure)
ที่ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ
ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 36 ดีขึ้น 6 อันดับ
โดยตัวชี้วัดที่ส่งผลต่อการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่
การมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ตอบสนองภาคธุรกิจและความเชื่อมโยงต่างๆ
ความเร็วอินเตอร์เนต การส่งออกสินค้าไฮเทค และ
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน
และรัฐกับเอกชน (Public-private partnerships) เป็นต้น
ด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปได้รับการจัดอันดับที่ 34
ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ
โดยมีตัวชี้วัดที่ปรับตัวดีขึ้นได้แก่ การเข้าถึงแหล่งน้ำ
(Access to water) ที่ปรับตัวดีขึ้น 6
อันดับ การเข้าถึงสินค้าบริโภคพื้นฐาน (Access
to commodities) ซึ่งมีอันดับดีขึ้น 3
อันดับ และ คุณภาพของการขนส่งทางอากาศ
(Quality of air transportation) ซึ่งอันดับดีขึ้น 3 อันดับ
เช่นเดียวกัน
แม้ว่าผลการจัดอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในภาพรวมยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าตัวชี้วัดย่อยเกี่ยวกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและบุคลากรด้านวิจัยมีอันดับดีขึ้นในทุกประเด็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทำให้ตัวชี้วัดในเชิงมูลค่าปรับตัวดีขึ้นถึง 4 อันดับ และสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้าน R&D ของภาคธุรกิจ ต่อ GDP (Business expenditure on R&D
(%)) ปรับตัวดีขึ้นถึง 10 อันดับ นอกจากนั้น
ความเห็นของภาคธุรกิจต่อความสามารถในการสร้างนวัตกรรม
(Innovation Capacity) ของประเทศก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยปรับตัวดีขึ้นถึง
9 อันดับจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคือด้านที่เกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตร
ทั้งจำนวนการขอจดสิทธิบัตร และจำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับการจด
และสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้
ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และการศึกษา
ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนาเป็นอย่างมาก
โดยยังอยู่ในอันดับต่ำทั้งสองหมวด
ประเด็นสำคัญที่ต้องปรับปรุงในด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้แก่
การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร และการประหยัดพลังงาน
ในขณะที่ด้านการศึกษา ต้องเร่งพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของบุคลากร
รวมทั้งความสามารถทางวิชาการโดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
และการปรับปรุงอัตราส่วนของครูต่อนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา
เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า
ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความเข้าใจและการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเริ่มปรากฎผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ
โดยเฉพาะในภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ IMD
ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเทศที่มีพัฒนาการสูงขึ้นมากในปีนี้ว่าล้วนเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคเอกชน
และการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ
สำหรับประเทศไทย
ผลที่ดีขึ้นนี้ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งคุณเทวินทร์กล่าวว่า
"ถึงแม้ว่าเราจะมีอันดับที่ดีขึ้นในปีนี้แต่ประเทศอื่นๆ
ในโลกต่างก็เร่งพัฒนาตนเองไปเช่นเดียวกับเรา
เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามทำให้มากขึ้นและเร็วขึ้นโดยประเด็นท้าทายที่เราต้องขับเคลื่อนให้ก้าวหน้าไปให้ได้
คือการพัฒนาคนให้มีความรู้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่
และการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม”
นอกจากนั้น
เพื่อให้การขับเคลื่อนนี้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องและประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น
"รัฐบาลได้มอบหมายให้มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบตัวชี้วัดแต่ละตัวอย่างชัดเจน
ในช่วงต่อไปหน่วยงานเหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกับสศช. TMA
และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ให้มีการปรับปรุงระบบข้อมูลตัวชี้วัดให้ครบถ้วน ถูกต้อง
และแม่นยำมากขึ้น
พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะแผนงาน/โครงการ/มาตรการที่ชัดเจน
สำหรับการปรับปรุงตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ
และที่สำคัญคือการที่รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินแผนงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน
รวมทั้งในเรื่องพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น” ดร. ปัทมา สรุปทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ในวันที่
20 – 21 กรกฎาคม 2560 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จะมีการจัดสัมมนา "Thailand Competitiveness Enhancement
Program: Reinforcing the Foundation for Competitiveness”
มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
และการสร้างรากฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
นอกจากนี้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560
สศช. จะจัดงานประชุมประจำปี 2560 ในหัวข้อการขับเคลื่อนแผนฯ 12 ที่จะเน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ
กพข. ทีเอ็มเอ (TMA) สศช. และ IMD
เป็นเวลาเกือบ 20
ปี ที่ TMA มีบทบาทในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยร่วมเป็น Partner Institute กับ
World Competitiveness Center แห่งสถาบัน IMD
(International Institute for Management Development) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาตั้งแต่ปี
2540 และได้ดำเนินการโครงการ Thailand
Competitiveness Enhancement Program โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) มาตั้งแต่ปี 2552ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ปัจจุบันทีเอ็มเอ
(TMA) และ สศช.
ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(กพข.) โดย คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช
ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA
Center for Competitiveness) ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพข.
และประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์
และ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ