เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ดร. ปรเมธี วิมลศิริ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศ.นพ.
สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
และ Ms. Yoriko Yasukawa UNFPA Regional Director for Asia-Pacific
and UNFPA Thailand Country Director
เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง (ร่าง)
แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ณ
ห้องราชา 2 ชั้น 11 อาคาร 2 โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ
โดยได้รับเกียรติจากนายมีชัย วีระไวทยะ
นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ
"ประชากรกับการพัฒนาประเทศ...อนาคตที่ท้าทาย” และมีนางชุตินาฏ
วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นำเสนอ (ร่าง) แผนประชากรฯ
โดยงานสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและรับฟังข้อคิดเห็นต่อ
(ร่าง) แผนประชากรฯ
เพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี
รวมถึงมีการรับฟังงานวิจัยที่สอดรับกับ (ร่าง) แผนประชากรฯ
จากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อนำมากำหนดโจทย์วิจัยในอนาคตให้เป็นฐานในการใช้ต่อยอดและปรับปรุงการดำเนินงานด้านประชากรและการพัฒนาต่อไป
(ร่าง) แผนประชากรฯ เป็นแนวทางการพัฒนาประชากรในระยะยาว
ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ภายใต้ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งนำประเทศไปสู่การเป็น
"ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ท่ามกลางบริบทการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรไทยไปสู่สังคมสูงวัย
ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว
โดยที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีจำนวนและสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้น
และคาดการณ์ว่าในอนาคตแนวโน้มโครงสร้างอายุประชากรดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศในการจัดสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น
รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะชะลอตัวลงจากขนาดกำลังแรงงานที่ลดลง
นอกจากนี้
การพัฒนาในอนาคตยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างของคนในแต่ละรุ่น
(Generation)
ที่มีอุปนิสัยและทัศนคติที่แตกต่างกันจากการถูกหล่อหลอมโดยปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน
ซึ่งการวางแผนและออกแบบนโยบายจึงต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมและวิธีคิดของคนกลุ่มต่าง
ๆ
ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังมีปัญหาเชิงคุณภาพในหลายด้าน
อาทิ ปัญหาด้านความสามารถทางเชาว์ปัญญา (IQ) ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
ปัญาทักษะ ความรู้ ความสามารถไม่สอดคล้องกับความต้องการตลาดงาน
ปัญหาสุขภาพ การมีระดับการออมที่ต่ำ
ความท้าทายจากการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนคนเดียว
ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับครัวเรือน
ทั้งนี้ (ร่าง) แผนประชากรฯ ดังกล่าวได้กำหนดวิสัยทัศน์
"ประชากรไทยเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมยกระดับการพัฒนาประเทศ” โดยมี 5
ประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่
1)
การส่งเสริมให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเพิ่มขึ้นโดยสมัครใจโดยเฉพาะในกลุ่มเจเนอเรชันวาย
รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มผู้มีบุตรยากให้สามารถมีบุตรได้
เพื่อให้เด็กเกิดใหม่มีจำนวนไม่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้
ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์ในกลุ่มแม่และเด็ก
ลดการตั้งครรภ์ในกลุ่มประชากรวัยรุ่น
และลดอัตราการตายในกลุ่มเด็กแรกเกิด
2) การพัฒนาและยกระดับผลิตภาพประชากร
เน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพประชากรให้มีผลิตภาพเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสอดคล้องกับช่วงวัยและพฤติกรรมตามเจเนอเรชัน
การพัฒนาทักษะประชากรวัยเรียนและวัยแรงงาน
การเพิ่มกำลังแรงงานผู้สูงอายุและสตรีที่มีศักยภาพในตลาดงาน
และการดึงดูดแรงงานไทยในต่างประเทศและแรงงานต่างชาติที่มีทักษะให้ใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทย
3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร
มุ่งพัฒนาทักษะประชากรทุกช่วงอายุให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ
ควบคู่กับการสร้างสุขภาวะที่ดี ลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร
ก้าวไปสู่การเป็นประชากรผู้สูงอายุที่แข็งแรง พึ่งตนเองได้
และมีช่วงชีวิตที่มีสุขภาพดียาวนานที่สุด
ลดภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการในการดูแลทั้งต่อครอบครัวและภาครัฐ
4) การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการคุ้มครองทางสังคม
มุ่งส่งเสริมให้ประชากรไทยมีงานทำและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง
มีหลักประกันที่มั่นคง สร้างวินัยทางการออมตั้งแต่วัยเรียน
พัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ
เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทุกกลุ่มอาชีพสามารถเข้าถึงระบบการออมระยะยาว
สร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมให้กับประชากรไทยกลุ่มด้อยโอกาส
5) การสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาประชากร
มุ่งส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนประชากรให้มีบุตรเพิ่มขึ้น
การปรับสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย
ตลอดจนพัฒนารูปแบบโครงสร้างที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
และการบริหารจัดการของเมืองให้สอดรับกับการย้ายถิ่นกลับของประชากรให้มีการกระจายตัวและโครงสร้างอายุประชากรที่สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่
โดยมีกรอบการพัฒนา 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560 – 2564)
มุ่งพัฒนาศักยภาพของประชากรไทยให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น
ควบคู่กับการสร้างสภาพแวดล้อมในการมีบุตร สำหรับในระยะที่ 2 (พ.ศ.
2565 – 2569) เน้นการพัฒนาระบบและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเด็ก
เจเนอเรชันใหม่ๆ ที่จะเกิดและเติบโตขึ้นหลังปี 2569 และในระยะที่ 3
(พ.ศ. 2570 – 2579)
มุ่งให้ความสำคัญกับสร้างเสริมให้ประชากรไทยทุกคนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและยกระดับประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว
โดยในทุกระยะต้องมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรไทยในทุกมิติควบคู่กันไป
ข่าว : สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม
ภาพ : เมฐติญา วงศ์ภักดี
|