เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ดร.วิชญายุทธ บุญชิต
ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เป็นประธานการหารือกับ Mr.Mervyn Tang, Director Sovereign and
Supranational Ratings Fitch Ratings (Hong Kong) และคณะ
เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2560 และแนวโน้มในระยะปานกลาง ณ
ห้องประชุมประหยัด บุรณศิริ สศช.
ดร.วิชญายุทธ กล่าวว่า หลังจากที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ
0.9 ในปี 2557 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างน่าพอใจ
โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขข้อจำกัดที่สำคัญคือ (1)
เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่การขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6
ปีในปี 2559 (2)
ผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาภัยแล้งซึ่งทำให้การผลิตในภาคเกษตรปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
และ (3) ภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลก
โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2558 – 2559
มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1)
การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อย
(2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ และ (3)
การดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นควบคู่ไปกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งและเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย
ทั้งในด้านฐานะการคลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศ
และสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นต่อทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ
สำหรับในปี 2560
เงื่อนไขข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจโลกเริ่มผ่อนคลายลงตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ
เช่นเดียวกับการผลิตภาคเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากขึ้น
เมื่อรวมกับแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐที่จะเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างฟื้นฐานและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
และภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี
คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0
โดยมีค่ากลางการประมาณการที่ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้
ข้อมูลเครื่องชี้ล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560
ยังคงแสดงให้เห็นแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจตามที่ได้คาดการณ์ไว้
และหน่วยงานต่างๆ
เริ่มมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในทิศทางบวกมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง สศช. ในกรณีฐาน
คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.3 -4.3
โดยมีค่ากลางของการประมาณการร้อยละ 3.8 อย่างไรก็ตาม
การขยายตัวในกรณีฐานดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ในเวลาอันควร
ดังนั้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ
จึงได้กำหนดเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 5.0
โดยการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ระดับเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น
และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนมาตรการและโครงการที่สำคัญๆ
ของรัฐบาลในขณะนี้
ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|