เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ครั้งที่
1/2560 ณ ห้องประชุม 521 อาคาร 5
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี
นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน
เข้าประชุมในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
ที่ประชุมได้ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยมีกรอบแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ที่มุ่งสร้างคนดีและเก่ง และสุขภาวะที่ดี ดังนี้ (1) ช่วงในครรภ์มารดา
มุ่งพัฒนาทารกให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ และมีคุณภาพ (2) ช่วงวัย 0-5
ปี เน้นการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัยทั้งกาย สติปัญหา อารมณ์ สังคม
วัฒนธรรม สามารถวางแผน จัดระบบ และสื่อสารด้วยภาษาได้ (3) ช่วงวัย
5-14 ปี มุ่งพัฒนาให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี
มีความรู้เรื่องเพศศึกษาเพื่อป้องกันภาวะท้องไม่พร้อม
รู้ความถนัดของตัวเอง มีทักษะชีวิต การคิดวิเคราะห์
และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (4) ช่วงวัย 15-21 ปี
เสริมสร้างให้เด็กวัยรุ่นมีศีลธรรม
ความรู้พร้อมเข้าสู่ตลาดงานสามารถทำงานกับผู้อื่นทั้งต่างวัยและต่างวัฒนธรรม
มีทักษะอาชีพ และการใช้ภาษา (5) ช่วงวัย 15-59 ปี
เน้นพัฒนาแรงงานให้มีความรู้
ทักษะสมรรถนะที่สอดคล้องกับการทำงานและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
(6) ช่วงวัย 60 ปีขึ้นไป
ส่งเสริมผู้สูงอายุเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ด้วยตัวเองและถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้
ทั้งนี้ อาจจำแนกตามศักยภาพ อาทิ ช่วงอายุ 60-69 ปี
ผู้สูงอายุควรมีความรู้และทักษะใหม่ๆ
สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ช่วงอายุ 70-79 ปี
ผู้สูงอายุควรได้รับความรู้และข่าวสารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุได้รับการบริการที่ตอบสนองความต้องการ
เหมาะสมกับภาวะพึ่งพิงและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ (7)
ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการพัฒนา อาทิ ครอบครัว มีศีลธรรม
มีสัมพันธภาพที่ดี มีหลักประกันความมั่งคง
สมาชิกมีการเรียนรู้ต่อเนื่อง ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้
เป็นพลังร่วมการพัฒนา
สถาบันทางสังคมมีบทบาทเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคนอย่างเป็นองค์รวม
ข่าว : วันทนีย์ สุขรัตนี
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี
|