เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ดร.วิชญายุทธ บุญชิต
รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เป็นประธานเปิดการอบรม เรื่อง "การจัดสร้างบัญชีเมทริกซ์สังคม”
(Social Accounting Matrices) โดยมี นางพัชรินทร์ ศรีนพนิคม
รักษาการผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
ร่วมในพิธีเปิดการอบรมแก่เจ้าหน้าที่ สศช.
และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์ ทีมวิเคราะห์การคลัง สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ ห้อง 531 สศช.
การอบรมครั้งนี้ ดร.สมชัย จิตสุชน
และคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
เป็นวิทยากรในการบรรยาย ประกอบด้วย (๑) กรอบแนวคิดฐานข้อมูล
การจัดทำข้อมูล และโครงสร้างบัญชีเมทริกซ์สังคม (๒)
สรุปวิธีสร้างบัญชีเมททริกซ์สังคม และ (๓) บัญชีเมทริกซ์สังคมสำหรับปี
2555 (SAM 2012)
"บัญชีเมทริกซ์สังคม”
เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง
ซึ่งสามารถสร้างให้มีความเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ
เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำแบบจำลองทางเศรษฐกิจมหภาค
ที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม บัญชีเมทริกซ์สังคมที่ สศช.
ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ
โดยเฉพาะเป็นบัญชีเมทริกซ์ที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งโครงสร้างการผลิต โครงสร้างการบริโภค
โครงสร้างตลาดแรงงานและประชากร รวมทั้งโครงสร้างภาษีต่างๆ ของภาครัฐ
และเป็นบัญชีเมทริกซ์สังคมที่ยังไม่แยกภาคการค้าต่างประเทศตามประเทศคู่ค้า
และแหล่งนำเข้ารายประเทศหรือกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญๆ
รวมทั้งโครงสร้างทางด้านตลาดแรงงานยังขาดรายละเอียด
ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ผลกระทบด้านตลาดแรงงานได้ตามที่ต้องการ
และส่งผลให้การวิเคราะห์เศรษฐกิจของ สศช. มีข้อจำกัดเช่นกัน
สศช. จึงได้ร่วมกับ TDRI
พัฒนาและจัดอบรมการสร้างบัญชีเมทริกซ์สังคมขึ้น
เพื่อให้การจัดทำบัญชีดังกล่าวมีความทันสมัย
มีความละเอียดของสาขาการผลิต โครงสร้างการบริโภค การลงทุน ครัวเรือน
แรงงาน และโครงสร้างการส่งออกรายสินค้าและประเทศคู่ค้า
ตลอดจนโครงสร้างภาษี ในระดับที่เหมาะสม
และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับแบบจำลองทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ
การวิเคราะห์ผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการกระจายรายได้
การวิเคราะห์รายสาขาที่มีความละเอียดสูง
ตลอดจนการวิเคราะห์ภาพรวมและการประมาณการแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : ปราณี ขวัญเกิด
|