บ้านสุริยานุวัตร
ซึ่งในปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถานแห่งชาตินั้น
มีประวัติความเป็นมาที่กล่าวได้ว่า
เป็นส่วนหนึ่งของตำนานด้านการเศรษฐศาสตร์ของไทย
เพราะสถานที่แห่งนี้คือบ้านของ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร
นามเดิมว่าเกิด บุนนาค
ท่านได้ชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย
ด้วยผลงานด้านการเงินการคลัง
เมื่อครั้งท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2449 ตราบจนกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ท่านยังได้เขียนหนังสือ
"ทรัพยศาสตร์" ซึ่งถือเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของเมืองไทย
พระยาสุริยานุวัตร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2405 เมื่ออายุได้เพียง 9 ขวบ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ผู้เป็นลุงได้ส่งไปศึกษาที่ปีนังและกัลกัตตาอยู่ 5 ปี
ก่อนจะกลับมาเข้ารับราชการสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในกรมมหาดเล็กเป็นแห่งแรก
พระยาสุริยานุวัตร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2405 เมื่ออายุได้เพียง 9 ขวบ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ผู้เป็นลุงได้ส่งไปศึกษาที่ปีนังและกัลกัตตาอยู่ 5 ปี
ก่อนจะกลับมาเข้ารับราชการสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในกรมมหาดเล็กเป็นแห่งแรก
ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งอัครราชทูตอยู่
มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างบ้านสุริยานุวัตรในเวลาต่อมา
คือ เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร (รัชกาลที่ 6)
ซึ่งทรงศึกษาอยู่ ประชวรไส้ติ่งอักเสบ ต้องได้รับการผ่าตัดทันที
พระยาสุริยานุวัตรเห็นว่า หากรอรับพระบรมราชานุญาตจะไม่ทันการณ์
ท่านจึงอนุญาตให้แพทย์ถวายการผ่าตัดโดยขอถวายศีรษะเป็นราชพลี
ปรากฎว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงปลอดภัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานความดีความชอบในกาลต่อมา
เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรและธิดาของพระยาสุริยานุวัตรทุกคน
รวมทั้งพระราชทานที่ดินกว่า 7 ไร่ บริเวณถนนหลานหลวง
อันเป็นที่ตั้งของบ้านสุริยานุวัตร
ทั้งตัวอาคารก็ได้รับพระราชทานทรัพย์เพื่อปลูกสร้างจากสมเด็จพระพันปีหลวงด้วยเช่นกัน
บ้านสุริยานุวัตร
สร้างขึ้นหลังจากที่ท่านกลับมารับราชการในแผ่นดินเกิด
โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
จึงน่าจะสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2448
เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานช้าง 3
เชือกมาเหยียบดินให้แน่นก่อนที่จะเรียงซุงจำนวนมากเพื่อรองรับน้ำหนักตึกตามตำราก่อสร้างสมัยก่อน
สถาปนิกผู้ออกแบบเป็นนายช่างอิตาเลียนคนเดียวกับที่ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
และได้ยึดแนวก่อสร้างแบบเดียวกันมาใช้
หนึ่งปีให้หลังเมื่อบ้านนี้เริ่มสร้าง พระยาสุริยานุวัตร
ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ
เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ผลงานของท่านมีมากมาย อาทิ
ได้คิดทำสตางค์แดงขึ้นใช้แทนอัฐิแบบเดิม
ท่านได้ชื่อว่าเป็นนักคิดและนักปฏิบัติหัวก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น
มีความเฉียบขาดและตรงไปตรงมา
คุณสมบัติเช่นนี้ได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศอย่างมากมาย
ในขณะเดียวกันก็สร้างศัตรูในหมู่คนบางคนเช่นกัน
ผลงานที่ได้ชื่อว่าเป็นชิ้นโบว์แดงและยืนยันถึงเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน
คือ
การเสนอแนวคิดจัดการโอนการจำหน่ายฝิ่นจากนายอากรมาให้รัฐบาลทั้งหมด
ทำให้เกิดผลดีต่อการเพิ่มรายได้ให้รัฐอย่างมหาศาล
ทำให้นายอากรและผู้เสียประโยชน์ไม่พอใจอย่างมาก ในที่สุด
พระยาสุริยานุวัตรได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ
เพื่อระงับเหตุอันอาจจะบานปลายต่อไป
บ้านสุริยานุวัตร
ยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อบุตรชายของท่านคือ คุณประจวบ บุนนาค
เป็นสมาชิกสำคัญคนหนึ่งของคณะผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 ในเบื้องต้นนั้น
ท่านโกรธบุตรชายมากถึงขั้นจะสังหารด้วยตนเอง
แต่เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า
คณะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์ร้ายต่อราชบัลลังก์
ท่านจึงพิจารณาเรื่องราวด้วยดวงใจที่เปิดกว้าง
และได้หันมาสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มาก
ทั้งยังอนุญาตให้ใช้บ้านเป็นที่ประชุมหารือเรื่องราวต่างๆ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเสมอๆ
ช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาล ข้าราชการ นักการเมือง
ตลอดจนประชาชนทั่วไป ต่างก็ได้รับรู้ถึงกิตติศัพท์
และความสามารถของท่านผู้ซึ่งได้รับการยกย่องนับถือเป็น
"รัฐบุรุษผู้เฒ่า" ท่านนี้ว่า
เป็นคนตรงและเฉียบขาดอย่างมิอาจหาผู้ใดเสมอเหมือนแม้จะเข้าสู่วัยชรา
ความซื่อสัตย์กอปรกับเจตนาดีที่มีต่อบ้านเมืองอย่างแรงกล้า
คืออาภรณ์ประดับงดงามสูงค่าที่ท่านสวมใส่มาโดยตลอดตราบจนวันที่ท่านถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ
ภายในบ้านที่ท่านถือว่าเป็น "ของรับพระราชทานมา" หลังนี้ เมื่อปี พ.ศ.
2479
บ้านสุริยานุวัตร นามบ้าน นามความดี
นามบิดาแห่งการเศรษฐศาสตร์ไทย
ภายหลังอนิจกรรมของท่านราว 4-5 ปี
ทายาทของท่านได้ขายที่ดินบางส่วนและตัวบ้านสุริยานุวัตรให้แก่รัฐบาล
และต่อมาได้ใช้เป็นที่ตั้งของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันก็คือ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นั่นเอง
โดยในสมัยของจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์
ได้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานสมัยใหม่ขึ้นรายรอบ
และตัวบ้านสุริยานุวัตรในระยะหลังจึงถูกเรียกขานว่า ตึกกลาง
ความสำคัญของตึกกลางหรือ บ้านสุริยานุวัตร
ได้ถูกสืบค้นและกล่าวขานถึงเรื่อยมาและในที่สุด
จึงได้มีการประกาศให้ตึกกลางเป็นโบราณสถานแห่งชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
และกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2533 เมื่อแล้วเสร็จ
คณะผู้บริหารได้ลงมติให้ตั้งชื่ออาคารหลังนี้ว่า
"ตึกสุริยานุวัตร"
ตึกสุริยานุวัตร ภายหลังการบูรณะปรับปรุงนั้น
ยังคงรักษาลักษณะภายนอกไว้เช่นเดิม คือ เป็นอาคารสองชั้น
ลักษณะสถาปัตยกรรมคลาสสิก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
จัดองค์ประกอบสองข้างอาคารต่างกัน
ด้านหนึ่งเป็นหลังคาจั่วผสมทรงปั้นหยา
ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปทรงหลายเหลี่ยม มีทรงปิระมิดผสานอยู่
ทั้งหมดนี้มีลักษณะอวดพื้นหลังคา
พิเศษด้วยการเจาะช่องหน้าต่างเล็กตรงกลาง มีการแกะไม้ประดิษฐ์ลาย
แต่ตกแต่งอย่างไม่หวือหวาจนเกินงาม
ตัวตึกภายนอกประดับลายปูนปั้นแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ในยุคนั้นได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
เข้าชุดกับส่วนที่เป็นไม้ หน้าต่างเป็นไม้บานเกล็ด
เหนือขึ้นไปทำเป็นช่องระบายลม ส่วนประตูทำแบบบานลูกฟัก
แกะลายงดงาม
ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะได้แก่หน้าต่างทางตึกปีกซ้ายซึ่งเป็นด้านบันได
เล่นระดับไล่กันอย่างสวยงามแปลกตา ภายในตึกสุริยานุวัตร
โดดเด่นด้วยสไตล์อาร์ตเดโคและอาร์ตนูโว โดยเฉพาะที่บันได
การตกแต่งภายในบ้านงามอย่างเรียบง่าย
สิ่งที่ทรงคุณค่าอีกอย่างหนึ่งภายในบ้านหลังนี้ก็คือ
สรรพตำราทั้งภาษาไทยและอังกฤษ โดยเฉพาะที่ห้องสมุดชั้นสอง
ซึ่งกล่าวได้ว่า
น่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของตำราเศรษฐศาสตร์ไทยเล่มแรกที่มีชื่อว่า
"ทรัพยศาสตร์" นามบ้านสุริยานุวัตร
นามของผู้กระทำตนเสมือนหนึ่งพระอาทิตย์ที่เผาผลาญตัวเองเพื่อยังประโยชน์แก่ส่วนรวม
สมดังราชทินนามที่ได้รับพระราชทาน
และถือเป็นแบบฉบับแห่งความดีงามที่ควรแก่การกล่าวขานยกย่องสืบต่อสู่อนุชนรุ่นหลังตลอดไป
 |