สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) เปิดเวที "ร่วมคิด ร่วมสร้าง
ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากรภายใต้ทิศทางการพัฒนาของแผนฯ 13”
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศ
ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว
และแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รวมทั้งเพื่อระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่
และเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายในการประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาฯ
ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา
วุฒิอาสาธนาคารสมอง และชุมชนท้องถิ่น
เพื่อเป็นการแปลงแผนการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สศช.
ได้เปิดเวทีนำเสนอและระดมความคิดเห็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13 แผนพัฒนาประชากรฯ และแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไปสู่การสร้างเสริมความเข้มแข็งของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ
โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดขอนแก่น
โดยได้รับเกียรติจากนางสาวธนียา นัยพินิจ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ
และมีการนำเสนอวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านการแสดงของศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย
ด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) แม่ครูราตรี ศรีวิไล
โดยคุณแม่ราตรี ศรีวิไล
วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดขอนแก่นให้เกียรตินำแสดงด้วยตนเอง
จากนั้นนางสาววรวรรณ พลิคามิน
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 –
2570) แผนพัฒนาประชากรฯ (พ.ศ. 2565 – 2580)
และประเด็นการขับเคลื่อนด้านประชากรที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
และนายมนตรี
ดีมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอ "เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยราชการส่วนภูมิภาค
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน
เครือข่ายภาคประชาสังคมและชุมชน ประมาณ 150 คน
โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีมิติการพัฒนา 4
มิติ ประกอบด้วย (1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย
หมุดหมายที่ 1
ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
หมุดหมายที่ 2
ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
หมุดหมายที่ 5
ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
หมุดหมายที่ 6
ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน
(2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย
หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง
มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8
ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย
เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง
และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม (3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
หมุดหมายที่ 11
ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และ (4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ
ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง
มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่
13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
สำหรับแผนพัฒนาประชากรฯ เป็นแผนระดับ
3 ที่ถ่ายระดับจากแผนฯ 13
มีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากรที่ให้ความสำคัญกับ "การเกิดดี อยู่ดี
และแก่ดี” ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนา 6 ด้าน คือ (1)
การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงบุตร
(2) การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร (3)
การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน (4)
การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร
และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายชีวิต (5)
การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต
อย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย และ (6)
การบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น
ขณะที่แนวทางการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.
2566 – 2570
ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่การเป็น
"ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”
โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่ (1)
การเป็นฐานการผลิตของประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) (2)
การเป็นประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน (Gate) และ (3)
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
(Growth)
นอกจากนี้ ยังนำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ
สู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ของผู้แทนภาคีเครือข่ายที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรม
ได้แก่ "การสร้างหลักประกันให้เกิดความมั่นคงของคนในชุมชน”
โดยนายประวัติ กองเมืองปัก
คณะทำงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ "คนรุ่นใหม่คืนถิ่น ปลดหนี้ด้วยการตลาด” โดยนายธนาวัฒน์
จันนิม เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสุรินทร์ และ "วิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างการเติบโตแบบมีส่วนร่วม”
โดยนายบัญญัติ คำบุญเหลือ กรรมการผู้จัดการบริษัทสฤก จำกัด
โดยมีนายวิรัช มั่นในบุญธรรม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ
โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ
หลังจากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นประเด็นการขับเคลื่อนสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยประเด็นการขับเคลื่อนประเด็นการขับเคลื่อนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ
และประเด็นการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
ดำเนินการโดยใช้กระบวนการ ต้นไม้ระบบสุขภาพชุมชน
ที่เป็นการประยุกต์จากพื้นฐานแนวคิดกรอบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์
มาใช้ในการค้นหาสถานการณ์ บริบท
ทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ที่สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมได้
สำหรับประเด็นการขับเคลื่อนการออกแบบกลไกการออม
และประเด็นการขับเคลื่อนการสร้างงานสร้างอาชีพทุกกลุ่มวัย
ดำเนินการโดยใช้กระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคำถามสำคัญ (5W1H) What? Who?
When? Where? Why? How?
ที่เป็นชุดคำถามอย่างเป็นระบบในการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการอธิบายปัญหาและกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน
โดยมีผู้แทนจากกลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมด้วยผู้แทนจากโรงพยาบาลขอนแก่น
และผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
เป็นวิทยากรกระบวนการ
และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นทีมสรุปประเด็นร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ
สศช.
สำหรับผลการระดมความคิดเห็นในแต่ละประเด็นสามารถกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ
ได้แก่ การขับเคลื่อนการออกแบบกลไกการออม
อาทิ การถอดบทเรียนและขยายผลจากพื้นที่ต้นแบบ
การปรับหลักสูตรและมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่เพิ่มทักษะความรอบรู้ทางการเงิน
การสร้างทัศนคติการออมที่เริ่มจากตัวเราเอง การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ อาทิ
การผลักดันให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีการตรวจทางปัสสาวะ
และการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยวิธีอัลตราซาวด์
การสร้างพื้นที่ต้นแบบการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
มหาสารคาม และสุรินทร์ การส่งต่อโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
อาทิ
การเปลี่ยนโรงเรียนขนาดเล็กที่จะถูกปิดตัวให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ประจำชุมชน
การพัฒนาธนาคารเครดิตเพื่อสะสมความรู้
การศึกษาและถอดบทเรียนพื้นที่ตัวอย่างในการส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กสามารถนำความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ได้
การมีห้องเรียนสอนซ่อมเสริมสำหรับนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบ
และการสร้างงานสร้างอาชีพ อาทิ
การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการตนเองภายในชุมชน
การใช้ห้องเรียนอัจฉริยะเป็นพื้นที่อบรมให้ความรู้ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเผยแพร่และสร้างศักยภาพให้แก่คนในชุมชน
ทั้งนี้
ประเด็นที่ได้มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาประชากรระยะยาว
รวมถึงผลการระดมความคิดเห็นที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพต่อไป
ภาพ/ข่าว :
กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
|