เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
ต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 -
2570)” เพื่อร่วมปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความสมบูรณ์
สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
และสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
ก่อนประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นางธิดา
พัทธธรรม รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นประธานการประชุมระดมความเห็น "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566
- 2570) รอบที่ 2 กลุ่มหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ”
ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ ZOOM Meeting ณ ห้องประชุม เดช สนิทวงศ์
สศช. โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายวัลลภ
นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางอรนุช
ศรีนนท์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายวันชัย วราวิทย์ ผู้ตรวจราชการ
รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายสุรพงษ์
มาลี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านยุทธศาสตร์
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางสาวลิปิการ์
กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา
รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายดนุชิต อติศัพท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์
นางสาวนาตยา ธนพลเกียรติ
ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายสมประสงค์ สัตยมัลลี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบัตรโดยสาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
นายวัชรินทร์ อ่าวสินธุ์ศิริ
รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นายสิทธิชัย
ปริญญานุสรณ์
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ
(องค์การมหาชน) นายวรวรงค์ รักเรืองเดช
รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี
รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นางสาวรัชนิดา นิติพัฒนาภิรักษ์
ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์สถาบันยานยนต์ นางหรรษา
บุญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางธีรีสา มัทวพันธ์
รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
และนางสาวพงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์
รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
จำนวนประมาณ 500 คน
รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า สศช.
อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
(พ.ศ. 2566–2570)
เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่
12 (พ.ศ. 2560–2565) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565
โดยร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นั้น เป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับแรก
ที่เริ่มต้นกระบวนการยกร่างกรอบแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
และจะมีผลในการใช้เป็นกรอบเพื่อกำหนดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
และแผนปฏิบัติการในช่วง 5 ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ
โดยการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนและวางแผนการพัฒนาประเทศ
ตลอดจนยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable
Development Goals: SDGs)
ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต
สังคมก้าวหน้า
ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลในระยะยาว
การจัดประชุมระดมความเห็นร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในครั้งนี้
จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นจากกลุ่มนักวิชาการ
ทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาในระดับพื้นที่/กลุ่มเฉพาะ
ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ทั้งในระดับภาพรวม ได้แก่ เป้าหมายกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์
และแนวทางหลักในร่างแผนฯ และระดับหมุดหมาย
ได้แก่ เป้าหมาย ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ในแต่ละหมุดหมาย
ให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
ในกระบวนการจัดทำแผนฯ 13 สศช.
ยังคงมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาและสาธารณชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนฯ
อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 ในระดับกลุ่มจังหวัด 18
กลุ่มทั่วประเทศ และเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง ทั้งกลุ่มภาคราชการ ภาคเอกชน
ภาควิชาการ อดีตผู้บริหาร สศช. ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน
รวมถึงยังจัดให้มีช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวก
เพื่อให้ได้ความเห็นต่อทิศทางการพัฒนาที่หลากหลาย
สามารถแก้ปัญหา
และตอบสนองความต้องการของคนไทยในทุกพื้นที่และทุกอาชีพได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ รองเลขาธิการฯ ได้กล่าวถึงภารกิจหนึ่งของสำนักงานฯ
ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโครงการพัฒนาที่สำคัญภายใต้ช่วงเวลาของแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของแผนที่ได้กำหนดไว้
โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐในการให้ข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบ
eMENSCR
หลักจากนั้น นางสาวสุนทราลักษณ์
เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ได้นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า แผนฯ 13
มีเป้าหมายหลักของการพัฒนาในระยะ 5 ปีของแผนรวม 5 เป้าหมาย ได้แก่
(1)
การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (2)
การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3)
การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (4)
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ (5)
การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง
ภายใต้บริบทโลกใหม่
ที่ปรึกษาฯ กล่าวต่อไปว่า
เพื่อถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่ภาพของการขับเคลื่อนที่ชัดเจนในลักษณะของวาระการพัฒนา
(Agenda)
ที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนในการผลักดันการพัฒนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
แผนฯ 13 จึงได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนา จำนวน 13 ประการ โดยแบ่งเป็น 4
มิติ ได้แก่
1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย
ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1
ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
หมุดหมายที่ 2
ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
หมุดหมายที่ 3
ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4
ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5
ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
หมุดหมายที่ 6
ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม
ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7
ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง
และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8
ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย
เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง
และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10
ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11
ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ
ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12
ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่
13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ
และตอบโจทย์ประชาชน
ที่ปรึกษาฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้
สศช.
จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หลังจากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
ประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์
www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์
Update, Email : plan13@nesdc.go.th และ ตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง
กรุงเทพฯ 10102
-------------------------
ภาพ/ข่าว :
กองวิเคราะห์งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ/กลุ่มประชาสัมพันธ์และห้องสมุดสุริยานุวัตร
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
15 ธันวาคม 2564
|