เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายดนุชา
พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ให้สัมภาษณ์ทางช่อง 9 MCOT HD
เผยความคืบหน้าและผลการดำเนินแผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด
19 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้
เยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า
ในภาพรวมโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมใน พ.ร.ก. เงินกู้ 1
ล้านล้าน ที่มีวงเงิน 400,000 ล้านบาท
ถ้านับจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเงินกู้จนถึงขณะนี้ (27 กรกฎาคม
2564) นั้น ขณะนี้มีงบประมาณเหลืออยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่ได้นำงบประมาณไปใช้ในเรื่องการเยียวยาและการสาธารณสุข
เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่
สำหรับในส่วนที่มีการอนุมัติโครงการไปแล้วประมาณ 2-300 โครงการ
ส่วนใหญ่จะดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก
เป็นการจ้างงานตรง ซึ่งได้อนุมัติไปตั้งแต่ช่วงประมาณปลายปี
2563 โดยเริ่มมีการจ้างงานตรง ซึ่งพุ่งเป้าไปที่นักศึกษาจบใหม่
หรือคนที่ว่างงานและกลับไปอยู่ในที่พื้นที่
เป็นการจ้างงานแบบกระจายไปในหลายพื้นที่
ผ่านโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ
หรือโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1
มหาวิทยาลัย)
หรือโครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า
ลักษณะที่สอง
เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่
เป็นโครงการระยะยาวที่ช่วยให้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกร
ให้มีความมั่นคงในด้านอาชีพ
มีปัจจัยในการผลิตที่เพียงพอในการนำไปใช้ในการผลิตด้านการเกษตรต่อไป
เช่น โครงการเกี่ยวกับการทำปุ๋ย
มีการรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้น
มีการตรวจสอบคุณภาพดินและทำปุ๋ยที่เหมาะสม หรือโครงการ โคก หนอง นา
โมเดล
ซึ่งเป็นโครงการที่มีลักษณะในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพในระยะยาว
ในเวลานี้ การดำเนินงานที่เห็นผลได้ชัดคือเรื่องการจ้างงาน
เท่าที่ดูตัวเลขการจ้างงานขณะนี้อยู่ที่ 3-4 แสนราย
ทำให้อย่างน้อยคนมีรายได้และมีการใช้จ่าย
สำหรับผลกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมนั้น
ในแง่ของการบริโภคสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน
อีกส่วนหนึ่งที่อยู่นอกเหนือแผนฟื้นฟูเป็นเรื่องของการกระตุ้นการบริโภคโดยตรง
เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ค่อนข้างมาก
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่าต่อไปว่า
สำหรับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในระยะต่อไป รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.
เงินกู้ 500,000 ล้านแล้ว
ในส่วนนี้จะมีเงินสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจประมาณ 170,000 ล้านบาท
ด้วยสถานการณ์ขณะนี้มีการระบาดของไวรัสโควิด-19
ละลอกใหม่ที่มีผลกระทบกับประชาชนวงกว้างมาก
ซึ่งต้องเร่งหารือกับหน่วยงานที่ดำเนินโครงการอยู่แล้ว
โดยต้องประเมินโครงการก่อนว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร
ซึ่งอาจเป็นการต่อโครงการออกไปอีก 1 ปี
หรือจะขยายขนาดของโครงการออกไป
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูแลอย่างจริงจังคือ SMEs
ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการที่เน้นช่วยเหลือประชาชนโดยตรง
ในขณะที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้รับการช่วยเหลือมากนัก
ในระยะถัดไปสภาพัฒน์กำลังหารือร่วมกับทีมเศรษฐกิจ
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
ว่าจะเริ่มดำเนินโครงการที่จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs
ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบอยู่ในลักษณะอย่างไร
โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และหากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว
เศรษฐกิจเริ่มเดินหน้าได้แล้ว เราควบคุมการระบาดได้
มีวัคซีนเข้ามาตามกำหนด อาจจะต้องหาวิธีการที่จะ Jump-Start
มาใช้ในภาคธุรกิจที่ได้รับกระทบ
เลขาธิการ สศช. กล่าวในตอนท้ายว่า
จากการประเมินผลโครงการที่ผ่านมา
พบว่าช่วงแรกยังมีความล่าช้าเนื่องจากต้องมีการเตรียมระบบการเบิกจ่าย
ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับทางสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง
เมื่อทุกอย่างเข้าที่จึงสามารถเบิกจ่ายได้มากขึ้น อาทิ
โครงการที่เป็นเรื่องของปุ๋ยสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 70%
หรือโครงการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ต้องการซื้ออุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตปุ๋ย
สามารถเบิกจ่ายได้ 90%
ดังนั้นในภาพรวมของผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
โครงการต่าง ๆ มีความก้าวหน้า มีการจ้างงานมากขึ้น
กลุ่มเกษตรกรเริ่มเข้าใจว่าการเกษตรไม่จำเป็นต้องทำมากแต่ต้องทำให้มีคุณภาพ
โดยเริ่มจากเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายออกไป
ซึ่งในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงในด้านอาชีพการเกษตร
ข่าว : จักรพงศ์ สวภาพมงคล
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี
|