เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ได้จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.)
ครั้งที่ 1/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference)
ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์
จันทร์โอชา) เป็นประธานการประชุม
โดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างต่อเนื่อง
และการยกระดับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในภาคต่าง ๆ
ให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
เพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับพื้นที่และระดับภาคอย่างทั่วถึงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของประชาชน
โดยมีสาระสำคัญของการประชุมสรุปดังนี้
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งการพัฒนาภาคและกลุ่มจังหวัด/จังหวัด
รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน
และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
และในปัจจุบันได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
หรือ กพศ. เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม
และสนับสนุนการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ
โดยในการดำเนินงานตามระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งในส่วนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง
10 แห่ง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน
4 ภาคของประเทศ
โดยในส่วนของการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10
แห่ง ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ
70
มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานให้บริการในการเข้ามาทำงานแบบไป-กลับแก่แรงงานกัมพูชาและเมียนมาโดยใช้บัตรผ่านแดนและต้องมีการทำประกันสุขภาพให้มีระยะเวลาครอบคลุมระยะเวลาที่ทำงานในประเทศไทย
รวมทั้งมีการจัดหาที่ดินราชพัสดุเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนานำร่องการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยมีการเช่าพื้นที่พัฒนาแล้ว
5 พื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว สงขลา ตราด นครพนม
และกาญจนบุรี
ปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10
แห่งแล้วประมาณ 25,400 ล้านบาท
ในการประชุมครั้งนี้ กพศ.
ได้เห็นชอบข้อเสนอและแนวทางการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้
1.
เห็นชอบข้อเสนอการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ในระยะต่อไป
โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
รวมทั้งมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ
คณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอโครงการและมาตรการเพิ่มเติมไปพิจารณาจัดทำแผนการดำเนินงาน
ระยะเวลาที่ต้องดำเนินการและตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานให้มีความชัดเจน
เพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้
ให้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่
2.
เห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน
4 ภาค โดยในแต่ละพื้นที่มีบทบาท ดังนี้
- ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern
Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย
เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา
ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
- ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) ได้แก่
ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย
เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
- ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก
(Central – Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่
พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง -
ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว
และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล
เชื่อมโยงกับกรุงเทพและพื้นที่โดยรอบ และ EEC
- ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern
Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี
และนครศรีธรรมราช
เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน
และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง
รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ
ทั้งนี้ กพศ.
ได้มอบหมายให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 แห่ง
ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ
และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง
รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานและการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่
และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ
พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ
กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ และนำเสนอ กพศ.
เพื่อพิจารณาต่อไป
ข่าวและภาพ: กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่
(กพท.)
|