วันนี้ (9 เมษายน 2564) นายดนุชา
พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566
– 2570)” กลุ่มเยาวชน ณ ห้องประชุม 531
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานฯ
ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดกระบวนการระดมความเห็นกลุ่มเยาวชน
โดยมีผู้แทนเยาวชนจากสถาบันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้
มีผู้แทนเยาวชนกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ อาทิ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
กลุ่มเยาวชนที่มีความโดดเด่นด้านวิชาการและนวัตกรรม อาทิ
กลุ่มโอลิมปิกวิชาการ เครือข่ายเด็กและเยาวชนนักเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานที่มีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในมิติต่าง
ๆ อาทิ เครือข่ายเยาวชนบางกอกนี้ดีจัง กลุ่มยุวชนประชาธิปไตย
และมีเครือข่ายเยาวชนจาก Unicef Thailand / UNFPA Thailand
ซึ่งเป็นผู้แทนเยาวชนกลุ่มเปราะบาง
รวมทั้งสิ้นมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน
นายดนุชา พิชยนันท์
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า
เยาวชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ
เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์
เป็นวัยที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง
มองเห็นปัญหาและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขพัฒนาอีกทั้ง
เยาวชนยังเป็นกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จึงเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนจะได้ร่วมกันออกแบบอนาคตของตนเองและประเทศชาติ
โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
– 19 ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
และการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชน จนเกิดวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เยาวชนคนรุ่นใหม่จะร่วมกันกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาสำคัญของประเทศผ่านกรอบแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13 ที่จะส่งผลต่ออนาคตของเยาวชน อีกทั้ง
เวทีการระดมความคิดเห็นในวันนี้
จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่ตื่นตัว
และเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศมากขึ้น
นางสาววรวรรณ พลิคามิน
ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน นำเสนอ "ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13”
ในรูปแบบของการถาม-ตอบ และเปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนซักถาม
เพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมและมีความกระตือรือร้นในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศร่วมกัน
โดยเริ่มต้นด้วยคำถาม
"ทำไมประเทศไทยต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”
เพื่อกระตุ้นให้น้อง ๆ เยาวชนทราบถึงความสำคัญของแผนพัฒนา
และร่วมกันคิดในประเด็นสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Global
Megatrends) และผลกระทบจากโควิด-19
ที่เป็นความท้าทายและเงื่อนไขสำคัญในการพลิกโฉมประเทศไทย สู่
"เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”
และมีการนำเสนอวีดิทัศน์ของร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ที่เป็นรายละเอียดขององค์ประกอบและหมุดหมาย นอกจากนี้
กระบวนการระดมความเห็นในช่วงเช้า สศช. ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ
ประเทศไทย ยังได้จัดกิจกรรม Check-In และ Ice breaker "Post –
COVID-19”
เพื่อให้เยาวชนผู้เข้าร่วมประชุมได้ทำความรู้จักกันและสะท้อนผลกระทบ/ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองและชุมชนในช่วงการเกิดโควิด-19
แลกเปลี่ยนทัศนะ เสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ซึ่งจะเป็นการรวมพลังเชิงสร้างสรรค์
รวมทั้งช่วยชี้ประเด็นให้เห็นถึงหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ต่อจากนั้น
ในภาคบ่ายเป็นการระดมความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบ
สนทนาสภากาแฟคนรุ่นใหม่ – World Café ผ่านการตั้งคำถามร่วมกัน 3 คำถาม
ได้แก่ (1) การเปลี่ยนผ่านประเทศใน 4 ด้านหลัก
เกี่ยวข้องกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไปและชุมชนหรือไม่
เกี่ยวข้องอย่างไร (2)
ประเด็นการพัฒนาที่กำหนดไว้จะช่วยเปลี่ยนประเทศให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
เพราะอะไร และ (3) ควรเพิ่มเติมประเด็นการพัฒนาหรือไม่
โดยมีการแบ่งกลุ่มระดมความเห็นออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ (1)
ปรับทิศทางเศรษฐกิจเดิมและส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ (2)
สังคมเปิดกว้างและเท่าเทียม (3) ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ
(4) คนไทยและภาครัฐไทยในอนาคต
เยาวชนผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาฯ
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่
"เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”
และได้ให้ข้อเสนอที่ช่วยเติมเต็มให้กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สรุปได้ดังนี้
1)
เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ควรเร่งพัฒนาปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ
โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง
โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
(2) กระจายความเจริญจากเมืองสู่ชนบท
เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง และ (3)
กลไกและมาตรการสนับสนุน อาทิ
การปรับแก้กฎหมายที่อำนวยความสะดวกในการลงทุน/พัฒนา
มาตรการทางภาษีที่จูงใจผู้ประกอบการ
2) สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค
ควรคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศและคนทุกกลุ่มในการพัฒนาทุกหมุดหมาย
โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ
เพื่อลดการผูกขาดและสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่าง SMEs
หรือผู้ประกอบการรายย่อยกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่
สร้างสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพในด้านการศึกษา การสาธารณสุข
การกระจายการถือครองทรัพย์สิน และความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ
รวมทั้งมีการเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม
การจัดหาบริการสาธารณะ
โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้พิการ
ตลอดจนส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาในฐานะผู้รับผลของนโยบายมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบาย
เพื่อให้ได้นโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการและสภาพปัญหาของประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง
นอกจากนี้
เยาวชนผู้เข้าร่วมประชุมยังมีความเห็นว่าควรให้แยกการกำหนดหมุดหมายระหว่างเรื่องความยากจนข้ามรุ่น
และความคุ้มครองทางสังคมออกจากกัน
เนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญและครอบคลุมการดำเนินงานที่หลากหลาย
3) วิถีชีวิตที่ยั่งยืน
ควรสร้างความตระหนักและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแบบพืชเป็นหลัก
(Plant-based awareness )
เพื่อลดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการทำการปศุสัตว์
ส่งเสริมระบบที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง
และควรให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบาง
เนื่องจากจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
คนยิ่งจนยิ่งมีผลกระทบในเชิงคุณภาพชีวิตสูง นอกจากนี้
ควรส่งเสริมการทูตด้านภูมิอากาศ (Climate diplomacy)
อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากล
4) ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ
ควรมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคให้แก่คนทุกกลุ่ม
และสร้างให้เห็นคุณค่าในการเรียนของทุกสายอาชีพอย่างเท่าเทียม
รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาของผู้เรียนอย่างแท้จริง
สำหรับในด้านการพัฒนาภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
ควรส่งเสริมการกระจายอำนาจเพื่อการมีส่วนร่วมในการวางแผน จัดทำนโยบาย
และจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่น (Bottom up)
เพื่อสะท้อนความต้องการของภาคประชาชนมากขึ้น
และควรเร่งสร้างการรับรู้ถึงการดำเนินงานของภาครัฐสู่สาธารณะอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอมากขึ้น
เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐได้
โดยช่วงท้ายมีผู้แทนเยาวชนนำเสนอผลการระดมความเห็น
รวมทั้งมีการสะท้อนความเห็นเพิ่มเติมจากนางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคุณเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ
ประเทศไทย
โดยเน้นย้ำให้เยาวชนเห็นถึงความสำคัญของบทบาทคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ซึ่งความคิดเห็นของน้องๆ
เยาวชนทุกคนจะถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนา
รวมทั้งต่อยอดขยายผลแนวทางการพัฒนาที่สำคัญด้านอื่น ๆ ไปในวงกว้าง
และเวทีการประชุมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และสร้างอนาคตของประเทศที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันได้
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
9 เมษายน 2564