สภาพัฒน์จัดระดมความคิดเห็นกลุ่มนักวิชาการและสถาบันการศึกษา
ต่อ "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.
2566-2570)” เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน
พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ของ สศช.
ในทุกช่องทาง
วันนี้ (2 เมษายน 2564) นายวิชญายุทธ บุญชิต
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ
"กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566
- 2570)” กลุ่มนักวิชาการและสถานบันการศึกษา ณ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ สังคม
สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐ
รวมถึงนักวิชาการจากกลุ่มสถาบันการศึกษา
และสถาบันเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 60
คน
รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า
กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ผ่านมา สศช.
ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางพัฒนาสำคัญของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
และในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สศช.
ยังคงมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาและประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนฯ
อย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด เฉพาะกลุ่ม
และทางสื่อออนไลน์
โดยจากนั้นจะรวบรวมความเห็นที่ได้มาประมวลและกลั่นกรองเป็นกรอบแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13 และเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พิจารณาให้ความเห็นชอบ
ก่อนจะนำไปจัดทำรายละเอียดของแผนฉบับสมบูรณ์ต่อไป
สำหรับกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้มีเป้าหมายเพื่อ
"พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า
สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยเปลี่ยนผ่านประเทศ หรือ
transform ประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1)
การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากรไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้
หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2)
การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่
หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค (3)
การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
และ (4) การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย
ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
จากนั้น นางนภัสชล ทองสมจิตร
ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. นำเสนอ "ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 13”
ซึ่งกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาใน 4
ด้านดังกล่าว ซึ่งมีประเด็นที่จะให้ความสำคัญในช่วง 5 ปี ดังนี้ (1)
ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูง (2)
ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน (3)
ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (4)
ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5)
ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน
และจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค (6)
ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน
(7) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และSMEs (8)
มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ (9)
มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง
(10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11)
ไทยสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (12)
ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ (13) ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th,
Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email :
plan13@nesdc.go.th แบบสอบถามออนไลน์ และตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง
กรุงเทพฯ 10102
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2 เมษายน 2564
|