เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ดร.ปรเมธี
วิมลศิริ ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เป็นประธานการประชุม
"เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย” ครั้งที่
1/2564 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.)
ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้งเครือข่ายจากทั้งภาครัฐ เอกชน
สถาบันการศึกษา/วิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม รวมจำนวนประมาณ 45
คน
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ กล่าวว่า การจัด
"เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย” ริเริ่มโดย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
ที่ปรึกษากรรมการมูลนิธิพัฒนาไท
ได้เสนอแนวคิดให้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็น
เพื่อทบทวนกระบวนการและทิศทางการพัฒนาประเทศ
อย่างสอดคล้องกับกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการทำงานแบบบูรณาการของชุมชนท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศไทย
รวมทั้งแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
จากนั้น นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาไท นำเสนอ "ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13”
ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ "เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”
โดยกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่
6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะมีการเปลี่ยนผ่านประเทศใน 4
ด้านหลัก ได้แก่ ด้านที่ 1
เน้นการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านที่ 2
การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ด้านที่ 3
การปรับเปลี่ยนไปสู่วิถีชีวิตที่มีความยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย
และด้านที่ 4
การสร้างกำลังคนที่มีความสามารถและระบบบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ในการพลิกโฉมใน 4 ด้านดังกล่าว
มีประเด็นที่จะให้ความสำคัญในช่วง 5 ปี ดังนี้ (1)
ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง (2)
ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน (3)
ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (4)
ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5)
ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน
และจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค (6)
ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน
(7) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และSMEs (8)
มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ (9)
มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง
(10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11)
ไทยสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (12)
ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ (13) ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาฯ
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่า
เห็นด้วยกับเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ "เศรษฐกิจสร้างคุณค่า
สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” อย่างไรก็ตาม ควรระบุให้ชัดเจนว่า
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
มีกรอบแนวคิดและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
และควรปรับกลไกการขับเคลื่อนให้แผนพัฒนาฯ
สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้
ควรกำหนดกลไกการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนการพัฒนาตาม 13
หมุดหมายให้บรรลุตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาไท
ในฐานะรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
จะได้นำประเด็นการระดมความคิดที่ได้จากเวทีทิศทางอนาคตประเทศไทยครั้งนี้
ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ต่อไป
ข่าว : วีณา เตชะศิริสวัสดิ์
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล
|