สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) โดย กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
จัดประชุม "ติดตามการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมอง
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2” ประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ
จากจังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา
เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ
ผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมที่จะคัดเลือกไปจัดนิทรรศการในการประชุม
๒๐ ปี ธนาคารสมอง และเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่
13
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 นางสาวกัญญารักษ์ ศรีทองรุ่ง
ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เป็นประธานการประชุม "ติดตามการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมอง
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ” (เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา) ณ
โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงราย โดยได้รับเกียรติจากวุฒิอาสาฯ
และเครือข่าย จำนวนประมาณ 20 คน เข้าร่วมระดมความเห็น
นางสาวกัญญารักษ์ ศรีทองรุ่ง
กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
และมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.)
อยู่ระหว่างการติดตามการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ
ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง)
ภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา) และภาคเหนือตอนล่าง 1
(เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก)
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรวบรวมผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของวุฒิอาสาฯ
เพื่อคัดเลือกไปจัดนิทรรศการในการประชุม "20 ปี
ธนาคารสมอง”
ในโอกาสนี้จึงขอรับฟังความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่ง สศช.
มีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว
และขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
เพื่อให้สามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2565
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ใน 18 กลุ่มจังหวัด และกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ ดังนั้น
จึงขอรับฟังความเห็นจากวุฒิอาสาฯ
ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานพัฒนาประเทศด้านต่าง
ๆ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
จากนั้น นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล
ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
นำเสนอ "ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13”
โดยกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่
6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย
"สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า
สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยมีปัจจัยสนับสนุนใน 4 ด้านหลัก
ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ด้านวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
และปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ
ที่ประชุมได้ขอความเห็นจากวุฒิอาสาฯ
พร้อมทั้งแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนให้แผนพัฒนาฯ
บรรลุผลในระดับพื้นที่ โดยวุฒิอาสาฯ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
ให้ความสำคัญกับปัจจัยการพลิกโฉมประเทศไทยด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากที่สุด
เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และพัฒนาภาครัฐให้มีสมรรถนะสูง
ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคน
โดยมุ่งเน้นการพัฒนาในมิติด้านการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์
ส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม นอกจากนี้
ให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎ/ระเบียบที่ล้าสมัยและไม่เอื้อต่อการพัฒนา
เพื่อให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓
สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมบนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ในการระดมความคิดเห็นผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อประกอบการจัดนิทรรศการในการประชุม
๒๐ ปี ธนาคารสมอง ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ณ
โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นั้น วุฒิอาสาฯ
ได้เสนอผลการดำเนินงานที่วุฒิอาสาฯ
เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานจนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
อาทิ การพัฒนาสมุนไพรไทย
เพื่อแสดงศักยภาพของคนไทยในการพัฒนาสมุนไพรไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่า
ที่เริ่มมาจากสมุนไพรจากการเกษตร และนำมาวิจัย/พัฒนา
ตลอดจนการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แพทย์แผนไทย การดูแลผู้สูงอายุ
โดยเฉพาะโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีอยู่ทุกจังหวัด ๆ ละหลายแห่ง
และการเผยแพร่องค์ความรู้ทางสถานีวิทยุ ซึ่งวุฒิอาสาฯ
หลายจังหวัดได้จัดรายการให้ความรู้ด้านต่าง ๆ แก่ประชาชน
โดยรูปแบบการนำเสนอ ให้ยึดการนำเสนอในรูปแบบล้านนา
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ
และเสนอให้มีการจัดการแสดงด้านวัฒนธรรม ดนตรีพื้นเมืองในการประชุม
เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ
ในรูปแบบนิทรรศการแบบมีชีวิต
ข่าว : สุพัฒนา ทองสุนทร
ภาพ : ธีรันดร โชติวรรณ
|