ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดสัมมนา “การใช้ประโยชน์จากดัชนีความยากจนหลายมิติของไทยฯ” 
วันที่ 26 ธ.ค. 2562
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562  นางสาววรวรรณ  พลิคามิน ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "การใช้ประโยชน์จากดัชนีความยากจนหลายมิติของไทยในการจัดทำนโยบายเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาความยากจน” ณ ห้องประชุม 521 สศช.  โดย Dr. Sabina Alkire ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Director of Oxford Poverty and Human Development Initiative) ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐกในการสัมมนา พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในประเทศไทย (Child MPI) และดัชนีความยากจนหลายมิติ ระดับประเทศ (National MPI) ร่วมกับ ผศ.ดร. ธร  ปีติดล  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สศช. เข้าร่วมสัมมนา 
 
ในโอกาสนี้ สศช. ได้รายงงานว่าในช่วงที่ผ่านมาการนำเสนอสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยเป็นการนำเสนอในมิติด้านตัวเงินเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ครอบคลุมนิยามของความยากจนที่รวมถึงการขาดการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ จึงได้ดำเนินการพัฒนา (1) ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) ที่เป็นภาพรวมระดับประเทศ และ (2) ดัชนีความยากจนหลายมิติเฉพาะของกลุ่มเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยแนวคิดการคำนวณดัชนีความยากจนหลายมิตินี้ ใช้ระเบียบวิธีของอัลไคร์-ฟอสเตอร์ (Alkire-Foster) ซึ่งเป็นวิธีการที่ทั่วโลกนิยมใช้ในการจัดทำตัวชี้วัดความยากจนหลายมิติ องค์ประกอบของดัชนีประกอบด้วยชุดข้อมูลที่สะท้อนความขัดสนตามการนิยามของประเทศไทยผ่านการประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  ทั้งนี้ ผลของการคำนวณค่า MPI มาจากผลคูณขององค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ (1) สัดส่วนของประชากรที่ถูกระบุว่ายากจนหลายมิติ (Headcount ratio : H) และ (2) ค่าเฉลี่ยความขัดสนของคนยากจนเหล่านั้น (Intensity : A)
 
สำหรับผลการจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติระดับประเทศ (National MPI) สรุปได้ดังนี้
1. การกำหนดมิติ ตัวชี้วัด ชุดข้อมูล หน่วยวิเคราะห์ และเกณฑ์ความขัดสน ผลจากการประชุมและระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ได้กำหนดให้ National MPI ประกอบด้วย 4 มิติ 12 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) มิติการศึกษา (2) มิติการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ (3) มิติความเป็นอยู่ และ (4) มิติความมั่นคงทางการเงิน โดยเลือกใช้ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน (Socio-economic Surveys: SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หน่วยวิเคราะห์เป็นครัวเรือน กำหนดน้ำหนักของแต่ละมิติให้มีน้ำหนักเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 25 สำหรับหลักเกณฑ์ความขัดสนที่ทำให้ครัวเรือนนั้นเป็นครัวเรือนยากจน (poverty cut-off) คือร้อยละ 26.0 หรือหมายถึง ครัวเรือนจะเป็นครัวเรือนยากจนหากมีความขัดสนมากกว่า 1 มิติ โดยสมาชิกทุกคนในครัวเรือนจะถือว่าเป็นคนยากจนหลายมิติ 
 
2. ดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ปี 2560 พบว่า มีค่าเท่ากับ 0.068 โดยมีสัดส่วนคนยากจนหลายมิติ (Headcount ratio) เท่ากับร้อยละ 17.6 หรือมีจำนวนคนยากจนหลายมิติ 11.9 ล้านคน และมีค่าความขัดสนเฉลี่ยในกลุ่มคนยากจนหรือความรุนแรงของปัญหาความยากจน (Intensity of poverty) ที่ร้อยละ 38.7 หรือหมายถึงคนยากจนมีความขัดสนประมาณ 1 จาก 4 มิติ โดยมิติที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติมากที่สุด ได้แก่ มิติด้านความเป็นอยู่ รองลงมาคือ มิติด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ และมิติด้านความมั่นคงทางการเงิน ตามลำดับ เมื่อจำแนกตามพื้นที่พบว่า ครัวเรือนนอกเขตเทศบาลมีปัญหาความยากจนหลายมิติมากกว่าในเขตเทศบาลมีค่า MPI เท่ากับ 0.103 และ 0.036 ตามลำดับ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีความยากจนหลายมิติสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานครตามลำดับ และเมื่อพิจารณาความยากจนหลายมิติในช่วงปี 2556 – 2560 พบว่า ภาพรวมสถานการณ์ความยากจนหลายมิติปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีความยากจนหลายมิติในปี 2560 อยู่ที่ 0.068 ปรับตัวลดลงจาก 0.109 และระดับ 0.078 ในปี 2556 และปี 2558 ตามลำดับ
 
3. เมื่อเปรียบเทียบคนยากจนด้านตัวเงิน (Monetary poverty) และคนยากจนที่ไม่ใช่ด้านตัวเงิน  (Non-monetary poverty) ในปี 2560 มีคนยากจน (ทั้งความยากจนด้านตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน) จำนวนทั้งสิ้น 13.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.34 ของประชากรทั้งหมด แบ่งเป็น (1) คนยากจนด้านตัวเงินเพียงอย่างเดียว จำนวน 1.9 ล้านคน (2) คนยากจนที่ไม่ใช่ด้านตัวเงิน (คนยากจนหลายมิติ) จำนวน 8.49 ล้านคน และ (3) คนยากจนที่มีความยากจนทั้งด้านตัวเงินและไม่ใช่ด้านตัวเงิน จำนวน 3.42 ล้านคน
 
ในส่วนของดัชนีความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child MPI) ได้แก่ (1) การกำหนดมิติ ตัวชี้วัด ชุดข้อมูล หน่วยวิเคราะห์ และเกณฑ์ความขัดสน ผลจากการประชุมและระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ได้กำหนดให้ Child MPI ประกอบด้วย 4 มิติ 10 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) การศึกษา (2) สวัสดิภาพเด็ก (3) มาตรฐานความเป็นอยู่ และ (4) สุขภาพ ใช้ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 (MICS 2558/59) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หน่วยวิเคราะห์เป็นคน กำหนดน้ำหนักของแต่ละมิติให้มีน้ำหนักเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 25 สำหรับเกณฑ์ความขัดสน (poverty cut-off) คือร้อยละ 25 กล่าวคือ เด็กคนหนึ่งจะตกเป็นเด็กยากจนเมื่อเด็กคนนั้นมีความขัดสนอย่างน้อยหนึ่งมิติ 
 
(2) ดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็ก ปี 2558/59 พบว่า เด็กประมาณ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 21.5 มีความยากจนหลายมิติ ขณะที่ความรุนแรงของความยากจนหรือค่าเฉลี่ยความขัดสนของเด็กยากจนหลายมิติอยู่ที่ร้อยละ 34.7 หมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วเด็กที่ยากจนคนหนึ่งจะประสบกับความขัดสนในระดับที่มากกว่าหนึ่งในสามของตัวชี้วัดที่เป็นไปได้ทั้งหมด ทำให้ดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็ก มีค่าเท่ากับ 0.075 มิติด้านการศึกษาเป็นมิติที่ส่งผลต่อความยากจนของเด็กมากที่สุด ตามด้วยมิติด้านสุขภาพ เมื่อจำแนกตามพื้นที่ พบว่า เด็กที่อยู่นอกเขตเทศบาลมีความยากจนหลายมิติมากกว่าเด็กที่อยู่ในเขตเทศบาล ทั้งด้านสัดส่วนและความรุนแรงของความยากจน ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่เด็กมีความยากจนหลายมิติมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ และเมื่อพิจารณาความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กเปรียบเทียบกับปี 2548/49 พบว่าความยากจนมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งสัดส่วนเด็กยากจน และระดับความรุนแรงของความยากจน
 
 
ข่าว : เมฐติญา  วงษ์ภักดี / กุลนันทน์  ยอดเพ็ชร
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์