ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2562 และรายงานพิเศษเรื่อง “ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย”
วันที่ 25 พ.ย. 2562
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภาวะสังคมไทย ในไตรมาสที่สามของปี 2562 และรายงานพิเศษเรื่อง "ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2562 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ หนี้สินครัวเรือนชะลอการขยายตัว การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานลดลง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัว คดีอาญาเพิ่มขึ้นจากคดียาเสพติดที่เพิ่มมาก นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ เด็กไทย 1 ใน 5 เป็นเด็กยากจนหลายมิติ การป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ และรูปแบบการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง "ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย” โดยสรุปสาระดังนี้ 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก
ไตรมาสสาม ปี 2562 ผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ และการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 2.3 ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวของการส่งออก โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 5.2 4.1 และ 2.2 ตามลำดับ ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และ 1.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก
 
ชั่วโมงการทำงานทรงตัว แม้การจ้างงานจะลดลง แต่โดยเฉลี่ยแรงงานยังคงมีชั่วโมงทำงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.4 มีสาเหตุจากการปรับตัวของสถานประกอบการมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลงและบางส่วนมีการปรับลดการจ้างแรงงานที่มีผลิตภาพและชั่วโมงการทำงานต่ำก่อน ทำให้โดยเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานยังคงทรงตัวในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าจ้างแรงงานโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 14,334 บาท/เดือน ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเท่ากับ 12,847 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และ 2.5 ตามลำดับ เมื่อหักเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.6 ค่าจ้างที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ด้านผลิตภาพแรงงาน (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อผู้มีงานทำ) พบว่า มีมูลค่า 69,329 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 

ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.04 หรือมีจำนวน 0.394 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 5.5 สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และปัญหาภัยธรรมชาติ การว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ร้อยละ 2.15 รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษา วิชาชีพชั้นสูง มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า และพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

แนวโน้มการจ้างงานในไตรมาสสี่ ปี 2562 คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฎผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก ชี้ให้เห็นจากตัวเลขจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรเดือนตุลาคม 2562 อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 0.355 ล้านคน แม้ว่ากำลังแรงงานและผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 1.7 และ 1.6 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งคาดว่ามีการเคลื่อนย้ายออกจากกำลังแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ทำงานบ้านที่เข้าสู่กำลังแรงงานเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล โดยพบว่าผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ประกอบกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่น ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในระบบสามารถย้ายไปทำงานนอกระบบได้ง่ายโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามต่อไป ดังนี้ (1) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาสสาม ปี 2562 มี 1.72 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ต่อจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สูงที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2552 ที่มีสัดส่วนที่ร้อยละ 2.2 (2) คำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีภาวะธุรกิจในคำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (3) การทำงานล่วงเวลาลดลง โดยจำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลงร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 3 เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 เป็นต้นมา และ (4) สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม 2551 เพิ่มขึ้น (เป็นมาตรการที่กำหนดให้สถานประกอบการสามารถหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้าง) โดยไตรมาสสาม ปี 2562 จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 48,015 คน จากสถานประกอบการ 93 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นหยุดกิจการบางส่วน 21,297 คน และหยุดกิจการทั้งหมดจำนวน 26,718 คน 

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกับตลาดแรงงาน 
1. การติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งอำนวยความสะดวกและประสานจัดหางานให้กับแรงงาน เช่น การจัดตลาดนัดแรงงาน การประชาสัมพันธ์ช่องทางการสมัครงาน และแหล่งงาน
2. การดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อแรงงาน อาทิ 
• การขอความร่วมมือสถานประกอบการใช้แนวทางชะลอการเลิกจ้างเป็นลำดับ เช่น การลดชั่วโมง/วันทำงานลง การหยุดการทำการชั่วคราวตามมาตรา 75 การสมัครใจลาออก โดยการเลิกจ้างควรเป็นแนวทางสุดท้าย
• มาตรการในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ได้ โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะ แรงงานกึ่งทักษะ ที่พบว่ามีการว่างงานเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในระยะยาวจากการปิดกิจการและย้ายฐานการผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดการหดตัวในความต้องการแรงงานกลุ่มไร้ทักษะและกึ่งทักษะ ประกอบกับการดึงดูดการลงทุนของไทยที่เน้นการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานทักษะมากขึ้น

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ชะลอการขยายตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเภท พบว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 7.8 ชะลอลงจากร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ชะลอลงร้อยละ 10.2 จากร้อยละ 11.4 ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 11.8 เทียบกับร้อยละ 11.3 เป็นผลจากการขยายตัวของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น

ภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสาม ปี 2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.81 ต่อสินเชื่อรวม โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ร้อยละ 3.49 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.34 ในไตรมาสก่อน ด้านสินเชื่อรถยนต์สัดส่วน NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.86 จากร้อยละ 1.82 ในไตรมาสที่ผ่านมา และสัดส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 2.65 เทียบกับร้อยละ 2.48 ในไตรมาสก่อน ขณะที่ NPL ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.36 ปรับลดลงจากร้อยละ 2.42 

แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมยังคงมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงตาม (1) สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงทรงตัวจากในช่วงครึ่งปีแรก จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มชะลอลง อุปทานส่วนเกินของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ และ (2) สินเชื่อรถยนต์ที่ชะลอตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ลดลง และสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินมาตรการสำคัญต่าง ๆ เพื่อติดตามและกำกับดูแลการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง อาทิ (1) การส่งเสริมความรู้ทางการเงินเชิงรุกแบบเน้นกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีวศึกษา กลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มเกษตรกร (2) การกำกับดูแลให้เกิดการเป็นหนี้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านผู้ก่อหนี้และผู้ปล่อยกู้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อหลายประเภท เช่น หลักเกณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หลักเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) การศึกษาการกำหนดมาตรฐานการคำนวณภาระหนี้รวมต่อรายได้ (DSR) และ (3) การช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการปรับโครงสร้างหนี้ 

การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
ไตรมาสสาม ปี 2562 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 5.2 โดยผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 31.1 และผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 1.3 แต่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.9 เนื่องจากในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรค โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยาที่พบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 13 เท่า รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังโรคที่เกิดในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ และโรคหัด ที่ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น
ไตรมาสสาม ปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 3.0 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้ (1) เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่า 0.5 ดีกรี จึงไม่เข้าข่ายการเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทำให้สามารถลงโฆษณาได้ทุกช่องทางโดยไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งสามารถจำหน่ายได้ตลอดวัน และไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อ ปัจจุบัน แม้ยอดขายเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะยังไม่สูง แต่สามารถทำหน้าที่เป็นเสมือนสื่อโฆษณาให้แก่เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เนื่องจากมีการใช้สัญลักษณ์ แพ็กเกจ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือเดียวกัน และ (2) อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังมีการลักลอบจำหน่ายจำนวนมาก แม้ประเทศไทยจะห้ามนำเข้าและจำหน่ายตั้งแต่ปลายปี 2557 ทั้งนี้ มีผลการวิจัยในหลายประเทศที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย อาทิ พบว่ามีสารนิโคตินสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา วัยรุ่นที่ยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนเมื่อลองใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเตือนให้ประชาชนหยุดสูบบุหรี่ไฟฟ้าหลังจากมีการเสียชีวิตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อทางเดินหายใจหลังจากที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 

คดียาเสพติดเพิ่มสูง และต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการกระทำรุนแรงทางร่างกาย/เพศ 
ไตรมาสสาม ปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากการให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งการปราบปราม ป้องกัน และบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยนำหลักด้านสาธารณสุขมาใช้ด้วยการมองปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องของสุขภาพและสาธารณสุข แม้ว่าคดีชีวิตร่างกายและเพศจะมีสัดส่วนคดีเพียงร้อยละ 3.5 ของคดีอาญารวม แต่มีผลกระทบต่อเหยื่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จากข้อมูลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิงชี้ว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ วันละไม่น้อยกว่า 7 คน และมีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา และแจ้งความร้องทุกข์สูงถึงปีละ 30,000 คน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ทุกฝ่ายในสังคมควรตระหนักและร่วมป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป

การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายลดลง 
ไตรมาสสาม ปี 2562 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 11.1 ผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 0.9 และ 2.1 ตามลำดับ รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนร้อยละ 40.1 ของประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด สาเหตุของอุบัติเหตุอันดับแรกเกิดจากตัวบุคคล จากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุจะขึ้นอยู่กับระดับความเร็วของการขับขี่ ที่จะส่งผลต่อโอกาสการบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งต่อตนเองและผู้อื่นในอัตราที่เพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ถนนที่มีความเสี่ยง เช่น คนเดินเท้า ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ การชนสิ่งกีดขวางอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า จึงต้องรณรงค์ให้ความรู้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางถนน สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายความเร็วที่มีประสิทธิภาพ กวดขันวินัยจราจร และการเฝ้าระวังอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ผู้ใช้รถใช้ถนนควรเตรียมความพร้อมของตนเองก่อนออกเดินทาง ปฏิบัติตามข้อบังคับจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ดื่มสุรา เมาแล้วขับ ให้ความสำคัญกับการจัดการความปลอดภัยในระดับพื้นที่ที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย สร้างความร่วมมือนำท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา

การรับร้องเรียนผ่าน สคบ. ลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากการร้องเรียนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ขณะที่การรับร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้น 
ไตรมาสสาม ปี 2562 สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการจำนวน 3,989 ราย เป็นการร้องเรียนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบการฉ้อโกง ให้ชำระเงินค่าทัวร์ก่อน แต่ไม่มีการจัดให้มีการท่องเที่ยวตามสัญญา ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. มีจำนวน 508 เรื่อง เป็นการร้องเรียนเรื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเฝ้าระวังภัยจากข่าวปลอม ซึ่งเป็นรูปแบบการหลอกลวงที่พัฒนาไปตามการใช้โซเชียลมีเดียที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งข่าวปลอมที่มีวัตถุประสงค์ในการหลอกลวงผู้บริโภคสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การโฆษณาเกินจริง อ้างอิงถึงงานวิจัยหรือผลสำรวจที่ไม่เป็นความจริง แอบอ้างข้อมูลของบุคคลหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง รวมถึงอีเมลหลอกลวง (Email scam) ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้เริ่มให้บริการ โดยทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ กำจัดข่าวปลอม ปลูกฝังจิตสำนึกและความรู้เท่าทันเทคโนโลยี และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุม 4 กลุ่มหลักคือ (1) ภัยพิบัติ (2) เศรษฐกิจ-การเงินการธนาคาร (3) ผลิตภัณฑ์สุขภาพ-สินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น (4) นโยบายรัฐ-ข่าวสารที่กระทบสังคม ขัดศีลธรรม และความมั่นคงของประเทศ ภายหลังจากการเปิดให้บริการ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้มีการกลั่นกรอง ตรวจสอบ ข่าวสารต่าง ๆ และเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านเว็บไซต์ ซึ่งครอบคลุมในทุกกลุ่ม อาทิ ประเด็นการเรียกเก็บภาษี การเกิดฟองสบู่แตก ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ การอนุญาตปลูกกัญชา น้ำยาบ้วนปากรักษาโรค อีกทั้ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เด็กไทย 1 ใน 5 เป็นเด็กยากจนหลายมิติ
จากรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2558/59 ในภาพรวมของประเทศมีสัดส่วนของเด็กที่มีความยากจนหลายมิติ คิดเป็นร้อยละ 21.5 หรืออาจกล่าวได้ว่าประมาณ 1 ใน 5 ของเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคือเด็กที่ยากจนหลายมิติ ขณะที่ค่าเฉลี่ยความขัดสนอยู่ที่ร้อยละ 34.7 ซึ่งเปรียบได้กับความรุนแรง (intensity) ของปัญหาความยากจนหลายมิติของเด็ก และดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กหรือค่า C-MPI เท่ากับ 0.075 สำหรับมิติที่เป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เด็กยากจนหลายมิติมากที่สุด อันดับหนึ่งมาจากมิติด้านการศึกษา รองลงมาคือ มิติด้านสุขภาพ หากเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่เด็กมีความยากจนหลายมิติมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ เด็กในช่วงอายุ 0-4 ปี มีสัดส่วนของเด็กยากจนหลายมิติสูงที่สุด เด็กเพศชายมีค่าดัชนีความยากจนหลายมิติมากกว่าเพศหญิง รวมถึงระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนนั้นสามารถส่งผลต่อความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในครัวเรือนได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ดัชนีความยากจนหลายมิติในกลุ่มเด็กของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าปัญหาความยากจนในกลุ่มเด็ก เมื่อพิจารณาจากมิติอื่น ๆ นอกเหนือจากมิติที่เป็นด้านตัวเงินแล้ว ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้หลุดพ้นจากความยากจนไปบ้างแล้ว แต่ยังคงมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ โดยเฉพาะในมิติด้านการศึกษาและสุขภาพ 

การป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์
จากรายงาน 2018 DQ Impact Report ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่า เด็กไทยยังมีทักษะความฉลาดทางดิจิทัลต่ำ โดยร้อยละ 60 มีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ ภัยที่พบมากที่สุดคือ การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า การติดเกม และการถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า สอดคล้องกับผลการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ประจำปี 2561 ซึ่งสำรวจในกลุ่มเด็กอายุ 6-18 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 15,318 คน ที่พบว่า เด็กไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากภัยออนไลน์ อาทิ พูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ ให้ข้อมูลส่วนตัวผ่านสื่อออนไลน์ เปิดอ่านอีเมลที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จักหรือคลิก link ที่ไม่รู้จัก เคยเล่นพนันทายผลฟุตบอลออนไลน์ เคยถ่ายภาพหรือวิดีโอลามกของตนเองส่งให้คนอื่น ๆ ทางออนไลน์ และที่น่ากังวลคือเด็กกว่าร้อยละ 25 เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกทำร้ายร่างกายได้ง่าย ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และมีความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence Quotient) สามารถเติบโตและเผชิญหน้ากับโลกยุคดิจิทัลโดยไม่บั่นทอนพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ทั้งนี้ ควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยเพราะเด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยทักษะสำคัญของการเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางดิจิทัล ประกอบด้วย (1) สอนให้รู้จักจัดการตัวตนทั้งความคิด ความรู้สึก การกระทำ และรู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำ (2) สอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ สามารถแยกแยะข้อมูล ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือรับมา (3) สอนให้รู้จักรักษาความปลอดภัยของตนเอง อาทิ ตั้งรหัสผ่าน การสแกนไวรัสก่อนใช้งาน (4) สอนให้รักษาความเป็นส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวกับคนอื่น (5) สอนให้ใช้เวลาบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม ไม่กระทบชีวิตด้านอื่น ๆ (6) สอนให้เข้าใจธรรมชาติของโลกดิจิทัลว่าจะหลงเหลือร่องรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ (7) สอนให้รู้จักรับมือกับการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ อาทิ บล็อกจากรายชื่อผู้ติดต่อ แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ และ (8) สอนให้มีความเห็นอกเห็นใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่นจากข้อมูลออนไลน์เพียงอย่างเดียว

รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่หรือ NextGen Work 
ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยมีลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่จำนวนมากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 300,000-600,000 คน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2524-2544) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต และมีแนวโน้มในการประกอบอาชีพในรูปแบบใหม่มากขึ้น โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย มีแนวโน้มการทำงานแบบ NextGen Work สูงกว่าคนในกลุ่มอื่น ๆ อาชีพที่ผู้ว่าจ้างนิยมจ้างบุคคลในลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย 4 อันดับแรก ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง และงานเขียนและแปลภาษา แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มที่ชอบความเป็นอิสระ ต้องการเป็นผู้จัดการตนเอง รวมถึงชอบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง แต่ยังเป็นกลุ่มที่ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านรายได้ และสวัสดิการ ดังนั้น จึงพบว่ากลุ่มเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากยังคงทำงานในระบบทั้งภาครัฐและเอกชน แต่มีบางส่วนที่ต้องการเพิ่มรายได้ และตอบสนองความชื่นชอบส่วนบุคคล ด้วยการทำอาชีพที่ 2 และพร้อมจะเปลี่ยนไปทำอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลักได้เช่นกัน หากสร้างรายได้ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพลวัตความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของไทยและการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานแบบ NextGen Work โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (กรกฎาคม 2562) พบว่า กลุ่มคนที่ทำงานในรูปแบบใหม่ยังไม่มีความตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคตเท่าที่ควร โดยในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-39 ปี จำนวน 6,255 คน พบว่า ร้อยละ 72 ยังไม่ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในยามเกษียณ

บทความเรื่อง "ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย”
ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทยปี 2562 ในภาพรวมของประเทศมีความก้าวหน้าค่อนข้างคงที่ โดยค่าดัชนีการพัฒนาคนในปี 2562 เท่ากับ 0.6219 ใกล้เคียงกับปี 2558 และ 2560 และเมื่อพิจารณาดัชนีย่อยด้านต่าง ๆ พบว่า มีความก้าวหน้ามากขึ้นใน 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และด้านคมนาคมและการสื่อสาร ขณะที่มีความก้าวหน้าลดลงใน 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้ ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน และการมีส่วนร่วม

ความก้าวหน้าการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ ภาคกลางมีความก้าวหน้าการพัฒนาคนมากที่สุด ขณะที่ภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดนมีความก้าวหน้าน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาดัชนี HAI ในระดับภาค ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ 11 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดน พบว่า ภาคกลางมีค่าดัชนี HAI มากที่สุด เท่ากับ 0.6499 โดยมีการพัฒนาคนมากกว่าภาคอื่น ๆ ใน 3 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้ และด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ส่วนภาคที่มีค่า HAI รองลงมาคือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ 11 จังหวัด ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ สำหรับภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดนมีดัชนี HAI น้อยที่สุด คือ 0.5142 โดยมีการพัฒนาคนน้อยที่สุด 4 ด้านคือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน และด้านรายได้ โดยการพัฒนาคนของจังหวัดทั่วประเทศที่มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นและลดลงมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยพบว่า จังหวัดที่ค่าดัชนีความก้าวหน้าของคนเพิ่มขึ้น มีจำนวน 41 จังหวัด (ร้อยละ 53.2) ขณะที่จังหวัดที่มีค่าดัชนีความก้าวหน้าการพัฒนาคนลดลง จำนวน 36 จังหวัด (ร้อยละ 46.8) ทั้งนี้ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ภูเก็ต ระยอง มีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนมากที่สุด ขณะที่นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนน้อยที่สุด

ความท้าทายต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของคนในประเทศไทย จากผลการประเมินความก้าวหน้าของคนตามดัชนี HAI เห็นควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) การสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยสร้างความตระหนักการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมทั้งในเรื่องการออกกำลังกาย การบริโภคอาหาร และเสริมสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี (2) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างพื้นที่ โดยปรับระบบบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็กให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาระบบประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่ยึดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก รวมทั้งให้การช่วยเหลืออุดหนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลเพื่อเพิ่มอัตราการเข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา (3) การยกระดับรายได้ โดยสนับสนุนการมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจ้างงานนอกฤดูกาลในพื้นที่ที่มีการทำงานต่ำระดับ/ว่างงาน ตลอดจนส่งเสริมทักษะการบริหารเงินเพื่อให้สามารถจัดการรายได้ เงินทุน และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ (4) การขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพื่อให้มีความมั่นคงและมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และ (5) การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีความเปราะบาง และพื้นที่ในเขตเมือง โดยสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน การส่งเสริมต่อยอดความรู้และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการความรู้ชุมชนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน ตลอดจนสนับสนุนและติดตามช่วยเหลือครอบครัวเปราะบางให้สามารถดูแลสมาชิก ทั้งเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
25 พฤศจิกายน 2562
Web Social Press-Thai_Q3-2562
Web Social Press-Eng_Q3-2562
แถลงข่าว-ภาวะสังคมไทย Q3-2562 251162 final
Info Q3-2562

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์