สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แถลงผลการศึกษาล่าสุดด้านความยากจนหลายมิติของเด็ก พบว่าในประเทศไทยมีเด็กประมาณ 1 ใน 5 หรือ ร้อยละ 22 ที่กำลังเผชิญกับความยากจนในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนความยากจนหลายมิติของเด็กสูงสุด
ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีการใช้ดัชนีชี้วัดความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child Multidimensional Poverty Index หรือ Child MPI) ซึ่งสภาพัฒน์และยูนิเซฟได้ร่วมกันพัฒนาดัชนีชี้วัดนี้ โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Initiative – OPHI)
การใช้ดัชนีชี้วัดความยากจนหลายมิติของเด็กไม่ได้นำมิติด้านการเงินของครัวเรือนมาวิเคราะห์ แต่นำมิติอื่น ๆ ของเด็ก ได้แก่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านสวัสดิภาพเด็ก มิติด้านมาตรฐานความเป็นอยู่ และมิติด้านสุขภาพ อันเป็น 4 ประเด็นสำคัญเร่งด่วนของประเทศมาวิเคราะห์ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558-2559
ผลการศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กยากจนหลายมิติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตชนบท คิดเป็นร้อยละ 23 ขณะที่เด็กที่ยากจนหลายมิติที่อยู่ในเขตเมืองมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 19 และเมื่อพิจารณาตามภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนความยากจนหลายมิติของเด็กสูงสุด ตามมาด้วยภาคเหนือ ขณะที่กรุงเทพมหานครมีระดับความยากจนหลายมิติของเด็กน้อยที่สุด
งานศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก เป็นสองจังหวัดที่เผชิญกับความยากจนในระดับที่รุนแรงที่สุด (หมายความว่า ต้องเผชิญกับความยากลำบากในหลากหลายด้านมากที่สุด) นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า เด็กในแต่ละภูมิภาคประสบความยากจนในมิติที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดสตูล ความยากไร้ด้านการศึกษาของเด็กเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความยากจนในเด็ก ในขณะที่เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับเผชิญความยากลำบากในมิติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังพบว่า หากหัวหน้าครัวเรือนมีการศึกษาในระดับที่ต่ำ เด็กในครัวเรือนนั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะเผชิญความยากจนหลายมิติด้วยเช่นกัน ความยากจนหลายมิติยังแตกต่างในแต่ละกลุ่มอายุของเด็กอีกด้วย โดยพบว่าร้อยละ 42 ของเด็กอายุ 0-4 ปีเผชิญกับความยากจนหลายมิติ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าช่วงอายุอื่น ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น (15-17ปี) เป็นกลุ่มที่ประสบกับความความยากจนหลายมิติในระดับที่รุนแรงที่สุด
การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าความยากจนในเด็กในประเทศไทยลดลงอย่างมากในระหว่างพ.ศ. 2548-2559 ทั้งในสัดส่วนของเด็กยากจนและระดับความรุนแรงของความยากจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าของประเทศไทยในการแก้ปัญหาความยากจนในเด็ก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็ก เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "การวัดความยากจนหลายมิติในเด็ก เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้แน่ใจว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลเจาะลึกที่สำคัญ ที่ระบุว่าใครคือกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุด โดยพิจารณาจากมิติอื่นๆ เช่น การศึกษาและสุขภาพ ข้อมูลเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการกำหนดงบประมาณที่เหมาะสม ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคีภต่าง ๆ ที่จะสร้างความเข้มแข็งด้านโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเด็กคนใดในประเทศไทยที่ตกอยู่ในความยากจนในทุกมิติ”
ผลการศึกษาด้านความยากจนหลายมิติของเด็กนี้ จะช่วยลดสัดส่วนเด็กยากจนในประเทศไทยทั้งหมดได้อย่างรวดเร็วหากได้รับการพัฒนาและต่อยอดให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน ทั้งนี้ จะมีการจัดทำการศึกษานี้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการศึกษาครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปลายปี 2563
------
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่
------
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่
สุพัณณา เลาหชัย สภาพัฒน์ โทร. 02-2804085 ต่อ 3613
ณัฐฐา กีนะพันธ์ ยูนิเซฟ ประเทศไทย โทร. 086-616-7555
วรวุฒิ ชูมณี ยูนิเซฟ ประเทศไทย โทร.093-442-8289
|