ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงร่างแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
วันที่ 9 ส.ค. 2562
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นางชุลีพร บุณยมาลิก รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานกล่าวเปิดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 3 เรื่องข้อเสนอการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA ) และร่างแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 3 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ประมาณ 120 คน

นางชุลีพร กล่าวว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนหรือแผนงาน โดยบูรณาการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและการคัดค้านต่อต้านของชุมชน ซึ่งทำให้การตัดสินใจมีคุณภาพ รอบคอบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง 

สศช. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการดำเนินการพัฒนาระบบ SEA ของประเทศดังกล่าว โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เสนอแนะกลไก กระบวนการ ขั้นตอน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน กำหนดประเภทของยุทธศาสตร์/แผน/แผนงานและพื้นที่ที่ควรทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เสนอแนะองค์กรและกลไกในการพิจารณาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดย กพย. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของข้อเสนอการขับเคลื่อน SEA และ แนวทางการจัดทำ SEA (SEA Guideline) ที่คณะอนุกรรมการ SEA ได้จัดทำขึ้น โดยในเบื้องต้นในแนวทางการขับเคลื่อน SEA นั้น กพย. ได้กำหนดประเภทของแผนหรือแผนงานที่ต้องจัดทำ SEA ไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1) แผนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง 2) แผนพัฒนาพลังงานและปิโตรเลียม 3) แผนพัฒนาทรัพยากรแร่ 4) ผังเมือง 5) แผนบริหารจัดการลุ่มน้ำหรือแผนพัฒนาชายฝั่งทะเล 6) แผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่พิเศษ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ 7) แผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

เพื่อให้มีการขับเคลื่อน SEA ได้อย่างเป็นรูปธรรมและถูกต้อง เหมาะสม สศช. เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ SEA ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรที่จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำ SEA โดยได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ SEA ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบ ผ่านการจัดฝึกอบรมทางวิชาการด้าน SEA จำนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และการประชุมสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้ง ได้กำหนดให้มีการระดมความคิดเห็น เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อข้อเสนอการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และ (ร่าง) แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) ที่คณะอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ได้จัดทำขึ้น เพื่อนำมาพิจารณาในการปรับปรุงข้อเสนอและแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ให้มีความเหมาะสมและชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ SEA Guideline ครั้งนี้ เป็นครั้งแรก โดยการประชุม แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการอธิบาย ความเป็นมาของโครงการ แนวทางการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. ......... โดยมี ดร.พรวิภา คลังสิน และ  ดร.วิเทศ ศรีเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด  หลังจากนั้นเป็นการระดมความคิดเห็น เพื่อพัฒนาเนื้อหาของแนวทาง SEA และกลไกขับเคลื่อน SEA ให้มีความเหมาะสม ซึ่ง สศช. จะนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชุม ไปเสนอต่อคณะอนุกรรมการ SEA ที่มีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธานอนุกรรมการ พิจารณาใช้ในการปรับปรุง (ร่าง) แนวทางทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) ของประเทศไทยต่อไป

ข่าว : ธนเทพ ปลายแก่น
ภาพ : ธนเทพ ปลายแก่น และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์