ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2561
วันที่ 1 มี.ค. 2562 (จำนวนผู้เข้าชม  74)
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ได้แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2561 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลงโดยพิจารณาจากคดีอาญาที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การรายงานดัชนีทุนมนุษย์ปี 2018 และการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง "ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” โดยสรุปสาระดังนี้ 

การจ้างงานขยายตัวดีทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานลดลง รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

ไตรมาสสี่ปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรร้อยละ 2.4 และ 1.7 ตามลำดับ ในสาขาการก่อสร้าง สาขาการผลิต สาขาการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม และสาขาการขายส่งขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ และของใช้ส่วนบุคคล โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.0 4.6 2.6 และ 1.5 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.9 โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อนร้อยละ 7.7 และ 21.4 ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 แต่ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.4 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.8

ภาพรวมในปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.1 เป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรร้อยละ 3.3 และ 0.1 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก (1) สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น (2) ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเพื่อการส่งออก ทำให้มีการจ้างงานภาคการผลิตเพิ่มขึ้น และ (3) การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี และการขยายตัวของการค้าปลีกและค้าส่ง ทั้งรูปแบบปกติและการค้าออนไลน์ ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.1 โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อนร้อยละ 10.1 และ 10.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่า มีความต้องการแรงงานที่จบทุกระดับการศึกษา แต่ผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรีและสูงกว่ามีอัตราการว่างงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ส่วนผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เป็นผลจากการยกระดับทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ร้อยละ 1.7 และ 4.0 ตามลำดับ 

ประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังในระยะต่อไป

(1) ผลกระทบจากสภาพอากาศ และราคาสินค้าเกษตรต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกร จากข้อมูลปริมาตรน้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ปานกลางที่ร้อยละ 69 ของระดับกักเก็บของอ่างเก็บน้ำ หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนานอาจจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ รวมถึงการจ้างงานในภาคเกษตร ขณะที่แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรยังลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร โดยจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้จะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2562

(2) ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และการส่งออกที่ยังมีความไม่แน่นอนจากกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และการจ้างงานในภาคการผลิต และภาคบริการ

(3) ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วง โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานกึ่งทักษะ และทักษะสูงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ New S-Curve เช่น ดิจิทัล หุ่นยนต์ อากาศยาน และยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานมีความตึงตัวเพิ่มขึ้น 

(4) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการนำเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต การบริการ และการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผลิตมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน และความต้องการแรงงานในบางอาชีพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้เกิดการเลิกจ้างและเปลี่ยนรูปแบบความต้องการแรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นความต้องการแรงงานในกลุ่มกึ่งทักษะและแรงงานทักษะ โดยผลของเทคโนโลยีจะกระทบต่อแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งจะต้องมีแนวทางที่รองรับทั้งกลุ่มแรงงานที่ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และการเตรียมทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรืองานที่ไม่สามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยี ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มเห็นผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการจ้างงานในบางสาขาอาชีพ เช่น พนักงานธนาคาร พนักงานด้านการพิมพ์ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะสร้างความต้องการแรงงานในสาขาใหม่ เช่น นักเขียน application Youtuber เป็นต้น

(5) การเร่งส่งเสริมการสร้างหลักประกันให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเพียงร้อยละ 10.9 ที่มีหลักประกันทางสังคม นอกจากนั้น โครงสร้างประชากรของประเทศที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ขณะที่มีแรงงานนอกระบบประมาณร้อยละ 30 ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ
หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

ไตรมาสสามปี 2561 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 77.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับไตรมาสสี่ ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 ด้านความสามารถในการชำระหนี้เริ่มส่งสัญญาณที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อพิจารณาหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เทียบกับร้อยละ 4.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ด้านการผิดนัดชำระหนี้ โดยยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งร้อยละ 9.9 ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตเริ่มมีอัตราขยายตัวร้อยละ 0.3 จากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2559 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ต้องติดตามแนวโน้มการก่อหนี้ประเภทการบริโภคอื่นๆ ซึ่งบางส่วนเป็นการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นที่เกิดจากแรงจูงใจจากการส่งเสริมทางการตลาดของผู้ประกอบการ และควรส่งเสริมการให้ความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินแก่ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างวินัยทางการเงินและการออมในทุกช่วงวัย ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการด้านหนี้สินครัวเรือน อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โครงการคลินิกแก้หนี้ มาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ

การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2562 

ไตรมาสสี่ปี 2561 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 17.4 โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 5.7 เนื่องจากมีการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดการแพร่ระบาดลงได้ ทั้งปี 2561 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 2.5 โดยเป็นผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ซึ่งแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสามของปี 2561 ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ในปี 2562 โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มระบาดสูง จะมีผู้ป่วยประมาณ 180,000 ราย โดยมีสาเหตุมาจากการเดินทางของผู้คน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการระบาดมากขึ้น รวมทั้งต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคซิคุนกุนยาที่พบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น และการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งที่สามารถป้องกันได้ 

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาสสี่เพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมตลอดปี 2561 ลดลง 

ไตรมาสสี่ปี 2561 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.7 และ 6.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน ภาพรวมปี 2561 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.8 และ 3.0 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มราคาสินค้าจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2560 ประกอบกับมีการรณรงค์งดสูบบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ และอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าและควันบุหรี่มือสอง

คดียาเสพติดเพิ่มขึ้น ยังต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่ตามมา 

ไตรมาสสี่ปี 2561 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 16.9 โดยคดียาเสพติด และคดีชีวิตร่างกายและเพศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 และ 1.9 ตามลำดับ ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 3.3 ภาพรวมปี 2561 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 20.6 จากการที่คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 แต่คดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 3.9 และ 4.8 ตามลำดับ มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมยังคงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางของปัญหาคือ แหล่งที่มาของยาเสพติด โดยควบคุมพื้นที่เส้นทางหลักที่เข้าออกจับยึดสารตั้งต้น เพื่อลดทอนศักยภาพการผลิต กลางทางของปัญหาคือ การเสพและการแพร่ระบาด บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติดเพื่อคืนคนดีสู่สังคมให้กลับมาเป็นคนดีที่มีคุณภาพ และปลายทางของปัญหาคือ การป้องกันประชาชนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 

การเกิดอุบัติเหตุลดลง แต่ในภาพรวมตลอดปี 2561 การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 

ไตรมาสสี่ปี 2561 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 1.9 มีผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 7.8 และ 46.6 ตามลำดับ ภาพรวมปี 2561 การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลง ร้อยละ 8.6 และ 11.8 ตามลำดับ ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ได้มีการป้องกันอย่างเข้มข้นทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 1.3 แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 โดยกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุด สะท้อนถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐจะถอดบทเรียนวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนกลไกระดับอำเภอ/ตำบล ให้เข้มแข็ง เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายและเพิ่มมาตรการที่สร้างพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย รวมทั้งออกแบบและสร้างช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์ที่ได้มาตรฐาน รณรงค์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ขับขี่รถจักรยานยนต์ 

การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานในอนาคต 

รายงานดัชนีทุนมนุษย์ปี 2018 ของธนาคารโลก พบว่า ประเทศไทยมีคะแนน 0.60 จากคะแนนเต็ม 1 สะท้อนว่าเด็กไทยจะมีผลิตภาพการทำงานจนถึงอายุ 60 ปี เพียงร้อยละ 60 ของศักยภาพที่ควรจะมี หากได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานที่จะช่วยยกระดับรายได้ของแรงงานและช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา และลดปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุเพื่อเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยในประชากรวัยผู้ใหญ่

การแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นอย่างต่อเนื่อง 

ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สูงปกคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีสาเหตุจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ประกอบกับสภาพอากาศปิด ลมสงบความเร็วต่ำ ทำให้อากาศลอยตัวไม่ดี และในอีกหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการเผาในที่โล่งทั้งภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีระดับฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐานของไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ที่ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ภาครัฐได้ดำเนินการเร่งด่วนในการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชนในการดูแลและป้องกันตนเองเมื่อต้องออกกลางแจ้ง รวมถึงการดำเนินงานเพื่อควบคุมมลพิษในระยะสั้น 

อย่างไรก็ตาม ระยะยาวจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างถาวร เช่น (1) การลดมลพิษจากภาคขนส่ง โดยการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานไอเสียยูโร 5/6 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ การปรับลดการตรวจสอบสภาพการใช้งานรถยนต์ (2) การลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้จากการเกษตรและประชาชนทั่วไป โดยสร้างความตระหนักถึงผิดภัยของมลภาวะฝุ่น การสร้างความร่วมมือและให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ทำเกษตรแก่เกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนตรวจสภาพรถยนต์ตนเอง การใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (3) การลดมลพิษฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม โดยการกำหนดเขตปลอดมลพิษ สนับสนุนให้สถานประกอบการมีการบำบัดมลพิษก่อนระบายสู่อากาศ การปกคลุมสิ่งก่อสร้างต่างๆ 

ทั้งนี้ รัฐต้องมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและครบวงจร รวมทั้งเร่งร่วมมือระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะพื้นที่อาเซียนภาคพื้นมหาสมุทร นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการปรับลดเพดานค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กให้ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

บทความเรื่อง"ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย”

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำเป็นความแตกต่างของฐานะความเป็นอยู่ของประชากร ทั้งในด้านรายได้ ทรัพย์สิน และความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางสังคม ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า (1) ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค (2) สินทรัพย์ทางการเงินและการถือครองที่ดินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย (3) กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน แต่มีภาระหนี้คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูงมาก (4) การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและบริการสาธารณสุขยังมีความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติพื้นที่และมิติรายได้ และ (5) การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังพบความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

สาเหตุของความเหลื่อมล้ำ มาจาก (1) โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน (2) โครงสร้างทางภาษีที่ไม่สนับสนุนการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม (3) โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนและบริการทางการเงินของคนในชนบทยังมีอยู่อย่างจำกัด (4) การกระจายตัวของทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และ (5) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังมีความเหลื่อมล้ำส่งผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจและการเลื่อนชั้นทางสังคม

นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้ (1) การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พัฒนาปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกิน (2) การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การจัดเก็บภาษีจากฐานสินทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยการออกกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 (ร่าง) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... (3) การขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย โดยการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน (4) การดำเนินนโยบายการคลังด้านรายจ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้มีรายได้น้อย โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น และ (5) การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยการดำเนินมาตรการทางเลือกแทนโทษจำคุก เช่น ใช้เครื่องมือติดตามตัว การพัฒนานวัตกรรมการปล่อยชั่วคราว นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการเพิ่มโอกาสในการต่อสู้คดีของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนยุติธรรมด้วย

ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เมื่อพิจารณาปัจจัยความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาของรัฐในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการค่อนข้างครบถ้วนในทุกปัจจัย อย่างไรก็ดี ยังคงจำเป็นต้องเร่งดำเนินนโยบายข้างต้นให้เข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลในการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนต่อไป นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของรัฐยังคงมีช่องว่างของนโยบายที่ยังสามารถดำเนินการเพิ่มเติมอันจะช่วยให้การลดความเหลื่อมล้ำมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น อาทิ (1) การสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างบูรณาการ (2) การบูรณาการฐานข้อมูลด้านความยากจนและนำมาใช้ในการช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงอย่างเป็นรูปธรรม (3) การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ (4) การกำหนดนโยบายการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (5) การเพิ่มมาตรการในการยกระดับรายได้โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 40 ที่มีรายได้น้อยที่สุด และ (6) การเพิ่มมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์