ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.7 รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1
วันที่ 18 ก.พ. 2562 (จำนวนผู้เข้าชม  1)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยรองเลขาธิการฯ นางชุตินาฏ  วงศ์สุบรรณ และ ดร.วิชญายุทธ  บุญชิต และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 และแนวโน้มปี 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2561 ร้อยละ 0.8 (QoQ_SA) รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.1เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในปี 2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัว และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการสิ้นสุดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ในขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ร้อยละ 23.2 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.4 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.4 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 29.8 การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง
ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของการลงทุนของรัฐบาล ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 4.6

ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 62,538 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 19.0) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 8.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 5.6) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 3.2) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ร้อยละ -5.0) มันสำปะหลัง (ร้อยละ -7.5) ยางพารา (ร้อยละ -25.5) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ -16.8) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ -1.2) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ -12.7) อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ -4.7) และกุ้ง ปู กั้งและล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -6.3) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัว ขณะที่ตลาดจีน สหภาพยุโรป (15) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 58,134 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 17.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าร้อยละ 2.7 และปริมาณการนำเข้าร้อยละ 4.6

ด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตภาคเกษตรและสาขาก่อสร้างชะลอตัว โดยภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตสินค้าสำคัญ เนื่องจากข้าวและอ้อยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในบางพื้นที่ ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา (ร้อยละ 2.9) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 3.8) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 12.2) กุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 2.6) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 2.5) อย่างไรก็ตาม ผลผลิตไก่เนื้อ อ้อย และข้าวเปลือกลดลง ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 1.2 ตามการลดลงของราคาสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะราคายางพารา ราคาอ้อย ราคากุ้งขาวแวนนาไม และราคาปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 13.0) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 45.0) และราคาสุกร (ร้อยละ 13.5) การชะลอตัวของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและการลดลงของราคาดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 1.2 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้น จากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 4.8 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 67.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 13.5) น้ำตาล (ร้อยละ 54.4) กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ (ร้อยละ 131.4) ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ 41.0) และเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป (ร้อยละ 13.7) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -22.4) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ -11.5) มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ร้อยละ -12.0) น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ -10.7) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ -7.3) สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.74 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองของภาครัฐ ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 793.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 513.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 280.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.12 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.38 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 69.44 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 (ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (280.1 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 6.6 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 205.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,833.6 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP

เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2561

เศรษฐกิจไทยรวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจไทยรวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในปี 2560และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยในด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.6 (สูงสุดในรอบ 6 ปี) และร้อยละ 3.9 (สูงสุดในรอบ 6 ปี) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 2.9 ในปี 2560 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในปี 2560 ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2560 ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 5.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาค้าส่งและค้าปลีก สาขาขนส่งและการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 3.0 ร้อยละ 7.3 และร้อยละ 6.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 7.3 ในปี 2560 ตามลำดับ ในขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 10.6 ในปี 2560 รวมทั้งปี 2561 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 16,316.4 พันล้านบาท (505.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 240,544.9 บาทต่อคนต่อปี (7,447.2 ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 228,398.4 บาทต่อคนต่อปี (6,729.8 ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) ในปี 2560

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.4 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2562

เศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีแรงสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ (2) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ (3) การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ (4) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป และ (5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2562 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้ 

1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2561 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน แต่ยังเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการจ้างงานสอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้มีงานทำนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2561 และเร่งตัวขึ้น รวมทั้งเป็นการขยายตัวของจำนวนผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรซึ่งครอบคลุมเกือบทุกสาขาการผลิต และส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 และเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส เช่นเดียวกับฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ซึ่งคาดว่าฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องจะขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่ฐานรายได้ในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และฐานรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง (2) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และ (3) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2561 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณและอัตราการเบิกจ่ายที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น

2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2561 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 19.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐที่มีโครงการลงทุนเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างและการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตตามการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า และการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75.0 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนทิศทางการค้าระหว่างประเทศ (2) ความคืบหน้าของมาตรการและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน (3) การปรับตัวดีขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 901 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 โดยเฉพาะมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.4 ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการส่วนหนึ่งเริ่มลงทุนในปี 2562 และ (4) การย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความยืดเยื้อและทวีความตึงเครียดมากขึ้น

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.7 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้าส่งออกจากร้อยละ 1.0 - 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 0.5 – 1.5 ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2561

ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562 

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกทั้งปีให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 โดยให้ความสำคัญกับ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า และให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ (ii) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก ข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า (iii) การขยายความร่วมมือทางการค้าโดยเฉพาะในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และ (iv) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้มีจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 41.0 ล้านคน และ 2.24 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกและลดความแออัดของนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง การกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชน การสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทยกับประเทศในภูมิภาค และการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยกลับมานิยมท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (3) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ(i) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 ให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 (4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตและกระตุ้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม (ii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งชักจูงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และ(iii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง (5) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก และ (6) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
18 กุมภาพันธ์ 2562




สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์