ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการนำเสนอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี ๒๕๖๑ สู่สาธารณะ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา โดยรายงานดังกล่าวได้นำเสนอสถานการณ์และความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญในรอบไตรมาสที่ผ่านมา เช่น สถานการณ์ด้านแรงงาน หนี้สินครัวเรือน การเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยด้วยโรคฝ้าระวัง เป็นต้น ทั้งนี้ สศช. จึงขอรายงานสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยในไตรมาสสาม ปี ๒๕๖๑ เพิ่มเติมเพื่อให้สังคมและสาธารณชนสามารถติดตามและเข้าใจสถานการณ์ทางด้านหนี้สินครัวเรือนได้อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น โดยนางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเช้าวันนี้ (๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑) สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
ในไตรมาสสอง ปี ๒๕๖๑ (ข้อมูลล่าสุด) หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า ๑๒.๓๔ ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๗ เทียบกับร้อยละ ๓.๘ และ ๔.๖ ในปี ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐ ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำ และความต้องการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมา หลังจากเริ่มสิ้นสุดเงื่อนไขการถือครองรถยนต์อย่างน้อย ๕ ปี ก่อนการโอนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ตามนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก (สิ้นสุดเงื่อนไขวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ จากสัดส่วนที่สูงสุดในปี ๒๕๕๘ ร้อยละ ๘๐.๘ ลดลงเป็นร้อยละ ๗๙.๓ และ ๗๘.๐๕ ในปี ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐ ตามลำดับ และเป็นร้อยละ ๗๗.๕ ในไตรมาสสองปี ๒๕๖๑
วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร จากข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้กับครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสสามปี ๒๕๖๑ สัดส่วนประมาณร้อยละ ๗๓.๐ ของสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้กับครัวเรือนรวม เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่น ๆ ดังนั้นจึงเป็นการก่อหนี้ที่ทำให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน (สัดส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เท่ากับร้อยละ ๕๑.๕ และสัดส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เท่ากับร้อยละ ๒๓.๘) โดยสินเชื่อที่ให้กับการซื้อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๔ และ ๑๒.๕ ตามลำดับ สำหรับสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ (สัดส่วนร้อยละ ๒๕.๘) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๗
แม้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นแต่ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่น่ากังวล ในไตรมาสที่ ๓ ปี ๒๕๖๑ หนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๘ ชะลอลงจากร้อยละ ๑๐.๓ สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมและ NPL อยู่ร้อยละ ๒.๗๓ และร้อยละ ๒๖.๘๐ ใกล้เคียงกับร้อยละ ๒.๗๒ และร้อยละ ๒๖.๒๒ ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อเกิน ๓ เดือนของบัตรเครดิตลดลงร้อยละ ๐.๒ และของสินเชื่อภายใต้การกำกับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๗
ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจาก (๑) มูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากมีปัจจัยภายนอกมากระทบอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ โดยเฉพาะ ๑) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และ ๒) สินเชื่อซื้อ/ เช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคบุคคลอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ เร่งตัวขึ้น ตามมาตรการส่งเสริมการขายที่จูงใจผู้บริโภคและอาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่ม และ (๒) ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin-tech) ที่ทำให้มีความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น ซึ่งหากขาดความตระหนักในการมีวินัยทางการเงิน รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการด้านการเงิน อาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินความสามารถในการหารายได้ และความสามารถในการชำระหนี้สิน
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ทั้งในระบบและนอกระบบอย่างต่อเนื่องโดยมีมาตรการสำคัญ ๆ อาทิ (๑) โครงการคลีนิคแก้หนี้ โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนิน "โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่ไม่มีหลักประกัน” เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้ รวมทั้งบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถที่แท้จริงควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี (๒) การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีการดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงการคลัง ๕ มิติ ได้แก่ ๑) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ๒) การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบ และประชาชนทั่วไป ได้แก่ การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ "สินเชื่อรายย่อย ระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์)” และการจัดตั้ง "หน่วยแก้หนี้นอกระบบ” (Business Unit) ภายในธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ๓) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้โดยจัดให้มี "จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ณ สาขา ธ.ออมสิน และธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ๔) เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีศักยภาพในการหารายได้ หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ โดยการสนับสนุนด้านการฟื้นฟูอาชีพ และ ๕) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สร้างเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน (๓) มาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการและธนาคารออมสินได้ร่วมกันออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา (๔) มาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย ได้แก่ ๑) โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย ที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ๒) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรรายย่อย เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ (๕) การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกและเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ
----------------------------------------------------------
ข่าว : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี / อมรเทพ ศรีประเสริฐ |