ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 10
วันที่ 31 ส.ค. 2561
แถลงข่าว
การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม 
ครั้งที่ 10 (the 10th Mekong-Japan Economic Ministers’ Meeting)

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 10 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา ประเทศสิงคโปร์
 
ในการนี้ รมว.คมนาคม และรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอีก 4 ประเทศคือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมทั้ง นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ 
การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ได้ร่วมให้ความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์การร่วมการประชุม ซึ่งรับทราบและยินดีต่อความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MIDV) อาทิ การนำใช้ระบบการตรวจปล่อยศุลกากรแบบอัตโนมัติในเวียดนาม และเมียนมา การร่วมพิจารณาข้อเรียกร้องของภาคเอกชนญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง อาทิ เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่วนที่ขาดหาย เร่งรัดผลักดันการดำเนินงานความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เร่งพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเร่งรัดมาตรการเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ดีในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ยังได้ให้ความเห็นชอบต่อหลักการแนวคิดการจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะปี 2564-2568 หรือ "MIDV 2.0” ซึ่งมุ่งเน้นการนำใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และการเชื่อมโยงเชิงกฎระเบียบเพื่อตอบสนองต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและการมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

รมว.คมนาคม ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า การดำเนินงาน MIDV 2.0 ระยะต่อไปจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มที่จะพลิกโฉมการเปลี่ยนแปลงของโลก (Megatrends) คือ เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive Technology) ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอนาคตของความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่ง Disruptive Technology มีผลต่อการพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมคือ การนำใช้อินเทอร์เน็ทในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoTs) และอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าแก่การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ จึงขอให้ญี่ปุ่นช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีและเป็นผู้แนะแนวทางในการนำใช้ IoTs และอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อขยายและสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และขยายความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ด้วย นอกจากนี้ ไทยยืนยันความพร้อมให้การสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 และ 6 ข้ามแม่น้ำโขง และสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำเมย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ สนับสนุนการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในอนุภูมิภาคเพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ไทยยังคงยืนยันความพร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องความเชื่อมโยงทางกายภาพเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อส่งเสริมให้เกิดสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ในส่วนของการเชื่อมโยงเชิงกฏระเบียบนั้น ประเทศไทยยืนยันสนับสนุนการดำเนินงานในระยะแรกเริ่มของความตกลง CBTA สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และแสดงความยินดีที่ไทยและเมียนมาจะได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายในปีนี้ และเสนอให้ สปป.ลาว เร่งหาพื้นที่ควบคุมร่วมกันให้แล้วเสร็จในเร็ววัน นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะต้องร่วมพัฒนาและปรับปรุงกฏระเบียบเพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถเชื่อมโยงกับตลาดที่ใหญ่และทันสมัย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีในการดำเนินธุรกิจดิจิทัลและเป็นการบ่มเพาะขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจที่เริ่มต้นและเติบโตแบบก้าวกระโดด (Start-up) เพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคได้ต่อไป

อนึ่ง กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มุ่งสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งให้ญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในสาขาการผลิตที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มลงทุนหลัก ในขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในทุกระดับเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า

การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 11 กำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2562 ณ ประเทศไทย ในโอกาสการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 51 โดยในปี 2562 ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์