ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2561 และแนวโน้มปี 2561
วันที่ 20 ส.ค. 2561
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.วิชญายุทธ  บุญชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สองของปี 2561 และแนวโน้มปี 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2561 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.8

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐบาล การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 25.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนียอดขายบริการคมนาคมขนส่ง ขยายตัวร้อยละ 7.7 ร้อยละ 12.0 และร้อยละ 13.5 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.5 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดค่าใช้สอย และหมวดค่าตอบแทน (ค่าจ้าง เงินเดือน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.8 (สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 22.0) การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ ร้อยละ 6.6 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 และการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 

ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 63,014 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 12.3 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 14.5) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 4.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 31.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 22.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 28.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 13.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 12.4) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 23.9) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.8) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 7.7) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และออสเตรเลีย เมื่อหักการส่งออกทองคำ
ที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 57,210 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.8 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าร้อยละ 7.2 และปริมาณการนำเข้าร้อยละ 8.9 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของการส่งออก และการขยายตัวเร่งขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ

ด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขนส่งและการคมนาคมชะลอตัวตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่สาขาการก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 10.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และอุปสงค์ต่างประเทศที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อย ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 18.1) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 108.7) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 39.3) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ยางพารา (ร้อยละ -27.8) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ -13.1) อ้อย (ร้อยละ -20.7) สุกร (ร้อยละ -9.9) และปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ -18.8) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของผลผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น สอดคล้องกับการชะลอตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 จากการขยายตัวร้อยละ 4.0 และร้อยละ 7.5 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สอง ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสที่สองที่สูงสุดนับจากปี 2557 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 11.5) น้ำตาล (ร้อยละ 40.5) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 16.3) พลาสติกและยาง (ร้อยละ 7.2) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 3.9) ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 6.6) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 3.9) เหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 2.8) การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 2.6) และการแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ 1.2) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -6.5) การทอผ้า (ร้อยละ -15.1) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ -5.0) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ -2.9) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ -2.6) เป็นต้น สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 9.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 8.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 442.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นสำคัญ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาขนส่งและการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำขยายตัวร้อยละ 4.2 ร้อยละ 10.5 และร้อยละ 9.0 ตามลำดับ ในขณะที่บริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 11.6 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.3 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (205.9 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 206.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,531.5 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.8 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2561
เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 – 4.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้การส่งออก และภาคการผลิตสำคัญ ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเบิกจ่ายและความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 – 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2561 ในด้านต่างๆ มีดังนี้ 
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.1 ในช่วงครึ่งปีแรก และแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นตามผลผลิตที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการมีงานทำที่กลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้นตามลำดับ (2) การดำเนินมาตรการของภาครัฐในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเศรษฐกิจฐานราก และ (3) การลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.5 ในปี 2560 และเป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2560 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 16.7 และร้อยละ 89.2 ตามลำดับ และการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่เป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี (รวมงบเพิ่มเติม) และอัตราเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ร้อยละ 65.0 และร้อยละ 75.0 ให้สอดคล้องกับผลการเบิกจ่ายจริงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวเร่งขึ้นจากครึ่งปีแรก สะท้อนจากยอดเบิกจ่ายรวม PO ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 65.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน สูงกว่าร้อยละ 59.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2560 และเท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต ซึ่งในไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 66.6 และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสที่สองที่สูงสุดในรอบ 5 ปี และความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ 
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มประมาณการตามการขยายตัวของปริมาณการส่งออกที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสที่สองและครึ่งปีแรกร้อยละ 7.5 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ สูงกว่าที่ประมาณการไว้ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ เมื่อรวมกับการปรับสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในปี 2560 และร้อยละ 6.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2561 
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ โดยเฉพาะ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการติดตามและดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ii) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน และ (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการอำนวยความสะดวกและกระตุ้นโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว การดูแลให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งชักจูงนักลงทุนในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย และนักลงทุนในประเทศที่ประสบปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า (2) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย (i) การฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตร (ii) การดำเนินการตามมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ และการลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ (iii) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน (3) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณต่าง ๆ ให้มีเพียงพอต่อการสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน


ข่าว : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (20 สิงหาคม 2561)
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี / อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์