ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
รัฐเร่งแผนปฏิรูปประเทศ 6 กลุ่ม
วันที่ 6 มิ.ย. 2561
คณะกรรมการปฏิรูป เดินหน้างานปฎิรูปประเทศเร่งด่วน 6 กลุ่ม วางแนวทางแก้จน แก้เหลื่อมล้ำ แก้โกง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองฯ ปฏิรูประบบราชการ และสร้างอนาคตไทย โดยที่ผ่านมาหลายส่วนได้ดำเนินการไปแล้ว พร้อมวางแนวทางพัฒนาเร่งด่วนและระยะยาว เตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนสร้างประเทศไทยไปด้วยกัน  

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้มีการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานเร่งด่วน 6 กลุ่ม ภายในระยะเวลา 8 เดือน ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 แผนแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน หรือการแก้จน กลุ่มที่ 2 แผนลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม หรือแก้เหลื่อมล้ำ กลุ่มที่ 3 การสร้างความเป็นธรรมของสังคม หรือแก้โกง กลุ่มที่ 4 แผนสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มที่ 5 แผนปฏิรูปราชการเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนหรือปฏิรูปราชการ และกลุ่มที่ 6 สร้างอนาคตไทย 

ปฏิรูป 6 กลุ่มเป็นแผนเร่งด่วน 

แก้ปัญหาปากท้อง ด้วยแนวทางการแก้จน ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างชุมชนเข้มแข็ง แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเกษตรกร สิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้ว ประกอบด้วย การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน พัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP ทำธนาคารปูม้า การบริหารจัดการน้ำ ทำแผนที่การเกษตร Agri Map ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร สนับสนุนปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร สิ่งที่จะต้องพัฒนาเร่งด่วน คือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยเพื่อสร้าง Smart Farmer แผนระยะยาว ส่งเสริมระบบชลประทาน พัฒนาดิน และพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย 

ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้สังคม ด้วยแนวทาง การแบ่งการดำเนินการเป็นกลุ่ม เช่น ด้านยุติธรรม การศึกษา สังคม สาธารณสุข เศรษฐกิจ และอื่น ๆ โดยแผนลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ   สิ่งที่รัฐดำเนินการไปแล้ว เช่น ขยายความครอบคลุมระบบประกันสังคม พ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533 เพิ่มเติม กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 สิ่งที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน พ.ศ...... ร่างพ.ร.บ.ขายฝาก        ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ...... ศึกษาการจัดสวัสดิการสังคม  เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ แก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การถือครองสินทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำ และสิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะยาว คือ ขยายความครอบคลุมระบบประกันสังคม ปฏิรูปการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้ประชาชน ปรับปรุงระบบภาษีสู่สังคมที่เท่าเทียม และพัฒนาเงินออมภาคบังคับ และการจัดเก็บข้อมูลภาษี เป็นต้น 

สร้างความเป็นธรรมให้สังคม ด้วยแนวทางการแก้โกง แบ่งกลุ่มการปฏิรูปออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย การป้องกันและเฝ้าระวัง ป้องปราม ปราบปราม และการบริหารจัดการ โดยในส่วนของการป้องกันและเฝ้าระวัง สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ สร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังทางสังคมยุคดิจิทัล การปฏิรูปปราบปรามทุจริต ยกระดับการดำเนินการทางวินัยปกครองด้วยการสร้างระบบรับเรื่องร้องเรียน และสิ่งที่จะดำเนินการในระยะยาว คือ ร่างกฎหมายส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ตรากฎหมายป้องกันการฟ้องข่มขู่ผู้แจ้งเบาะแส จนกว่าการดำเนินการตามหน้าที่จะเสร็จสิ้น 

เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการปกครอง ด้วยแนวทางสร้างการมีส่วนร่วม สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน พัฒนาโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาให้เป็นโรงเรียนประชาธิปไตย จัดทำสภาประชารัฐท้องถิ่น กำหนดเกณฑ์การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม สร้างจิตอาสาพัฒาการเมือง สร้างยุวชนจิตอาสา จัดให้ผู้นำทางการเมืองหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหาร การวัดระดับธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐ ปฏิรูประบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งเชิงพื้นที่ สิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะยาว ตั้งสถาบันปฏิรูปด้านการเมือง กำหนดเกณฑ์การชุมนุมโดยสันติวิธี รถรงค์ให้นักการเมืองแสดงเจตนารมณ์ต่อสาธารณะ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ..... ยกระดับสำนักงบประมาณของรัฐสภาให้เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของประธานรัฐสภา เช่นเดียวกับสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสนับสนุนฝ่ายนิติบัญญัติ ให้สามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างเหมาะสมคุ้มค่า และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 

แนวทางปฏิรูปราชการและกฎระเบียบ แบ่งกลุ่มปฏิบัติเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ขั้นตอนกระบวนการ      เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ กฎหมายเพื่อลดอุปสรรค และปฏิรูปโครงสร้างเพื่อลดขนาดกระจายอำนาจ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนในส่วนของขั้นตอนกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คือการจัดทำบิ๊กดาต้าของภาครัฐ โดยในส่วนของกฎหมายเพื่อลดอุปสรรค สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตร พ.ศ.2560 พ.ร.บ.อำนวจความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 สิ่งที่กำลังดำเนินการ ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยด้วย Regulartory Guillotine ร่างกฎหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก (แก้ไขเพิ่มเติม) กฎหมายการมีส่วนร่วมเปิดช่องให้สภาประชารัฐท้องถิ่นทำงาน และจัดทำพ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล สำหรับสิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะยาว คือ กลไกรองรับการดำเนินงาน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ในการออกกฎหมาย (ปฏิรูปกฎหมาย) เป็นต้น 

และกลุ่มสุดท้ายสร้างอนาคตไทย ประกอบด้วย ด้านพลังงาน สื่อสารมวลชน ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ และสร้างอนาคต โดยการปฏิรูปในกลุ่มสร้างอนาคตสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ไทยแลนด์ 4.0 โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ Special Economic Zone (SEZ) สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ด้านพลังงานเรื่องการส่งเสริมโซลาร์รูฟเสรี ให้เกิดขึ้นโดยง่าย สำหรับสิ่งที่จะต้องดำเนินการในระยะยาว เพื่ออนาคตประเทศ ขจัดอุปสรรคทางการค้า  เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการค้าอินโดจีน กระตุ้นการผลิตการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน EV (Electric Vehicle)   ยานยนต์ไฟฟ้า 

ข่าว : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาพ : อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์