ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2561
วันที่ 31 พ.ค. 2561
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานลดลง การเฝ้าระวังในกลุ่มเด็กและเยาวชนเล่นพนันฟุตบอลโลก 2561 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เป็นภาคีการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสาระดังนี้

การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัวได้ดี แต่นอกภาคเกษตรลดลง อัตราการว่างงานทรงตัว รายได้และผลิตภาพแรงงานขยายตัวได้ดี

ไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.2 โดยนอกภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้วร้อยละ 2.8 ในสาขาก่อสร้าง การค้าปลีก/ค้าส่ง โรงแรมและภัตตาคาร และสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ร้อยละ 11.8 2.8 1.3 และ 3.2 ตามลำดับ ส่วนการจ้างงานในสาขาการผลิตทรงตัวเท่ากับไตรมาสหนึ่ง ปี 2560 แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ไม่สะท้อนในภาพรวมของการจ้างงานที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง และบริการ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการประกอบธุรกิจ ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.0 จากไตรมาสหนึ่ง ปี 2560 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร

อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 เท่ากับไตรมาสหนึ่ง ปี 2560 เป็นผู้ว่างงานมีจำนวน 4.7 แสนคน ชั่วโมงการทำงานของแรงงานโดยรวมในไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 เฉลี่ยเท่ากับ 42 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงานเท่ากับ 44.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 0.6 ส่วนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีจำนวนลดลงร้อยละ 7.5 รายได้แรงงานที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสหนึ่ง ปี 2560 ร้อยละ 2.3 โดยภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ผลิตภาพแรงงานขยายตัวได้ดีร้อยละ 5.1 เป็นการขยายตัวจากภาคเกษตรร้อยละ 0.7 และนอกภาคเกษตรขยายตัวถึงร้อยละ 7.7 

ประเด็นด้านแรงงานที่ควรติดตามและให้ความสำคัญในช่วงต่อไป ได้แก่

1. รายได้แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มผันผวน จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากเฉลี่ยร้อยละ 2.2 12.9 และ 6.0 ในไตรมาสสองถึงไตรมาสสี่ ปี 2560 เป็นร้อยละ 12.3 ในไตรมาสหนึ่งปี 2561 ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลงโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ได้แก่ ความช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าว การให้สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้แก่ การให้สินเชื่อผู้ประกอบการเพื่อซื้อยางแห้งไปใช้ในการแปรรูปโดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานราชการ และงดการกรีดยางในพื้นที่ส่วนราชการทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 นอกจากนั้น ยังได้ส่งเสริมระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเพาะปลูก รวมถึงการใช้การตลาดนำการผลิตในรูปแบบการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ โรงานแปรรูป และสนับสนุนการทำการเกษตรผสมผสาน
 
2. ข้อเรียกร้องแรงงานเนื่องจากวันแรงงานปี 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี 10 ข้อ ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในเรื่องสิทธิประโยชน์ในการเกษียณที่อายุ 55 ปีให้ได้เทียบเท่าการเกษียณที่อายุ 60 ปี และเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 11/1 เป็นภาคบังคับและมีบทลงโทษทางอาญา การเรียกร้องกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ เรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้น ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 พ้นสภาพให้สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ และข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในทุกข้อเรียกร้องซึ่งหลายข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย อาทิ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 การปรับปรุงกฎหมายเพื่อการคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ การกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ ให้จัดตั้งในทุกสถานประกอบกิจการเพื่อจะทำให้เกิดสิทธิประโยชน์แก่แรงงานเพิ่มมากขึ้นและตรงความต้องการของแรงงานที่แท้จริง

3. การบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรการบรรเทาผลกระทบ จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 308–330 บาท/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการตรวจสอบและติดตามให้สถานประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามการประกาศขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ รวมถึงการเฝ้าระวังผลกระทบจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 หลังการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น จากการตรวจแรงงานและการปฏิบัติไม่ถูกต้องเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ พบว่ามีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 188 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของสถานประกอบกิจการที่ตรวจ โดยมีลูกจ้างที่ได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 1,327 คน คิดเป็นร้อยละ 1.0 ของลูกจ้างกิจการที่ตรวจ โดยนายจ้างที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 90 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูร้อน 

ไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 2.3 โดยผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ลดลงร้อยละ 44.7 เนื่องจากมีการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยพบผู้ป่วยและเสียชีวิตแล้ว 9 ราย กระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และเร่งค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครอบคลุม 100% รวมทั้งการติดตามสถานการณ์เด็กจมน้ำในช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 334 คน สำหรับในปี 2561 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคในช่วงปิดเทอมมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 113 คน ทั้งหมดเป็นเด็กช่วงอายุ 5-14 ปี การป้องกันและช่วยเหลือเด็กจมน้ำจึงควรมุ่งเน้นทั้งในบ้านและชุมชน โดยบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางน้ำ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาครัฐ เอกชน จิตอาสาและชุมชน ดำเนินการป้องกันการจมน้ำ โดยได้ก่อตั้งทีม "ผู้ก่อการดี” ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งทั่วประเทศมีทีมผู้ก่อการดีกว่า 2,000 ทีม ใน 74 จังหวัด จัดสอนว่ายน้ำให้เด็กไปแล้วเกือบ 4 แสนคน และคนในชุมชนหรือเด็กได้ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพกว่า 1.7 แสนคน

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่กับการเล่นพนันฟุตบอล

ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.1 และค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 2.1 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากอาจนำไปสู่การเสพสารเสพติดชนิดอื่นที่ร้ายแรง รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เป็นสาเหตุของภาวะโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งปัจจุบันเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนันฟุตบอลมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งทำให้เกิดนักพนันฟุตบอลหน้าใหม่จำนวนมาก สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2561 รอบสุดท้ายที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ศกนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบจากการพนันฟุตบอล

คดีอาญารวมยังเพิ่มขึ้น ต้องระดมทุกภาคส่วนร่วมสร้างสังคมปลอดภัย 

คดีอาญารวม คดียาเสพติด และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 17.6 22.2 และ 1.2 ตามลำดับ แต่คดีชีวิตร่างกายและเพศ ลดลงร้อยละ 4.1 แนวนโยบายของรัฐจึงมุ่งทั้งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สร้างสังคมที่ปลอดภัยจากการแพร่กระจายของยาเสพติดที่มีความเชื่อมโยงไปสู่อาชญากรรมแฝงในหลายรูปแบบ ทั้งกวาดล้างจับกุมเป้าหมายเครือข่ายยาเสพติดทั่วประเทศควบคู่กับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ภาครัฐได้มีการดำเนินโครงการสำคัญๆ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด อาทิ โครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมควบคู่กันไปกับการเปิดพื้นที่ปลอดภัยจากภัยมืดทางสังคม ร่วมเอ๊กซเรย์เป้าหมายในพื้นที่ ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดและปิดโอกาสการเกิดอาชญากรรมในสังคม

การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ยังคงต้องดำเนินมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องทุกมิติเพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน 

สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 16.1 มีผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 15.9 และ 2 ตามลำดับ รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 40 ของประเภทรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด นอกจากนี้ พบการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้นบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารและผู้อื่นมากกว่ารถยนต์ประเภทอื่น กระทรวงคมนาคมจึงเพิ่มความเข้มงวดเรื่องรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถโดยสาร 2 ชั้น มีคำสั่งยกเลิกการจดทะเบียนรถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้นตั้งแต่ปี 2559 กรมการขนส่งทางบกจัดให้มีการทดสอบการทรงตัวของรถโดยสาร การนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบ ผู้ประกอบการต้องมีการจัดอบรมปลูกฝังวินัยจราจรและความมีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น ติดตามพฤติกรรมพนักงานขับรถตรวจความพร้อมรถยนต์ และผู้โดยสารต้องตระหนักถึงความปลอดภัยโดยการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องตลอดทั้งปียังคงมีความจำเป็น โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านผู้ใช้รถใช้ถนน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางกลไกประชารัฐ การประชาสัมพันธ์ เตือนผู้ขับขี่ควบคู่กับป้ายจับความเร็วมีกล้องบันทึกภาพเพื่อเอาผิดตามกฎหมาย การเตรียมสภาพถนนเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละพื้นที่

การดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย 

รัฐบาลได้เดินหน้าปฏิรูปการทำงานเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2561 จำนวน 3,641.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 13.5 จัดทำแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะของสหรัฐอเมริกา TIP Report ปี 2560 ที่มีการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานอย่างครอบคลุมทุกมิติของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ด้วยการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ตามแนวทาง 5 P ได้แก่ ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ ด้านป้องกัน ด้านนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ และความร่วมมือกับทุกภาคส่วนยังเป็นแนวทางที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยมีผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ อาทิ การดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อเนื่อง การดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์มากขึ้น โดยใช้ทั้งมาตรการทางการปกครอง ทางวินัย ทางทรัพย์สินในทางแพ่ง ทางอาญา ด้านกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลมีความรวดเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 มีคดีค้ามนุษย์เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล 732 คดี ศาลพิจารณาเสร็จสิ้น 536 คดี จัดให้มีการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพฯ 8 แห่ง ให้ได้รับโอกาสในการทำงาน มีการนำเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวทั้งระบบให้อยู่ในระบบฐานข้อมูลเดียวกันทั่วประเทศ เป็นต้น

บทความเรื่อง "วิสาหกิจเพื่อสังคม...ภาคีการพัฒนาที่ยั่งยืน”

วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นการจัดตั้งองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ระเบียบวิธีแบบธุรกิจมาแก้ปัญหาทางสังคม มีคุณลักษณะสำคัญ คือ (1) มีเป้าหมายทางสังคมเป็นหลัก (2) รายได้หลักมาจากการขายสินค้าหรือบริการ (3) ผลกำไรต้องนำไปขยายการลงทุนเพื่อสังคม และ (4) มีธรรมาภิบาลในการดำเนินงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

การขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม รัฐได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.) เพื่อจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และสนับสนุนความช่วยเหลือให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553-2557 รวมทั้งการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร พ.ศ. 2559 และยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็น (2 ครั้ง) ขณะที่ สกส. ยุติบทบาทชั่วคราว และต้องรอพระราชบัญญัติฯประกาศใช้จึงสามารถจัดตั้งสำนักงานและมีกลไกในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งนี้ ในปี 2560 ได้มีการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นกรรมการและเลขานุการ คกส. แทนผู้อำนวยการ สกส. และให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ คกส. รวมทั้งออกหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2561

การดำเนินงานวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสหกรณ์ และเครือข่ายองค์กรชุมชน ผลสำรวจของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ปี 2558 พบว่า มีองค์กรที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมกว่า 1,000 แห่ง ขณะที่มีองค์กรที่เข้าข่ายตามกฎหมายภาษีรัษฎากร 361 แห่ง และมีเพียง 101 แห่ง ที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามกฎหมายภาษีรัษฎากร แม้จะมีการตื่นตัวและจัดตั้ง สกส. เพื่อผลักดันให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ามามีบทบาทและสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นทางสังคม แต่ยังขาดกฎหมายเฉพาะและการสนับสนุนอย่างเป็นระบบทำให้การดำเนินงานขาดความต่อเนื่อง ขณะที่วิสาหกิจเพื่อสังคมยังมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนและแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะเครือข่ายและองค์กรชุมชน องค์กรสาธารณประโยชน์และผู้ประกอบการใหม่ รวมทั้งการขาดความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ประกอบกับความคลุมเครือเกี่ยวกับคำนิยามทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและขยายตัวของวิสาหกิจเพื่อสังคม

แนวทางการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ประกอบด้วย

1. การเร่งผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. .... เพื่อให้มีองค์กรที่เป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างเป็นองค์รวมและต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นกลไกขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายในทุกระดับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สอดคล้องกับปฏิรูปประเทศด้านสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

2. การสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยสนับสนุนการสร้างความเป็นผู้ประกอบการที่มีทักษะในการขับเคลื่อนธุรกิจและมุ่งมั่นพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน พัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมและระบบทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความรู้และนวัตกรรมทางสังคมทั้งตัวสินค้าและบริการ การบริหารจัดการ การสร้างแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่ เช่น การคิดแปรรูปขยะมาเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้พันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond) สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมในการดำเนินงาน เป็นต้น 

3. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม และระหว่างกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม ผ่านโซเชียลมีเดียและการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ การช่วยเหลือด้านธุรกิจ

4. การแบ่งกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีหลากหลายทั้งเวลาดำเนินงาน รูปแบบ และขนาด เช่น วิสาหกิจเพื่อสังคมที่อยู่ระยะเริ่มต้นมักขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในปัญหาต้องการแก้ไข ขาดโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสม รวมถึงขาดระบบการเงินและบัญชีทำให้ประสบความล้มเหลวและเลิกล้มไป จึงควรได้รับการสนับสนุนทางวิชาการ และเงินทุนเริ่มต้นสำหรับทดลองโมเดลทางธุรกิจ ขณะที่องค์กรที่ดำเนินงานมาระยะหนึ่ง การอยู่รอดภายใต้ระบบตลาดปกติขึ้นอยู่กับการเข้าถึงเงินทุนในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือเงินร่วมทุน คำแนะนำทางธุรกิจ รวมถึงเครือข่ายสนับสนุนรูปแบบคู่ค้าทางธุรกิจ

5. การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และออกตรารับรองสินค้าและบริการของเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีคุณภาพเพื่อสร้างตลาดรองรับและสนับสนุนสินค้าของวิสาหกิจเพื่อสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
31 พฤษภาคม 2561

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์