ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2561 และแนวโน้มปี 2561
วันที่ 21 พ.ค. 2561
นางชุตินาฏ  วงศ์สุบรรณ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และดร.วิชญายุทธ  บุญชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2561 และแนวโน้มปี 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2561

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ร้อยละ 2.0 (QoQ_SA)

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุนรวม และการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและบริการ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการขยายตัวเร่งขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวร้อยละ 9.4 สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 14.8 ในขณะที่การใช้จ่ายด้านบริการ และสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 4.9 และร้อยละ 2.4 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.1 และร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ ส่วนการบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.0 สอดคล้องกับดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 
แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ร้อยละ 10.8 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.7 เทียบกับระดับ 65.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี (ไม่รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) ที่ร้อยละ 21.0 ใกล้เคียงกับร้อยละ 21.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้ามูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 203.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 228.5 โดยเป็นมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 165.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจาก 12.3 พันล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 52.4 สูงสุดในรอบ 24 ไตรมาส ส่วนการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 4.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3

ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 61,788 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 9.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 21.1) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 28.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 41.1) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 15.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 18.5) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 1.8) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 9.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.1) และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 37.7) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในทุกตลาด
ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 55,153 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.3 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าร้อยละ 6.6 และปริมาณการนำเข้าร้อยละ 9.2 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอุปสงค์ในประเทศ

ด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัวและเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคเกษตรกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 31.8) ยางพารา (ร้อยละ 12.0) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 22.0) ข้าวโพด (ร้อยละ 41.9) กุ้ง (ร้อยละ 13.4) และสุกร (ร้อยละ 3.3) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 6.0 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.3 ตามการลดลงของราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน และการลดลงจากฐานที่สูงของราคาอ้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 14.2) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 43.8) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 29.5) เป็นต้น การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 เนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมบางรายการ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 72.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 69.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสแรกที่สูงสุดในรอบ 5 ปี ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 12.0) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.6) น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ 38.8) พลาสติกและยาง (ร้อยละ 8.7) และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 10.2) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ -31.2) การต้ม การกลั่นและการผสมสุรา (ร้อยละ -29.6) และผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่นๆ (ร้อยละ -4.3) เป็นต้น สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 12.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 15.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.61 ล้านคน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 15.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว และรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 840.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 267.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 76.79 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.44 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 73.35 
ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาขนส่งและการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำขยายตัวร้อยละ 3.4 ร้อยละ 12.5 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 9.5 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 17.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (539.7 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 13.3 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 215.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,454.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.2 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2561

เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 – 4.7 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกและการผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้
อย่างต่อเนื่อง (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และ (4) การปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 8.9 การบริโภคภาคเอกชน และการสะสมทุนถาวรรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP 

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2561 ในด้านต่างๆ มีดังนี้ 

1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการขยายตัวที่สูงกว่าการคาดการณ์ร้อยละ 3.6 ในไตรมาสแรก และแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีในช่วงที่เหลือของปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนและเริ่มกระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ หลายรายการ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของฐานรายได้ในภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง (2) การดำเนินมาตรการของภาครัฐในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเศรษฐกิจฐานรากภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 และ (3) การลดลงของข้อจำกัดจากการถือครองรถยนต์ภายใต้มาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2560 และเป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับสมมติฐานสัดส่วนรายจ่ายประจำและเงินโอนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 

2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2560 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 17.5 และร้อยละ 33.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และการลดลงร้อยละ 2.1 ในปี 2560 ตามลำดับ และการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่เป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 10.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมทั้งเป็นการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเบิกจ่ายงบลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561โดยอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง สะท้อนจากยอดเบิกจ่ายรวม PO ในครึ่งแรกของปีงบประมาณซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 54.8 สูงกว่าร้อยละ 44.0 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2560 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72.4 ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสแรกที่สูงสุดในรอบ 5 ปี การขยายตัวในเกณฑ์สูงของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนร้อยละ 22.4 และร้อยละ 228.5 ในปี 2560 และในไตรมาสแรกของปี 2561 ตามลำดับ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนมากขึ้น 

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.7 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาและปริมาณการส่งออกสินค้าจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 – 2.5 และร้อยละ 4.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 – 4.5 และการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ในการประมาณการครั้งนี้ เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจาก 2.18 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6) ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เป็น 2.23 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6) สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไตรมาสแรกที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี (ล่าสุดในเดือนเมษายน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4) ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2561
 
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะ (i) การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่องควบคู่ไปกับการติดตาม ประเมินสถานการณ์ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเพิ่มสูงขึ้น (ii) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในด้านการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว การชักจูงนักลงทุนในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ และการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และ (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องการรักษาความปลอดภัย การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในสนามบินและพื้นที่ท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวรองเพื่อสนับสนุนการกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชนให้มากขึ้น (2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดย (i) การจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปี เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 66.7 และร้อยละ 77.0 ตามลำดับ (ii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ และ (iii) การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ (3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้าน (i) การผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับสินค้าที่ราคายังฟื้นตัวอย่างล่าช้า การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตภาคเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ (ii) การดูแลผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการดูแลมาตรการสินเชื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย และ (iii) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
21 พฤษภาคม 2561

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์