logo
ข่าวสาร/กิจกรรม
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 1/2561
วันที่ 4 พ.ค. 2561
วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุม 521 สศช. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 1/2561 โดยที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาวาระที่สำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้รับทราบ กลไกการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ซึ่งประกอบด้วย ที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่แต่งตั้งตามพระราชบัญญัติฯ จำนวน 11 คณะ หน่วยงานราชการ ได้แก่ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการกลาง และคณะทำงานพิเศษภายในสำนักปลัดกระทรวงึ่งทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในกระทรวง 

สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศชุดนี้ จะทำหน้าที่ในการประสานกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนภารกิจการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยยึดหลักการที่คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไว้ คือการจัดลำดับกิจกรรมในประเด็นปฏิรูปด้านต่าง ๆ ที่สำคัญเร่งด่วน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนวงกว้าง แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐเป็นลำดับแรก และนำกิจกรรมปฏิรูปดังกล่าวมาขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป 

ที่ประชุมได้รับทราบสรุปภาพรวม เป้าหมายและผลอันพึงประสงค์ของแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน ที่ได้มีผลบังคับใช้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน ประกอบด้วยประเด็นปฏิรูปรวม 133 ประเด็น โดยมี 482 กิจกรรม และครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้รับมอบหมายไว้ ที่ประชุมจึงได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดลำดับความสำคัญ โดยแบ่งกิจกรรม/โครงการตามแผนการปฏิรูปตามความจำเป็นเร่งด่วน ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 
(1) กิจกรรม/โครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที (Quick-win) คือ กิจกรรม/โครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน สามารถดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลา 2-3 เดือน โดยรวมประมาณ 30 เรื่อง เพื่อกำหนดเป้าหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จะช่วยประสานกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป 
(2) กิจกรรม/โครงการปฏิรูปที่สำคัญ (Flagship) คือ กิจกรรม/โครงการที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 คณะได้คัดเลือกไว้ด้านละประมาณ 10 กิจกรรม/โครงการ รวมประมาณ 110 กิจกรรม/โครงการ 
(3) กิจกรรมการตามแผนการปฏิรูปประเทศอื่น ๆ กิจกรรม/โครงการนอกเหนือจากข้างต้น โดยกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำความสอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมาและแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) กับแผนการปฏิรูปประเทศ และมีกำหนดส่งกลับ สศช. ภายในต้นเดือนมิถุนายน 2561 และ 
(4) กฎหมายที่ต้องจัดทำใหม่ ประมาณ 80 เรื่อง โดยคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของกฎหมายที่ไม่มีเจ้าภาพดำเนินการ 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางการจัดกลุ่มสำหรับการสร้างการรับรู้ (Theme) เพื่อจัดกลุ่มกิจกรรม/โครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที (Quick-win) และกิจกรรม/โครงการที่สำคัญ (Flagship) เป็นประเด็นที่ตอบความต้องการของประชาชน ยกระดับคุณภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน เพื่อใช้ในการสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ 
(1) ปฏิรูปราชการเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับบริการจากรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการให้ข้อมูลและความช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน โดยไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินความจำเป็น กระบวนการขออนุมัติ/อนุญาตจะได้รับการปรับปรุงเข้าสู่การจัดบริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านช่องทางดิจิทัลและศูนย์บริการร่วม เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการประชาชน
(2) สร้างอนาคตคนไทย เพื่อปากท้องและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต การมีอาชีพแหล่งทำกินที่เหมาะสม พึ่งพาตนเองได้ รวมทั้ง การเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ และอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นการต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมเดิม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสุขภาพ เป็นต้น 
(3) แก้ทุจริต สร้างความโปร่งใส เพื่อเป็นรากฐานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยการป้องกันและเฝ้าระวังการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ โครงการ Watch Dog รวมทั้ง การป้องปราม การลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ และเร่งรัดการดำเนินคดีการทุจริตมิชอบ
(4) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อสร้างสวัสดิการที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตในช่วงวัยต่าง ๆ และส่งเสริมการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีการช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษี และการถือครองทรัพย์สิน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจน ประชาชนจะได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง และ 
(5) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเริ่มต้นตั้งแต่วัยเรียนที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนประชาธิปไตย รวมถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยยอมรับในกฎ กติกา เสรีภาพส่วนบุคคลที่ต้องอยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคม และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดในสังคมโดยสันติวิธี รวมถึงการกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนและทุกระดับ  

สำหรับกลไกการทำงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะทำงานพิเศษระดับกระทรวง และหน่วยงานรับผิดชอบกิจกรรมการ/โครงการที่ได้จัดลำดับความสำคัญไว้ เพื่อขับเคลื่อน ประสาน ขจัดอุปสรรคในการดำเนินการ ให้กิจกรรม/โครงการสำเร็จ เห็นผลเป็นรูปธรรม และเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนในการแก้จน แก้โกง แก้เหลื่อมล้ำ และเพิ่มศักยภาพของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป 

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พฤษภาคม 2561


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 ต่อฝ่ายไอที แฟกซ์ : 0-2281-3938
E-mail : webmaster@nesdb.go.th