ประเทศไทยก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและทำให้มั่นใจว่าความมั่งคั่งได้รับการแบ่งสรรอย่างเท่าเทียมกันไปทั้งประเทศ ตามรายงานฉบับใหม่ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD)
รายงานการทบทวนสถานการณ์ประเทศไทยเชื่อมโยงหลายมิติระยะที่ 1 การประเมินสถานการณ์ประเทศไทยโดยรวม เน้นให้เห็นว่าการเติบโตแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจที่ทันสมัยอย่างรวดเร็วได้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้อย่างไร ความยากจนลดลงอย่างมากจากร้อยละ 60 ในปี 2533 มาอยู่ที่ร้อยละ 7 ในปัจจุบัน ขณะที่การศึกษาและการบริการสาธารณสุขได้ขยายตัวและพัฒนาขึ้นอย่างมาก ความสำเร็จเหล่านี้ได้ผลักดันจุดมุ่งหมายของไทยในการเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2579
อย่างไรก็ตาม รายงานฯ ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับกลุ่มของความท้าทายใหม่ ๆ และจำเป็นต้องหาปัจจัยใหม่สำหรับการเติบโตเพื่อบรรลุถึงความท้าทายเหล่านั้น นโยบายและการลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอีกครั้งกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การสร้างงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นและให้โอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานจำนวนมากในการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การคุ้มครองทางสังคมยังคงเปราะบางและจำเป็นต้องมีการระดมทุนที่ดี
Mr. Masamichi Kono รองเลขาธิการ OECD กล่าวในระหว่างการเปิดตัวของรายงานฯ พร้อมด้วย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าประเทศไทยอยู่ในระยะจำเป็นในการพัฒนา ซึ่งมีความท้าทาย แต่ก็มีโอกาสหลาย ๆ ด้านเปิดกว้างตามที่ประเทศไทยได้มุ่งมั่นเพื่อให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ประโยชน์กับทุกคน ประเทศไทยต้องหาหนทางเพื่อสร้างความเข้มแข็งอีกครั้งกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ลดความไม่เท่าเทียมกันในแง่มุมต่าง ๆ และบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูงในที่สุด ซึ่ง OECD พร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศไทยในการออกแบบนโยบายที่จำเป็นเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายเหล่านี้
ขณะที่ความสำเร็จของกรุงเทพมหานครในการเป็นเมืองใหญ่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่การสร้างเมืองขนาดรองลงมาล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้ เพื่อเป็นแหล่งการเติบโตแหล่งใหม่และเร่งสร้างความก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งต้องให้มีการจัดระบบการจัดการภาครัฐให้ดีขึ้น เพื่อให้การบริการของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งประเทศ และต้องให้ความสนใจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการความเสี่ยงสาธารณภัย โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับน้ำ
รายงานการทบทวนสถานการณ์ประเทศไทยเชื่อมโยงหลายมิติระยะที่ 1 การประเมินสถานการณ์ประเทศไทยโดยรวมที่เปิดตัวที่กรุงเทพมหานคร จะติดตามด้วยรายงานอีก 2 ระยะ ซึ่งจะวิเคราะห์เชิงลึกในประเด็นเชื่อมโยงหลากหลายมิติพร้อมข้อเสนอนโยบาย (In-depth policy recommendations) และการแปลงข้อเสนอนโยบายสู่การปฏิบัติ (Guidance for policy action) เพื่อแก้ข้อจำกัดหลักบางส่วนของประเทศไทย ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมของรายงานการทบทวนสถานการณ์ฯ สามารถดูได้ที่ http://www.oecd.org/development/mdcr.htm.
ข่าว : สำนักประเมินผลและเผยแพร่การพัฒนา
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|